PKA ไม่ได้ย่อมาจาก Process-Knowledge-Attitude หรือ KPA ตามทฤษฎีการเรียนรู้ด้านทักษะทางปัญญา (Cognetive Domain) ของบลูม (ฺBloom's Taxonomy) แม้หลักคิดจะมาจากทฤษฎีของบลูม PKA มาจาก Phenomenon-Knowledge-Applications เป็นบันได ๓ ขั้นตอนในการสอนวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์) แต่ละหัวเรื่อง
- การสอนฟิสิกส์ ซึ่งเป็นวิชาที่ว่าด้วยการอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ จะต้องเริ่มด้วย "ขั้นปรากฏการณ์" (เสมอ)
- โดยต้องแยกแยะหรือกำหนดอย่างชัดเจนว่า องค์ความรู้ใดที่ต้องเกิดกับผู้เรียนหลังจากการเรียนรู้
- และจะต้องสอนไปให้ถึงระดับ "การนำไปใช้" หรือ "ประยุกต์ใช้" (เสมอ) และทำให้ผู้เรียนทราบเป็นระยะๆ ว่าเขากำลังฝึกฝนทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ใด จากกิจกรรมการเรียนรู้
- ต้องจัดให้มีการสะท้อนการเรียนรู้ (Learning Refleciton) (เสมอ)
- ขั้นที่ ๑ "ขั้นปรากฏการณ์"
- ขั้นแรกต้องทำให้ผู้เรียนได้เห็นปรากฏการณ์ (ธรรมชาติ) จะดีที่สุดถ้าสามารถทำให้ผู้เรียนได้สัมผัสปรากฏการณ์นั้นๆ จริงๆ ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ได้ อาจเลือกใช้วิธีต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น การเล่าเรื่อง การสาธิต การทัศนศึกษา การให้ดูสื่อมัลติมิเดียต่างๆ เช่น คลิปวีดีโอ หนังสั้น เป็นต้น
- Expected Learning Outcome (ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง) ของขั้นนี้ได้แก่
- ด้านองค์ความรู้ จะขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่ต้องการจะให้เกิดกับผู้เรียน ดังนั้น การสอนในขั้น "ปรากฏการณ์" นี้ ถือเป็นการสอนขั้น "นำเข้าสู่บทเรียน" ในรูปแบบการสอนทั่วไป
- ด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญๆ คือ การสังเกต สงสัย และการตั้งสมมติฐาน
- ด้านเจตคติสำคัญ โดยเฉพาะการเรียนรู้ในหัวเรื่องใดๆ ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการสร้างแรงบันดาลใจในการสอนขั้นนี้
- ข้อควรคำนึงถึง ของการสอนในขั้นตอนนี้มี ๓ ประการ ได้แก่
- ปรากฏการณ์ที่เลือกหรือยกขึ้นเป็นตัวอย่าง ต้องสอดคล้องกับองค์ความรู้ที่ต้องการให้เกิดในผู้เรียน
- ควรเป็นปรากฏการณ์ใกล้ตัวผู้เรียน ให้เลือกเหตุการณ์ที่ผู้เรียนคุยเคยก่อน เพื่อให้คิดตามและจิตนาการภาพได้ง่าย โดยเฉพาะกรณีที่สอนโดยการเล่าเรื่อง ในกรณีที่เป็นเหตุการณ์ที่ผู้เรียนไม่เคยพบเห็น ควรเลือกใช้สื่อ หรือพาไปสัมผัสของจริง หรือนำมาสาธิตในชั้นเรียน
- เป้าหมายสำคัญที่สุดคือ แรงบันดาลใจ เห็นประโยชน์ เห็นความสำคัญ เกิดความรู้สึก "อยากรู้ อยากเรียน" และรู้ด้วยว่าเรียนไปทำไม ผู้เรียนพร้อมเต็มที่ทั้งกายและใจต่อการเรียนรู้ในครั้งนั้นๆ
- ขั้นที่ ๒ "ความรู้"
- เมื่อผู้เรียนเข้าใจว่า "ปรากฏการณ์" เป็นอย่างไร ได้สัมผัส สังเกต สงสัย และเกิดความอยากรู้อยากเรียนในใจแล้ว ขั้นต่อไปคือ "การสอน" (Teaching)
- "การสอน" การสอนที่ดีไม่ควรมีรูปแบบตายตัว อย่างไรก็ดี ผู้เรียนต้องเรียนรู้จากรูปแบบการเรียนรู้ที่มีอยู่ก่อน ก่อนจะไปสู่การ "ไร้รูปแบบ" และ "ริเริ่มรูปแบบใหม่" ... ผมแนะนำนิสิตถึงลำดับขั้นของการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ที่นี่
- โดยทั่วไป กระบวนการสอนเพื่อให้เกิดความรู้ที่เป็นสากลในตัวผู้เรียน จะมีขั้นตอนดังนี้
- เริ่มด้วย "ขั้นสัญลักษณ์" คือ กำหนดนิยามหรือความหมาย เพื่อการสื่อสาร ต้องบอกให้ชัดเจนว่า ผู้เรียนจำเป็นต้องจดจำสิ่งใด ข้อใด เพราะเป็นนิยามเบื้องต้นที่ทุกคนที่กล่าวถึงเรื่องนั้นๆ จะเข้าใจกันทันที
- "ขั้นความสำคัญ" และ "ขั้นสัมพันธ์" เป็นการสอนให้ฝึกคิดวิเคราะห์ โดยผู้สอนต้องใช้คำถาม-คำตอบ ให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดแยกแยะว่าปรากฏการณ์นั้นเกี่ยวข้องกับปริมาณใดบ้าง แต่ละอันสำคัญและสัมพันธ์กันอย่างไร เน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกอธิบายความเข้าใจของตนเอง ฝึกตั้งสมมติฐาน และอภิปรายความคิดความเห็นของเพื่อน ก่อนที่คุณครูจะสรุป และเริ่มเข้าสู่ "ขั้นสอน"
- "ขั้นสอน" เป็นการอธิบายถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นสาระสำคัญของเรื่องนั้นๆ ให้ผู้เรียนฟัง การสอนที่ดีในขั้นนี้ควรเน้นทั้งเนื้อหาและกระบวนการ เพื่อฝึกการคิด "สังเคราะห์" หรือ "สร้างสรรค์" ด้วย
- เนื้อหา เน้นไปที่ กฎ ทฤษฎี สำคัญๆ หรือองค์ความรู้ที่เป็นแก่นสาระเลย
- กระบวนการ คือ เล่าเรื่องให้เห็นกระบวนการศึกษาทดลองที่ทำให้ได้องค์ความรู้นั้นๆ มา เล่าให้เห็นกระบวนการคิด การทำ และความพยายามของผู้ค้นพบเรื่องนั้นๆ ... ครูที่ดีต้องรอบรู้เรื่องประวัติวิทยาศาสตร์ต่างๆ หรืออัตชีวประวัติของนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ อันจะทำให้ผู้เรียนสนุก มีความสุขจากการได้รับความรู้ใหม่ไปด้วย
- อย่าลืมที่จะให้ผู้เรียนสะท้อนการเรียนรู้ "Learning Reflection" เสมอ ก่อนจะจบขั้นนี้
- ขั้นที่ ๓ นำไปใช้
- ขั้นตอนนี้สำคัญมาก และการสอนส่วนใหญ่ เป็นไปไม่ถึงขั้นนี้
- การสอนที่ดีควรจะทำให้ผู้เรียนได้รับรู้ เรียนรู้ หรือดีที่สุดคือ ได้ทดลองนำองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ ซึ่งจะเป็นไปในลักษณะใด จะขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระ จังหวะ หรือโอกาส
- ให้ลองทำตามตามลำดับขั้น
- ให้ทำเอง โดยไม่ต้องดูต้นแบบ
- ให้ทดลองด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
- ให้ทำวิจัยค้นคว้า
- นำไปใช้ทำประโยชน์
- ให้ลองทำวิทยาทาน (ทาน) คือการไปสอนผู้อื่น
จงเรียนรู้รูปแบบเพื่อที่จะไปสู่การ "ไร้รูปแบบ" (ไร้กระบวนท่า) ไปสู่การ "ริเริ่มรูปแบบใหม่" ...เถิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น