ผมได้เรียนรู้จากการร่วมเป็นกรรมการสอบ ป.เอก (ตามที่ได้เตรียมตัวไว้เมื่อวานนี้ (อ่านที่นี่)) ในหลายประเด็น มีความเห็นว่า หากนำประเด็นคำถามที่กรรมการมักจะถาม มาตีความและจัดลำดับ น่าจะเป็นประโยชน์กับนิสิตที่กำลังเตรียมตัวเข้า "ดีเฟ็นด์" หรือที่เรียกเล่นๆ ว่า "สอบป้องกันวิทยานิพนธ์"
ผมเข้าใจว่า ในด้านการศึกษา ระเบียบวิธีจัยทั้งหมดที่นำไปใช้แก้ปัญหา/พัฒนา จนได้ผลลัพธ์เป็นที่พอใจของอาจารย์ที่ปรึกษา จะถูกนำมาเสนอในรูปแบบ "วิจัย ๕ บท" ได้แก่ ๑)บทนำ ๒)วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ๓)วีธีดำเนินการวิจัย ๔)ผลการวิเคราะห์ข้อมูล และ ๕)สรุปผล อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ แล้วยื่นขอสอบ "ป้องกัน" ว่า "ฉันทำได้"
ผมสังเคราะห์คำถามของประธานสอบและกรรมการสอบ (ครั้งนี้) ให้เหลือ ๗ คำถาม เรียงลำดับจากการมองแบบองค์รวมไปลงรายละเอียด และลำดับเวลาก่อนหลัง ดังนี้
๑) ทำไมไม่เขียนผลวิจัยในบทที่ ๔) ให้ตอบโจทย์วิจัยในบทที่ ๑) ?
๒) วิธีดำเนินการวิจัยในบทที่ ๓) นำเอาข้อมูลที่ได้ทบทวน ค้นหา เรียนรู้ ที่อยู่ในบทที่ ๒) มาใช้อย่างไร (ต้องบอกให้เห็นวิธีคิดและกระบวนการสังเคราะห์ของตน)
๓) เครื่องมือที่ใช้ ใช่เหรอ? .... (รู้ได้อย่างไรว่า น่าเชื่อถือ ถูกต้อง)
๔) จากการเรียน ป.เอก หลายปี บทที่ ๑) ถึง บทที่ ๔) มี "พัฒนาการสร้างสรรค์อะไร" (ข้อค้นพบคืออะไร)
๕) อภิปรายผล เชื่อมโยง เหตุ-ผล-ข้อค้นพบ อย่างไร ทำไมเป็นอย่างนั้น
๖) จะมีใครเอางานนี้ไปใช้ไหม ทำไมเขาต้องเอางานนี้ไปใช้ อะไรที่เป็นเอกลักษณ์หรือจุดเด่น ที่ใครเห็นแล้วจะนำไปเป็นแบบอย่าง
๗) ทำไมประสบการณ์หลายปีในการแก้ปัญหา/พัฒนา จึงนำมาสู่ข้อเสนอแนะเหล่านี้
ผมมีความเห็นว่า นิสิตที่จะจบ ป.เอก นั้นจะต้อง "ไม่เชื่อง่าย" "ไม่ตกอยู่ในกระแส" ต้องมีอุดมการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลง พึ่งตนเอง มีหลักการ มั่นใจในความคิดของตนเอง หากรู้ว่าสิ่งนั้นๆ แท้ที่จริงแล้วเป็นต้นตอของปัญหา จะต้องไม่ "หลับตา" เดินตามไป เพียงเพื่อให้เรียนจบ ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น