วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562

นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๘: โรงเรียนกมลาไสย ปีการศึกษา ๒๕๖๒ คนที่ ๓

นิสิตคนที่ ๓ ออกแบบการสอนเรื่อง "แรงและการเคลื่อนที่" เธอเตรียมการสอนอย่างดี มีสื่อและรูปภาพรูปแบบการเคลื่อนที่ต่าง ๆ จำนวนมากที่ถูกเตรียมไว้ สำหรับตั้งคำถามตามใบกิจกรรมว่า การเคลื่อนที่ในรูปแบบการเคลื่อนที่ชนิดใด ...

ความรู้พื้นฐานและทักษะที่จำเป็นก่อนจะสอนเรื่องการเคลื่อนที่ คือ ปริมาณทางฟิสิกส์ (โดยเฉพาะเวกเตอร์) ความรู้คณิตศาสตร์เกี่ยวกับระบบพิกัดฉาก และกรอบอ้างอิง ถ้าไม่ได้สอนให้เข้าใจความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้  การสอนจะกลายเป็นการบอกความรู้ทันที




ข้อแนะนำสำหรับนิสิตในการสอนเรื่องการเคลื่อนที่ มีดังนี้


  • โปรดระลึกในใจเสมอว่า บทบาทของครูวิทยาศาสตร์ คือ ปลูกฝัง "จิตวิทยาศาสตร์" และ ฝึกฝนทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน   ถ้าเราทำสำเร็จจริง เมื่อนักเรียนพบกับสถานการณ์ปัญหา พวกเขาจะใช้วิธีการและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ศึกษาและแก้ปัญหานั้นทันที 
  • ให้เน้นสอนจากความรู้เดิมของนักเรียน และถ้าเป็นไปได้ให้สอนแบบอุปนัย (เคยเสนอภาพไว้ที่นี่ครับ) เช่น ตั้งคำถามว่า 
    • รู้จักการเคลื่อนที่อะไรบ้างในชีวิตประจำวันของเรา ... ระดมสมองของนักเรียนทั้งชั้น  คำตอบที่ได้ ไม่มีผิดถูก เช่น การเคลื่อนที่ของรถยนต์ รถไฟ ตัวหนอน เครื่องบิน คนเดิน ฯลฯ 
    • ตั้งคำถามว่า ถ้าให้แบ่งการเคลื่อนที่ออกเป็นหมวด ๆ  หรือประเภท แล้วให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม ระดมสมองกัน  แล้วนำเสนอสั้น ๆ บอกว่า ใช้เกณฑ์อะไร  
    • ครูบรรยายสรุปตอนท้าย ประกอบการอธิบายด้วยภาพหรือถ้าจะดีคือคลิปวีดีโอหรือสาธิต ....  
    • ครูพานักเรียนสะท้อนการเรียนรู้ ด้วยการตั้งคำถาม  ...  วันนี้ได้ความรู้ใหม่อะไรบ้าง สิ่งที่รู้มีประโยชน์หรือไม่อย่างไร ฯลฯ 
  • ความยากของการสอนลักษณะนี้ ดีที่ทุกคนมีส่วนร่วม เรียกได้ว่าเป็นแบบ Active Learning  แต่ยากที่ครูจะต้องเรียนรู้ให้ลึกถึงความคิดรวบยอด ค้นหาและจัดเตรียมสื่อที่สามารถสื่อของจริงได้มากที่สุด
  • เราเป็นครูวิทยาศาสตร์ในยุคที่วิทยาศาสตร์เจริญมากแล้ว  จงสอนวิทยาศาสตร์อย่างทันสมัย .... ไม่ใช่สอนเหมือน ๕๐ ปีที่แล้ว .... ยกเว้นเรื่องทักษะกระบวนการฯ 
  • จงสอนไปให้ถึง "การนำไปใช้"  ให้ไปศึกษา PKA Model  ที่อาจารย์เคยเขียนไว้ที่นี่
  • จงให้เวลาและความสำคัญกับการสะท้อนการเรียนรู้เสมอ 
สู้ ๆ ครับ เดือนหน้า


นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๘: โรงเรียนกมลาไสย ปีการศึกษา ๒๕๖๒ คนที่ ๒

นิสิตคนที่ ๒ ของการนิเทศวันนี้ ออกแบบการสอนเรื่อง "ระบบหมุนเวียนเลือด"  ผมพบว่าหนังสือที่ สสวท. ทำไว้นั้นดีมาก ๆ  แล้ว ทั้งด้านการอธิบายสาระสำคัญ กิจกรรม และแบบนำฝึก และนักเรียนก็มีหนังสือแบบนี้เพียงพอต่อการเรียนทุกคนได้อย่างสบาย จึงเป็นการง่ายสำหรับครูมากขึ้นสำหรับการออกแบบให้ง่าย โดยใช้สื่อที่มีอยู่แล้วเหล่านั้น

นิสิตออกแบบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) ที่น่าจะเรียกว่า แบบ Jigsaw (จิ๊กซอว์)  ๓ กลุ่ม โดยเตรียมเนื้อหาและเอกสารขึ้น ๓ ชุด ๆ ละ ๑ หัวเรื่อง แบ่งนักเรียนเป็น ๓ กลุ่มด้วยการนับ ให้แต่ละคนศึกษาตามเอกสารที่กำหนดให้ แล้วกลับไปอธิบายให้เพื่อนฟังในกลุ่ม โดยใช้เทคนิคให้ช่วยกันทำแผนผังความคิด (Mind Mapping) ลงในกระดาษปลู๊ฟ ก่อนจะจบด้วยการนำเสนอ


  • ชอบมากที่สุดคือ  "พลัง" พลังในการสอนที่พุ่งออกมาจากภายใน (เหมือนผมจะเขียนเวอร์ไป แต่ผมสัมผัสได้) ผ่านออกมาทางท่วงทำนองพูด น้ำเสียงที่ดังฟังชัด ท่าทางประกอบการพูด ยกไม้ยกมือเป็นจังหวะกับเสียงสูงต่ำ ดัง ค่อย .... เป็นพลังที่สามารถดึงึความสนใจให้นักเรียนตั้งใจฟัง และมีส่วนร่วมกับเธอจนจบชั้นเรียนทีเดียว  



  •  "ทำไมต้องใช้กระดาษปลู๊ฟ"  ทำไมไม่ใช้กระดาษ A4 นิสิตต้องตอบคำถามนี้ให้ได้  กระดาษปลู๊ฟมีขนาดใหญ่ จึงมีกลไกในตัวในการสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมสมองของคนในกลุ่มได้หลายคน
  • อย่างไรก็ดี พื้นที่กระดาษแม้จะมีขนาดใหญ่ แต่ขนาดรูปหรือตัวอักษรต้องใหญ่ไปด้วย ทำให้สัดส่วนพื้นที่ไม่ต่างจาก A4 มากนัก ดังนั้น หน้าที่อีกอย่างของมันคือ การนำเสนอให้คนอื่นรู้ได้ชัด แต่ก็ต้องคัดเอาเฉพาะคำสำคัญมาแสดง  และต้องการผู้อธิบาย... กระดาษปลู๊ฟ จึงเอื้อต่อการอภิปรายด้วย 
  • ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการการแลกเปลี่ยนหรือระดมสมอง และไม่ต้องการให้อภิปรายกัน กระดาษปลู๊ฟจะไม่ได้ทำหน้าที่ของมันเท่าที่ควร


  • การออกแบบการสอนที่มีกิจกรรมเคลื่อนไหว ย่อมสร้างความสนุกได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่ฝากไว้คิดและพิจารณาคือ ...
    • จงรักษาสมดุลระหว่างความสุขจากการเรียนรู้และความสุขจากความสนุกสนาน 
    • จงรักษาสมดุลระหว่างความท้าทาย แข่งขัน กับการแบ่งปัน ช่วยเหลือ ทำงานกันเป็นทีม 
  • ความจริง องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พัฒนามามากแล้ว หากเป๋น เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว ครูวิทยาศาสตร์จะต้องพยายามมากกว่านี้ หาสื่อ ออกแบบกิจกรรม นำวิธีต่าง ๆ มาอธิบาย ...  แต่สมัยนี้ ครูวิทยาศาสตร์ที่รู้สึกว่าตนเองต้องเตรียมมาก สอนยาก รู้สึกว่าลำบากมาก  ผมมีความเห็นว่า ครูวิทยาศาสตร์เหล่านั้นสอนผิดวิธี ไม่ได้เอาสิ่งที่พัฒนามาแล้วอย่างดีมาใช้  ผลผลิตทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์คน ก็คือเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีไอซีที ที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นไปแล้ว  ... เช่น ถ้าจะสอนเรื่องระบบหมุนเวียนเลือด ก็แค่ใช้คลิปวีดีโอต่าง ๆ  ที่มีให้เลือกเต็มยูทูป  

  • สิ่งที่ครูวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องทำได้ก็คือ สืบค้น เลือกสื่อที่เหมาะสม นำมาจัดการ ให้อยู่ในรูปที่เหมาะต่อนักเรียนไทยในแต่ละชั้นที่เราสอนที่สุด  เช่น ดาวน์โหลด ตัดต่อ ใส่เสียงบรรยาย ฯลฯ หรือแม้แต่ใช้ในการใช้ประกอบการอธิบายก็ได้  .... (ปัญหาคือภาษาอังกฤษ แต่จำเป็น เป็นเรื่องสำคัญที่ครูวิทย์จะต้องใช้ภาษาอังกฤษได้)
พยายามจะเขียนข้อสะท้อนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ให้นิสิตจำได้ว่าเราเคยคุยอะไรกัน จะได้มาดูกันในการนิเทศครั้งที่ ๒  


  • ครูวิทยาศาสตร์ คือ ครูผู้มุ่งปลูกฝังจิตวิทยาศาสตร์และฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน 
  • การออกแบบกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน ต้องแม่นยำไปเชื่อมโยงไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังได้  ...  ไม่ใช่หวังเพียงความ "สนใจ" แต่ต้องทำให้นักเรียนเกิดความ "สงสัย" ใคร่อยากรู้คำตอบด้วย 
  • รักษาสมดุลระหว่างความสุขจากการเรียนรู้และความสุขจากความสนุกสนาน  
  • ให้ความสำคัญและเวลากับการสะท้อนการเรียนรู้ของนักเรียน (Learning Reflection)
  • สอนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ควรจะง่าย ทันสมัย และไปถึงขั้นนำไปใช้  ... ส่วนการสอนให้เกิดทักษะ ต้องเป็นภาระของครูที่ต้องฝึกฝนตนเองมาก ๆ 
เชียร์ครับ สู้ต่อไป เพื่อประเทศไทยของเรา 


วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562

นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๘: โรงเรียนกมลาไสย ปีการศึกษา ๒๕๖๒ คนที่ ๑

วันนี้ (๒๕ มิ.ย. ๖๒) ไปทำหน้าที่อาจารย์นิเทศก์ ลูกศิษย์ที่จะเป็นครูวิทยาศาสตร์ต่อไป ๓ คน ที่กำลังฝึกสอนอยู่ที่โรงเรียนกมลาไสย ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒ ... รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำหน้าที่บทบาทอาจารย์เช่นนี้... เขี่ยนบันทึกนี้เพื่อเก็บความทรงจำอันดีนั้น และแบ่งปันประสบการณ์ของคนเป็นอาจารย์นิเทศก์  แต่ที่สำคัญที่สุดคือเพื่อชี้บอกทิศทางสะท้อนการพัฒนาตนเองให้ลูกศิษย์เป็นครูวิทยาศาสตร์ที่ดีต่อไป

คนที่ ๑ ความหนาแน่น


นิสิตเตรียมการสอนตามหลักสูตรแกนกลางฯ  หน่วยการเรียนรู้ "ความหนาแน่น"  ความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับนักเรียน ได้แก่
  • มวล หน่วยของมวล และการวัดหามวล 
  • สามารถอ่านค่ามวลจากตาช่างเป็น 
  • ปริมาตร หน่วยของปริมาตร และการวัดหาปริมาตรได้ 
  • สามารถคำนวณหาปริมาตร
เหล่านี้อาจจะรู้และสามารถทำได้มาก่อนจะเรียนก็ได้ หรือ จะกำหนดเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังในหน่วยนี้ก็ได้  ... แต่ต้องมั่นใจว่า เด็ก ทำทั้ง ๔ ข้อนี้ได้ และ สุดท้าย ต้อง

  • อธิบายได้ว่า ความหนาแน่นคืออะไร 
  • สามารถคำนวณหาความหนาแน่นได้ 
  • ยกตัวอย่างการนำองค์ความรู้เรื่องความหนาแน่นไปใช้อธิบายสิ่งที่เกี่ยวข้องได้ เช่น สามารถอภิปรายได้ว่า ความหนาแน่นมีผลต่อการจมหรือลอยอย่างไร ฯลฯ 



  • การศึกษาไทยมีลักษณะเฉพาะของเราเองหลายอย่าง ที่ไม่ใช่ใครจะลุกขึ้นมาปฏิรูปจัดให้เป็นอย่างนี้อย่างนั้นได้ตามใจ  
  • ชั้นเรียนขนาดใหญ่ในห้องเลคเชอร์แบบที่เห็นก็เป็นรูปแบบการเรียนรู้ของทั้งครูและนักเรียนมานานปี 
  • ดังนั้นครูวิทยาศาสตร์ไทย จะต้องใช้พลังและสติปัญญามากกว่า เพื่อให้การศึกษาได้ผลเท่ากับชั้นเรียนสากล  


  • รู้สึกภูมิใจ นิสิตเตรียมตัวอย่างดี ตั้งใจ มุ่งมั่น และทำได้ดีมากสำหรับการสอนต่อหน้าอาจารย์นิเทศก์ครั้งแรก 
  • สิ่งสำคัญที่สุด สำหรับนักเรียนคือ "เรียนอย่างมีความสุข สนุกที่ได้เรียน" สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับครูก็ไม่ต่างกัน "สอนอย่างมีความสุข สนุกที่ได้สอน"  (คำว่า "สอน" ภูมิปัญญาไทย ไม่ใช่เพียง "Teaching")


  • กิจกรรมที่ นิสิตคนที่หนึ่งออกแบบ มีทั้งแบบ อธิบายบอก สาธิต และทำการทดลอง ... การเรียนวิทยาศาสตร์ที่ได้ทดลอง ย่อมสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง 
  • ชอบมาก ๆ คือวิธีการ การเอาแตงกวาตัดส่วน กับก้อนหิน มาเป็นวัตถุตัวแปรต้น ให้นักเรียนชั่งมวล แล้วใช้ถ้วยยูเรก้า แทนที่น้ำหาปริมาตร  (ตามหลักการแทนที่น้ำ หลักอาคีมีดิส)


  • การทดลองนี้ไม่มีอัตรายใด ๆ  สามารถทำได้ง่าย ๆ  นั่งกันเป็นกลุ่มหันหน้าหากัน สามารถแลกเปลี่ยนระดมสมองกันได้เลย ....  พื้นห้องสะอาดมาก 



เป็นนักเรียนชั้นเรียนพิเศษ Giffted (มีพรสวรรค์) จำนวนประมาณ ๕๐ คน ห้องเรียนมีแอร์คอนดิชั่น เย็นสบายน่าเรียน พื้นห้องทำความสะอาดอย่างดี นักเรียนทุกคนจะต้องถอดรองเท้า หิ้วไปไว้หน้าห้อง ต่อไปนี้เป็น ข้อคอมเมนต์ สำหรับนิสิตคนที่ ๑

  • ความมุ่งหมายของครูวิทยาศาสตร์ คือ ปลูกฝัง "จิตวิทยาศาสตร์" และ ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  ดังนั้น ทุกกิจกรรมการเรียนรู้ควรจะออกแบบและคำนึงถึงเรื่องนี้ ให้นักเรียนได้ฝึกอย่างต่อเนื่อง บ่อย ซ้ำ ย้ำ ทวน (ไม่ใช่บอก)
  • หากเป็นไปได้ให้เชื่อมโยงมาสู่สิ่งใกล้ตัวนักเรียน นักเรียนระลึกได้ รู้จักในชีวิตจริง ๆ ให้ได้ เช่น  เมื่อกำลังคุยถึงหน่วยของปริมาตร ลูกบาศก์เซนติเมตร ควรจะยกตัวอย่าง น้ำดื่มที่ซื้อกันอยู่ มีปริมาตรกี่ลูกบาศก์เซนติเมตร เป็นต้น 
  • ในกรณีของเด็กที่ยังไม่มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากนัก เช่น เด็ก ม.๑ ฯลฯ  ควรทำใบกิจกรรม หรือใบงาน ให้ชัดเจนเป็นข้อ ๆ ว่าดำเนินการทดลองอย่างไร  เหมือนสิ่งที่เขียนไว้ในคู่มือปฏิบัติการ  เพื่อฝึกทักษะเฉพาะที่ละอย่าง ๆ ไป 
  • ให้ความสำคัญกับการสะท้อนการเรียนรู้เสมอ 
  • สรุปให้แม่นยำ สู่ ความคิดรวบยอด สะท้อนผลการประเมินของตน เพื่อ Feedback ไปยังเด็ก 
อย่างไรก็ดี วันนี้ค่อนข้างพอใจยิ่งแล้ว  .... สู้ต่อไปครับ 




วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2562

นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๗: โรงเรียนยางตลาดวิทยาคาร ปีการศึกษา ๒๕๖๒ คนที่ ๒

คนที่ ๒ ของวันนี้ (๑๙ มิ.ย. ๒๕๖๒) จัดการเรียนรู้เรื่อง สารบริสุทธิ์และสารผสม ELO (Expected Learning Outcome) คือ อยากจะให้เด็กนักเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างการเดือดของสารบริสุทธิ์และสารไม่บริสุทธิ์ และสามารถทดลองหาจุดเดือดของสารทั้งสองได้  โดยใช้น้ำกลั่น (สารบริสุทธิ์) และน้ำกลั่นผสมเกลือแกง (NaCl) เป็นตัวอย่างของสารละลาย (สารไม่บริสุทธิ์)  ซึ่งถ้านักเรียนเข้าใจ จะสามารถอธิบายกราฟความสัมพันธ์ของอุณหภูมิของสารในการต้มด้านล่างนี้ได้ 

อ้างอิง จากเว็บไซต์ http://nakhamwit.ac.th/pingpong_web/Matter.htm

หากเป็นไปได้ การจัดการเรียนรู้เพื่อฝึกการเป็นครูวิทยาศาสตร์ เด็ก ๆ ควรจะได้ทดลองแบบการจัดการเรียนการสอนนี้  โดยธรรมชาติบรรยากาศจะคึกคักสนุกดี 





ได้สะท้อนป้อนกลับ (Feedback) เพื่อการพัฒนาสำหรับลูกศิษย์ชื่อแปลก ๖ ข้อ ได้แก่ 
  • ครูวิทยาศาสตร์ คือ ครูผู้มุ่งปลูกฝังจิตวิทยาศาสตร์ และฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้ศิษย์ ...จงออกแบบการสอนให้ครบกระบวนการเสมอ คำอธิบายจะคล้ายกับคอมเมนต์สำหรับนิสิตคนที่ ๑ (ที่นี่)
  • การออกแบบการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนที่ยังไม่มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากนัก อาจต้องทำเป็นคู่มือหรือใบงาน แสดงขั้นตอนการปฏิบัติที่ละขั้น หรือไม่งั้นก็ต้องพาทำทีละสเต็ป  (ความปลอดภัยสำคัญที่สุด)
  • วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งสากล ไม่เหมือนศึกษาศาสตร์ที่ว่าเรื่องคนซึ่งต่างไปในแต่ละวัฒนธรรมหรือสังคม  การฝึกทักษะทางวิทยาศาสตร์จึงควรมีมาตรฐานสากล เริ่มจากอุปกรณ์และขั้นตอนพื้นฐานจำเป็น ๆ ที่เด็กควรรู้และทำเป็น  
  • "จัดกำลังคน"  ถ้าเป็นงานกลุ่ม นักเรียนควรจะได้นั่งเป็นกลุ่ม และแบ่งหน้าที่กันชัด การจัดการอาจง่ายขึ้น 
  • การออกแบบการทดลองและกิจกรรมนำเรียนรู้ ต้องนำไปสู่ ELO  ให้ได้ 
สิ่งสำคัญของทุกกิจกรรมการสอนคือ ต้องให้เวลา แบ่งเวลา ให้นักเรียนได้ ร่วมกันสรุปผลการทดลอง และสะท้อนการเรียนรู้  (Learning Reflection) ก่อนจะสรุปสารสำคัญแม่น ๆ 

ก่อนจะจบและจากกันวันนี้ เรามีข้อตกลงร่วมกัน เช่นเดียวกับที่บอกไปกับนิสิตคนที่ ๑  (ที่นี่
ลาทีสำหรับวันนี้ สวัสดีครับ 

นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๖: โรงเรียนยางตลาดวิทยาคาร ปีการศึกษา ๒๕๖๒ คนที่ ๑

วันที่ ๑๙ มิ.ย. ๖๒ ปีการศึกษา ๑/๒๕๖๒ มาทำหน้าที่อาจารย์นิเทศก์ เวียนมาถึงนิสิตรุ่นที่ ๒ ของบทบาทการเป็นอาจารย์กรรมการบริหารหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ...  ถ้านิสิตรุ่นปัจจุบัน กลับไปดูข้อคอมเมนต์ที่รุ่นพี่ได้รับในปีที่แล้ว (เช่น คลิกที่นี่ หรือคลิกที่นี่) จะได้ข้อความเห็นคอมเมนต์คล้าย ๆ กัน ... นี่สิที่เขาเปรียบครูเหมือนเรือจ้าง หลายอย่างจะคล้าย ๆ กัน ต่างกันตรงที่ปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับศิษย์

นิสิตคนแรก กำลังจะสอนเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ วัตถุประสงค์การเรียนรู้คือรู้จักความเร็ว และสามารถคำนวณหาความเร็วของวัตถุที่ตกอย่างอิสระได้ โดยใช้เครื่องเคาะสัญญาณและกระดาษคาร์บอน  นิสิตออกแบบการสอนแบบสาธิต ๑ รอบ แล้วให้ตัวแทนนักเรียนแต่ละกลุ่มออกมาทดลอง  แล้วให้นำใบกระดาษคาร์บอน ไปใช้ในการทำใบงาน




หลังจากเลิกคลาส อาจารย์นิเทศก์กับลูกศิษย์นั่งคุยแลกเปลี่ยนกันนานเกือบชั่วโมง สรุปตอนท้ายได้ทั้งข้อคอมเมนท์ ความเห็น และข้อตกลงระหว่างเรา สำหรับก้าวเดินต่อไปในการพัฒนา "ความเป็นครูวิทยาศาสตร์"

ความเห็น (อันเป็นจุดเด่นของนิสิตคนที่ ๑)

เราเริ่มคุยด้วยการตั้งคำถามว่า หากให้คะแนนตัวเองเต็ม ๕ การจัดการเรียนรู้วันนี้ เรามีกี่คะแนน นิสิตคิดว่าตนเองน่าจะได้ ๓ คะแนน ๒ คะแนนที่หายไปคือ การสื่อสารที่ยั่งไม่พอใจในความแม่นยำ การควบคุมชั้นเรียน (ผมไม่ชอบคำนี้ ควบคุมชั้นเรียน ขอเปลี่ยนเป็นการสร้างองค์ประกอบในการเรียนจะดีกว่า) และ การดำเนินการตามลำดับขั้นตอนที่กำหนด

สำหรับผม นิสิต "เหมือนครู" มากแล้ว ทั้งบุคลิก ท่าทาง การพูดจา จังหวะในการพูด การปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน ปัญหามีเพียงว่า นิสิตไปเหมือนครูรุ่นใหญ่ ที่มักใช้การควบคุมด้วยอำนาจ ไม่เหมาะกับครูรุ่นเยาว์แบบครูฝึกสอน  จึงแนะนำให้เรียนรู้เกี่ยวกับ ความดี ๖ ระดับ ของลอเรนซ์ โคนเบิร์ค ดังภาพ


ครูเพื่อศิษย์ จะคิดทำเพื่อนำเด็กไปให้ถึงความดีระดับ ๖

ข้อคอมเมนต์ (เพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นครูวิทยาศาสตร์)

ต่อไปนี้คือข้อความเห็น ๖ ประการ ที่เราสรุปร่วมกันหลังจากคุยแลกเปลี่ยนกันหลังคลาส  แต่ละข้อนิสิตจะรู้ความหมายนั้น ๆ ดี โดยไม่ต้องอธิบายอันใดอีก



  • ครูวิทยาศาสตร์ คือ ครูผู้ปลูกฝังจิตวิทยาศาสตร์ และฝึกฝนทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้กับศิษย์  (ให้อ่านที่บันทึกนี้)
    • ข้อนี้บอกว่า ต่อไป หากจะสอนอะไร บทเรียนใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ การฝึกให้นักเรียนคิดและทำตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  มีการตั้งปัญหา ตั้งสมมติฐาน พิสูจน์หรือทดลอง และอภิปรายสรุปผล 
    • และบอกว่า ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทุกครั้ง สิ่งที่ต้องพิจาณาคือ นักเรียนจะได้ฝึกทักษะบวนการทางวิทยาศาสตร์อันไหน 
    • ส่วนเรื่องวัดและประเมินอย่างไร ต้องใช้กระบวนการวิจัยในชั้นเรียน  (Action Research) ประกอบ 
  • ใส่ใจในรายละเอียดการสร้างสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่เอื้อต่อกิจกรรมการเรียนรู้ที่ออกแบบ  การออกแบบกิจกรรมต้องพิจารณารอบด้านรวมถึงกายภาพด้วย เช่น หากจะจัดการเรียนการสอนเป็นกลุ่ม ต้องจัดให้นักเรียนนั่งเป็นกลุ่มจริง ๆ หันหน้าเข้าหากัน 
  • สร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ อันสามารถนำไปสู่กติกา หรือวัฒนธรรมการเรียนรู้ของครูและของชั้นเรียน 
  • ใช้กระบวนการกลุ่ม ฝึกฝนการทำงานเป็นทีมไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดการเรียนรู้เป็นกลุ่ม 
  • การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ต้องไปให้ถึง Expected Learning Outcome  คือผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง 
  • ใช้จิตวิทยาเชิงบวก "ไม่ใช่ห้องเรียนแห่งการควบคุม"  ไปให้ถึงความดีระดับ ๖ 


ข้อตกลงร่วมกัน

ข้อตกลง (แกมบังคับ) ให้นิสิตที่อยู่ในสายนิเทศในปีการศึกษานี้ มี ๒ ประการ ได้แก่

  • เราจะทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ หรือ Action Research กันทุกคน ... ไม่ใช่ทำเชิง R&D หรือ Research and Development 
  • เราจะทำวิจัยเกี่ยวกับ การปลูกฝังจิตวิทยาศาสตร์และพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน....... 
  • ให้นิสิตเขียนบันทึกสะท้อนการเรียนรู้ในการฝึกประสบการณ์สอนของตนเอง สัปดาห์ละ ๑ บันทึก ในเว็บไซต์ Gotoknow.org 
เขียนกำหนดไว้ชัดเจนยิ่งครับ ... เหลือแต่เพียงลงมือทำ ... ลุย