วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562

นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๘: โรงเรียนกมลาไสย ปีการศึกษา ๒๕๖๒ คนที่ ๑

วันนี้ (๒๕ มิ.ย. ๖๒) ไปทำหน้าที่อาจารย์นิเทศก์ ลูกศิษย์ที่จะเป็นครูวิทยาศาสตร์ต่อไป ๓ คน ที่กำลังฝึกสอนอยู่ที่โรงเรียนกมลาไสย ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒ ... รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำหน้าที่บทบาทอาจารย์เช่นนี้... เขี่ยนบันทึกนี้เพื่อเก็บความทรงจำอันดีนั้น และแบ่งปันประสบการณ์ของคนเป็นอาจารย์นิเทศก์  แต่ที่สำคัญที่สุดคือเพื่อชี้บอกทิศทางสะท้อนการพัฒนาตนเองให้ลูกศิษย์เป็นครูวิทยาศาสตร์ที่ดีต่อไป

คนที่ ๑ ความหนาแน่น


นิสิตเตรียมการสอนตามหลักสูตรแกนกลางฯ  หน่วยการเรียนรู้ "ความหนาแน่น"  ความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับนักเรียน ได้แก่
  • มวล หน่วยของมวล และการวัดหามวล 
  • สามารถอ่านค่ามวลจากตาช่างเป็น 
  • ปริมาตร หน่วยของปริมาตร และการวัดหาปริมาตรได้ 
  • สามารถคำนวณหาปริมาตร
เหล่านี้อาจจะรู้และสามารถทำได้มาก่อนจะเรียนก็ได้ หรือ จะกำหนดเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังในหน่วยนี้ก็ได้  ... แต่ต้องมั่นใจว่า เด็ก ทำทั้ง ๔ ข้อนี้ได้ และ สุดท้าย ต้อง

  • อธิบายได้ว่า ความหนาแน่นคืออะไร 
  • สามารถคำนวณหาความหนาแน่นได้ 
  • ยกตัวอย่างการนำองค์ความรู้เรื่องความหนาแน่นไปใช้อธิบายสิ่งที่เกี่ยวข้องได้ เช่น สามารถอภิปรายได้ว่า ความหนาแน่นมีผลต่อการจมหรือลอยอย่างไร ฯลฯ 



  • การศึกษาไทยมีลักษณะเฉพาะของเราเองหลายอย่าง ที่ไม่ใช่ใครจะลุกขึ้นมาปฏิรูปจัดให้เป็นอย่างนี้อย่างนั้นได้ตามใจ  
  • ชั้นเรียนขนาดใหญ่ในห้องเลคเชอร์แบบที่เห็นก็เป็นรูปแบบการเรียนรู้ของทั้งครูและนักเรียนมานานปี 
  • ดังนั้นครูวิทยาศาสตร์ไทย จะต้องใช้พลังและสติปัญญามากกว่า เพื่อให้การศึกษาได้ผลเท่ากับชั้นเรียนสากล  


  • รู้สึกภูมิใจ นิสิตเตรียมตัวอย่างดี ตั้งใจ มุ่งมั่น และทำได้ดีมากสำหรับการสอนต่อหน้าอาจารย์นิเทศก์ครั้งแรก 
  • สิ่งสำคัญที่สุด สำหรับนักเรียนคือ "เรียนอย่างมีความสุข สนุกที่ได้เรียน" สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับครูก็ไม่ต่างกัน "สอนอย่างมีความสุข สนุกที่ได้สอน"  (คำว่า "สอน" ภูมิปัญญาไทย ไม่ใช่เพียง "Teaching")


  • กิจกรรมที่ นิสิตคนที่หนึ่งออกแบบ มีทั้งแบบ อธิบายบอก สาธิต และทำการทดลอง ... การเรียนวิทยาศาสตร์ที่ได้ทดลอง ย่อมสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง 
  • ชอบมาก ๆ คือวิธีการ การเอาแตงกวาตัดส่วน กับก้อนหิน มาเป็นวัตถุตัวแปรต้น ให้นักเรียนชั่งมวล แล้วใช้ถ้วยยูเรก้า แทนที่น้ำหาปริมาตร  (ตามหลักการแทนที่น้ำ หลักอาคีมีดิส)


  • การทดลองนี้ไม่มีอัตรายใด ๆ  สามารถทำได้ง่าย ๆ  นั่งกันเป็นกลุ่มหันหน้าหากัน สามารถแลกเปลี่ยนระดมสมองกันได้เลย ....  พื้นห้องสะอาดมาก 



เป็นนักเรียนชั้นเรียนพิเศษ Giffted (มีพรสวรรค์) จำนวนประมาณ ๕๐ คน ห้องเรียนมีแอร์คอนดิชั่น เย็นสบายน่าเรียน พื้นห้องทำความสะอาดอย่างดี นักเรียนทุกคนจะต้องถอดรองเท้า หิ้วไปไว้หน้าห้อง ต่อไปนี้เป็น ข้อคอมเมนต์ สำหรับนิสิตคนที่ ๑

  • ความมุ่งหมายของครูวิทยาศาสตร์ คือ ปลูกฝัง "จิตวิทยาศาสตร์" และ ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  ดังนั้น ทุกกิจกรรมการเรียนรู้ควรจะออกแบบและคำนึงถึงเรื่องนี้ ให้นักเรียนได้ฝึกอย่างต่อเนื่อง บ่อย ซ้ำ ย้ำ ทวน (ไม่ใช่บอก)
  • หากเป็นไปได้ให้เชื่อมโยงมาสู่สิ่งใกล้ตัวนักเรียน นักเรียนระลึกได้ รู้จักในชีวิตจริง ๆ ให้ได้ เช่น  เมื่อกำลังคุยถึงหน่วยของปริมาตร ลูกบาศก์เซนติเมตร ควรจะยกตัวอย่าง น้ำดื่มที่ซื้อกันอยู่ มีปริมาตรกี่ลูกบาศก์เซนติเมตร เป็นต้น 
  • ในกรณีของเด็กที่ยังไม่มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากนัก เช่น เด็ก ม.๑ ฯลฯ  ควรทำใบกิจกรรม หรือใบงาน ให้ชัดเจนเป็นข้อ ๆ ว่าดำเนินการทดลองอย่างไร  เหมือนสิ่งที่เขียนไว้ในคู่มือปฏิบัติการ  เพื่อฝึกทักษะเฉพาะที่ละอย่าง ๆ ไป 
  • ให้ความสำคัญกับการสะท้อนการเรียนรู้เสมอ 
  • สรุปให้แม่นยำ สู่ ความคิดรวบยอด สะท้อนผลการประเมินของตน เพื่อ Feedback ไปยังเด็ก 
อย่างไรก็ดี วันนี้ค่อนข้างพอใจยิ่งแล้ว  .... สู้ต่อไปครับ 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น