วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2562

นิเทศนิสิตฝึกสอน_๑๐: โรงเรียนยางตลาด ปีการศึกษา ๒๕๖๒ ครั้งที่ ๒

วันพฤหัสบดี ที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ ไปทำหน้าที่ในบทบาทอาจารย์นิเทศก์ นิเทศการสอนของนิสิตฝึกงาน ณ โรงเรียนยางตลาดวิทยาคาร อ.ยางตลาด ครั้งนี้ไปเป็นครั้งที่ ๒ ของปีการศึกษา  คุณครูที่โรงเรียนบอกผมว่า ขอบคุณมากนะที่ส่งนิสิตมือหนึ่งมาให้ นิสิตทั้งสองคนที่มาฝึกสอนที่นี่ปีนี้ สร้างชื่อเสียงให้หลักสูตรและมหาวิทยาลัยอย่างดี ... แบบนี้รุ่นน้องก็จะได้รับโอกาสดีนี้ต่อไปครับ

ผมไปถึงก่อนเวลาพอสมควร นั่งฟังท่าน ผอ.และคุณครูทำกิจกรรมหน้าเสาธง ทราบว่า ช่วงนี้ทางโรงเรียนกำลังเตรียมตัวเพื่อรับการประเมิน สมศ. รอบที่ ๔ ที่พักไปนาน ... ในใจผมนึกว่า ถึงจะปรับทิศทางหรือสื่อสารอย่างไร การตั้งท่ามาประเมินแบบนั้น ยังไงก็กระทบครูในชั้นเรียนอยู่ดี ซึ่งก็คือกระทบนักเรียนนั่นเอง .... ทำไมเขาไม่เลิกไปเสีย แล้วปล่อยให้ "คนสนใจการศึกษา" ในพื้นที่มาหาทางกันเอง

นิสิตคนที่ ๑

นิสิตคนที่ ๑ สอนเรื่องโครงสร้างอะตอม  ไอเดียในการสอนคือ ให้เด็ก ๆ แบ่งกันเป็นกลุ่ม แล้วศึกษาดวยตนเอง ก่อนจะให้ลงมือทำแบบจำลองโครงสร้างอะตอมของธาตุที่สุ่มเลือกได้ ซึ่งคุณครูจะเตรียมมาให้ในลักษณะ "เมมโม่" การะดาษพับขนาดโพสท์อิท ดังรูป









สังเกตว่า สื่อ "เมมโม่" ที่คุณครูเตรียมน่าจะใช้เวลาพอสมควร เพราะน่าจะทำด้วยตนเองทั้งหมด แต่หลังจากสอนเสร็จแล้ว นิสิตสะท้อนว่า ตนเองต้องการเวลาเตรียมตัวมากกว่านี้  จึงขอให้กำลังใจ และขอป้อนกลับให้นำไปคิดต่อดังนี้ครับ

  • เมื่อเห็นแผนการสอน ....มีความเห็นว่า สาระที่กำหนดในแผนการสอนเรื่องโครงสร้างอะตอม ซึ่งคงจะกำหนดเป้าหมายไว้ในหลักสูตรแกนกลาง พ.ศ.๒๕๕๑ หรือฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๐  เป็นเนื้อหาที่ "ไม่เท่าทันสมัย" กับองค์ความรู้และความเข้าใจใหม่ ๆ ซึ่งได้รับการยอมรับแล้ว  และเมื่อไปตรวจสอบเนื้อหาในหนังสือของ สสวท. (สำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตหนังสือตามหลักสูตรฯ ก็เห็นเป็นเช่นนั้นจริง ๆ   พบว่ามีเนื้อหาไม่ครอบคลุมความคิดรวบยอดความคิดเบื้องต้นที่ นักเรียนควรจะทราบ เช่น 
    • ความคิดรอบยอดของ โครงสร้างอะตอม ในหนังสือ สสวท. กล่าวถึง โมเดลของจอห์ ดอนตันเท่านั้น   ... ควรจัดให้นักเรียนได้เห็นลักษณะของโครงสร้างอะตอมของโบว์ (Bohr atom) โมเดลของอะตอมแบบกลุ่มหมอกไปเลย 
    • สสวท. น่าจะมีเจตนาปูพื้นฐานความคิดรวบยอดว่า ทุกสิ่งอย่างประกอบขึ้นจากอะตอม และอะตอมมีโครงสร้างอะตอมเบื้องต้นคือ มีนิวเคลียสซึ่งโปรตอนและนิวตรอน และมีอิเล็กตรอนโคจรอยู่รอบ ๆ และจำนวนอนุภาคในโครงสร้างอะตอมนี้เองที่ทำให้ธาตุแต่ละธาตุมีความแตกต่างกัน ... แต่ถ้าครู่ไม่เข้าใจในเจตนานี้ คุณครูจะไปยึดเอาเนื้อหาความรู้ที่ตอนสมัยเป็นนักเรียนตนเองได้เรียนมา จดจำมา เช่น อะตอมคือสิ่งที่แยกออกอีกไม่ได้ ตามความหมายในภาษากรีก ซึ่งยังคงกล่าวไว้ในหนังสือ  แต่ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ ได้ค้นพบแล้วว่า โปรตอน นิวตรอน นั้นประกอบขึ้นจากควาร์ก (quark) ชนิดต่าง ๆ  และนอกจากอนุภาคเหล่านี้แล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังพบอนุภาคชนิดต่าง ๆ อีกหลายสิบชนิด ... เสนอว่า เราควรจะศึกษาให้ทันสมัย และสอนตรงลงไปเลยว่า ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับโครงสร้างอะตอม 
    • ฯลฯ 
  • ช่วงต้น ๆ ของการสอน คุณครูฝึกสอน ไม่ลืมที่จะทบทวนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเรียน ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นมากและดีมาก  แต่หากเพิ่มเติมเทคนิคบางอย่างเพื่อให้มั่นใจว่า เด็ก ๆ ทุกคนได้มีส่วนร่วมจะดีมาก ...  เช่น การให้เด็กมีส่วนร่วมโดยการประเมินตนเองด้วยมือ ๕ นิ้ว คล้าย ๆ กับที่เราทำแบบสอบถาม ๕ ระดับ (rating scale) แต่แทนที่จะเขียนตอบ เป็นการยกมือชูนิ้วแทน ซึ่งสามารถประเมินได้ทันที และมีข้อดีที่เด็ก ๆ ทุกคนจะได้มีส่วนร่วม และได้ฝึกประเมินตนเอง 
  • เมื่อใดที่แบ่งกลุ่ม แสดงว่า เราจะได้ฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม หรือทักษะความร่วมมือ แต่ถ้าสังเกตให้ดี ช่วงแรก ๆ เด็ก ๆ จะยังไม่สามารถ "คิดงาน" เองได้ และยังไม่สามารถจะมอบหมายหน้าที่กันได้ คุณครูจึงต้องใช้ "ใบงาน" "ใบกิจกรรม" เข้าช่วย  และถ้าจำเป็น (สังเกตเห็นว่าเด็กไม่สามารถรันกระบวนการกลุ่มได้) คุณครูควรจะสนับสนุนหรือก่อน เช่น กำหนดหน้าที่ให้ พาให้แบ่งหน้าที่ กำหนดให้ช่วยกันเลือกหัวหน้า เลขาฯ  ... เมื่อนักเรียนทำงานเป็นทีมเป็นบ้างแล้ว ครูจึงค่อย ๆ ถอยออกมาเป็นผู้สะท้อนป้อนกลับเพื่อให้นักเรียนพัฒนาต่อไป 
  • หน้าที่ของการเป็น "ครูวิทยาศาสตร์" คือ การปลูกฝัง "จิตวิทยาศาสตร์" และ ฝึก "ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์" ให้ผู้เรียน ในบางหัวเรื่อง (บางแผนการสอน) อาจไม่เหมาะสมที่จะออกแบบการสอนที่นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ ทดลอง  อีกวิธีการหนึ่งของการปลูกฝังจิตวิทยาศาสตร์ คือ การสร้างแรงบันดาลใจ ผ่านเรื่องเล่า เรียกว่า "เรื่องเล่าเร้าพลัง"   โดยเล่าถึงประวัติชีวิตของนักวิทยาศาสตร์สำคัญ ๆ และเล่าให้ชัดถึงกระบวนการค้นพบองค์ความรู้ที่กำลังจะเรียนนี้   ... เท่าที่อาจารย์สืบค้นดู ทาง สสวท. ก็ทุ่มงบประมาณในการสร้างสื่อเหล่านี้ครับ ดูที่คลิปด้านล่างนี้เป็นต้น  ... แต่เอาคลิปแบบนี้ไปเปิดก็น่าเบื่อ....  คุณครูต้องฝึกเล่าเรื่อง เล่านิทาน เล่าเหมือนเล่าตำนาน  คนไทยจะชอบฟัง 

  • ความคุ้มค่า หรือ ที่มักเรียกภาษานักบริหารว่า "ประสิทธิภาพ" นั้น เป็นอีกประเด็นที่ครูฝึกสอนต้องค่อย ๆ พัฒนา  การทุ่มเทอย่างมากในการเตรียมตัว แต่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้น้อย เรียกว่า ไม่คุ้มค่า  แต่การไม่ลงทุนไม่พาเด็ก ๆ ทุ่มเทเรียนด้วยตนเอง เด็ก ๆ ย่อมไม่เกิดความเข้าใจที่แท้จริง  ดังนั้น คุณครูต้องคิดพิจารณาและทดลองพัฒนาเรื่องนี้  เรียกว่ากระบวนการนี้ว่า "วิจัยในชั้นเรียน" (Aciton Research) นั่นเอง ... จากการสังเกตวันนี้ อาจารย์พบว่า 
    • คุณครูทุ่มเทเวลาทำ "เมมโม่" มาเอง ... ถ้าให้นักเรียนแต่ละกลุ่มทำกันเอง อาจจะคุ้มค่า เพราะเด็กได้เรียนมากขึ้น  ... แบบนี้เรียกว่า ไม่คุ้มค่าเหนื่อย 
    • คุณครูแบ่งกลุ่ม ๆ  ละหลายคน แต่มอบหมายให้นักเรียนทำ โมเดลโครงสร้างอะตอมในกระดาษใบเดียว ซึ่ง น่าจะ ๑ คน ๑ โมเดล ... จึงตีความว่า ออกแบบให้เด็ก ๆ ลงทุนน้อยไปหน่อย 
    • การใช้เวลาถึง ๒ ชั่วโมงเต็ม เพื่อให้เรียนรู้ว่า อะตอมประกอบด้วย นิวเคลียสที่มีองค์ประกอบคือโปรตอนและนิวตรอน และมีอิเล็กตรอนวิ่งรอบ ๆ   น่าจะเป็นเรื่องใช้ "เวลาไม่คุ้มค่า" 
    • ฯลฯ 
  • การให้เด็ก ๆ ได้นำเสนอเป็นเรื่องดี เพราะเด็ก ๆ ที่เป็นผู้นำเสนอจะได้ประโยชน์จากการได้ฝึก แต่ถ้าการนำเสนอสามารถดึงความสนใจของนักเรียนทั้งห้องได้  ผู้ฟังจะได้ประโยชน์ด้วย คือ การได้ฝึกฟังและเรียนรู้จากเพื่อน  ... คุณครูต้องสร้างบรรยายการแบบหลังนี้ให้ได้   เชียร์ครับ...
  • สิ่งที่สำคัญและยังไม่เห็นในการสอนของนิสิตคนที่ ๑ นี้คือ กระบวนการสะท้อนการเรียนรู้ครับ  ต้องทำให้ได้นะครับ ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการ Learning Reflection เสมอ 
นิสิตคนที่ ๒

นิสิตคนที่ ๒ สอนเรื่อง "งาน" สาระสำคัญคือ งานในทางฟิสิกส์คือ ผลคูณของแรงที่กระทำกับวัตถุและระยะทางที่วัตถุเคลื่อนที่ในทิศเดียวกับแรง คุณครูฝึกสอน มีเทคนิควิธีการสอนที่น่าสนใจมาก คือ ให้นักเรียนแต่ละคนออกมาสุ่มเลือกรับภาพสถานการณ์ไป แล้วใช้กระบวนเรียนทั้งทางฐานกาย คือให้วาดรูปสถานการณ์นั้น และฐานคิด คือให้พิจารณาว่า กรณีที่ได้รับทำให้เกิด "งาน" ทางฟิสิกส์หรือไม่ ....




เสียดายที่ ต้องกลับไปสอนตอนบ่ายสามโมง  จึงไม่ได้อยู่ดูตอนจบว่ามีการสะท้อนการเรียนรู้อย่างไร  ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่เห็นและอยากสะท้อนเป็นกำลังใจให้ทำต่อไปครับ 
  • เห็นบรรยากาศของการตั้งใจเรียนอย่างมาก นักเรียนมีส่วนร่วมกับคุณครูอย่างเป็นธรรมชาติ เบื้องหลังน่าจะเป็นความ "ศรัทธา" ที่นักเรียนมีต่อคุณครูฝึกสอนของเราแล้วพอสมควร 
  • เห็นการเตรียมตัวที่ดีมาก สังเกตจาก การดำเนินการตามแผนอย่างเป็นขั้นตอน ใช้สื่ออุปกร์ที่เตรียมไว้อย่างมีลำดับ และเห็นความมั่นใจ ไม่เก้อเขินใด ๆ ให้เห็นเลย 
  • เห็นการสอดแทรกคุณธรรมให้น้องนักเรียนด้วย ....  ตอนแรกคิดว่าไม่น่าจะมีในวิธีการของนิสิตฝึกสอน แต่เมื่อนักเรียนคนหนึ่งออกไปปรึกษาเรื่องงาน  คุณครูของเราสะท้อนประสบการณ์ของตนเองหลายอย่าง  เป็นที่ชัดเจนว่า มีการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมอย่างชัดเจน จึงได้แก้ไขให้เต็มครับ 
  • หากนิสิตเล่าเรื่องต่าง ๆ  เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย หรืออาจเป็นเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ เป็นความรู้เสริม น่าจะเปลี่ยนบรรยายกาศของการเรียนรู้มากขึ้น นอกจากรู้ลึกแล้ว จะรู้รอบด้วย 
สุดท้ายนี้ ...  อาจารย์ขอแลกเปลี่ยนเรื่อง "งานในทางฟิสิกส์" กับ "งานในชีวิตประจำวัน" เพราะมักจะสอนกันว่า สองอย่างนี้เป็นคนละอย่างกัน แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง  ใช่ครับในหลายกรณีคำว่า "งาน"  แตกต่างกันมากในสองกรณีนี้   เช่น ผมจะไปหางานทำ ...... งานในที่นี้ หมายถึง การงานและอาชีพ หรือถ้านายจ้างจะมอบหมายงานให้ .... งานในที่นี้ อาจหมายถึง งาน ที่ครูจะให้ไปทำ  แต่ถ้าลองคิดว่า ชายคนหนึ่ง มีหน้าที่เป็นกรรมการแบกหาม   นายจ้างมอบหมายให้เขาแบกกระสอบข้าวสารหนัก ๕๐ กิโลกรัม เดินไปเป็นระยะทาง ๑๐ เมตร ชายคนนี้จะไม่ได้ทำ "งาน" ในทางฟิสิกส์เลย เพราะทิศทางที่เขาเดินตั้งฉากกับทิศทางของแรงที่เขาแบกเข้าสาร ... คำถามคือ แล้วทำไมชายคนนี้จึงเหนื่อย ทำไมชายคนนี้จึงถือว่า ได้ทำงานตามนายจ้างสั่ง และนายจ้างก็จะให้เงินค่าจ้างกับเขาด้วย .... ทำไมงานในวิชาฟิสิกส์จึงต่างจากงานในชีวิตจริงขนาดนั้น งานในทางฟิสิกส์ไม่สามารถอธิบายเหตุการณ์นี้ได้เลยหรือ? 

คำตอบคือ ไม่ใช่อย่างนั้นครับ  ชายคนนั้น ชายคนที่แบกข้าวสารนั้น เขาเหนื่อย เพราะเขาได้งาน ได้งานในทางฟิสิกส์ เพราะในการเดินไปข้างหน้า เขาต้องเอาชนะแรงเสียดทานกับพื้น  หากไม่มีแรงเสียดทาน เขาจะเดินไปข้างหน้าไม่ได้ และการเอาชนะแรงเสียดทานนั้น เขาก็ได้ทำงานที่นายจ้างมอบหมาย  ซึ่งก็หมายถึงเขากำลังทำงานในชีวิตประจำวัน ... ดังนั้นจึงขอสรุปให้มั่นใจว่า ฟิสิกส์คือวิชาที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์เกี่ยวกับสสารและพลังงานในชีวิตจริง  ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม 

ขอบจบเท่านี้ครับ ขอให้กำลังใจว่าที่คุณครู "วัลบรรจุ" และ "อภิญญา" ให้สู้ต่อไปครับ 

วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2562

นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๙: โรงเรียนกมลาไสย ปีการศึกษา ๒๕๖๒ ครั้งที่ ๒

วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ ไปทำหน้าที่อาจารย์นิเทศก์การสอนของนิสิตฝึกสอน ว่าที่ครูวิทยาศาสตร์ ม.ต้น  นิเทศรวดเดียว ๓ คน แบบต่อเนื่อง ผม AAR ว่า การศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ ของนิสิตทั้ง ๓ คนนี้ ก้าวหน้าพัฒนาอย่างยิ่งยวด เกินกว่าที่คาดไว้ในใจมากนัก และที่น่าชื่นใจที่สุด ทั้งสามคน นำเอาข้อความเห็นและข้อเสนอแนะที่เคยเขียนไว้ในบันทึกก่อน ๆ  (ที่นี่ ที่นี่ และที่นี่)

คนที่ ๑

นิสิตสอนเรื่องระบบการลำเลียงของเสียออกจากร่างกาย




  • ผมสะท้อน ณ ขณะนั่งสังเกตการณ์อยู่หลังห้อง ถึงสิ่งที่ตนเองเห็น ดังนี้ว่า
    • เห็นชั้นเรียนที่สนุก เด็กมีความสุข และมีชีวิตชีวามาก ๆ 
    • เห็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ชัดเจน เป็นลำดับขั้น สะท้อนถึง การเตรียมตัวของคุณครูฝึกสอนที่ดีเยี่ยม  ... ผลที่เห็นชัดก็คือ ความมั่นใจของครู ความสนุกของครูผู้สอน หรือผมมักเรียกว่า เห็น "พลัง" ในตัวครู 
    •  เห็นการนำเอาสื่อการสอนที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ  ใช้เอกสารความรู้จากหนังสือของ สสวท. ซึ่งทำไว้ดีมากแล้ว ใช้เพาเวอร์พอยในการสื่อสารคำถามและประเด็นสำคัญ รวมถึง สรุปสาระสำคัญ และใช้คลิปวีดีโอให้เห็นภาพเคลื่อนไหวและเสียง ให้นักเรียนเห็นระบบขับถ่ายได้ชัดเจนสมจริงมาก 
    • เห็นการมีส่วนร่วมของเด็ก ๆ อย่างทั่วถึง  สะท้อนว่า ตลอดเดือนที่ผ่านมา เด็ก ๆ ได้ฝึกการทำงานเป็นทีมแล้วพอสมควร  
  • มีเทคนิคที่น่าสนใจมาก ๒ อย่าง ที่อยากเชียร์ให้นิสิตเขียนแลกเปลี่ยนไว้ในบันทึก  คือ  การใช้บอร์ดเกมในการช่วยสอน และ การใช้นิสิตลับในการสะท้อนผล .... แยบยลและได้ผลมาก


คนที่ ๒ 

นิสิตคนที่ ๒ สอนเรื่อง "เยื่อเลือกผ่าน" กับ "การแพร่" ต่อเนื่องจากครั้งก่อน ๆ ที่เรียนเกี่ยวกับเรื่ององค์ประกอบของเซลล์ไปแล้ว ครั้งนี้คุณครูนิสิตเอาโมเดลองค์ประกอบเซลพืชสัตว์จัดมาให้ดูด้วย ... ผมจำได้ว่า แต่ก่อนไม่เคยได้เรียนแบบนี้ ไม่อย่างนั้นคงชอบชีววิทยาไปแล้ว








เป็นการจัดการเรียนรู้ที่หาดูได้ยาก...

  • เป็นชั้นเรียนที่นักเรียนสนใจและตั้งใจเรียนมาก ๆ  
  • ผมเห็นกิจกรรมและกระบวนการที่สะท้อนถึงการเตรียมตัวที่ดีมากและประสบการณ์การสอน มีการใช้สื่อที่หลากหลายมาก ทั้งโมเดล ทั้งหนังสือเรียนจาก สสวท. ซึ่งมีรูปสวยเข้าใจง่าย และโดยเฉพาะการใช้เพาเวอร์พอยท์สื่อสานการดำเนินกิจกรรมกับนักเรียนอย่างเป็นขั้นตอน โดยเฉพาะการตั้งคำถาม ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มตอบ ผ่านกิจกรรม "บอร์ดโชว์" (แต่ละกลุ่มมีบอร์ด เพื่อเขียนคำตอบแล้วชูขึ้นให้คนกลุ่มอื่น ๆ เห็น) และกิจกรรมสะท้อนผลด้วยการสุ่ม "สายลับ"  .... จะลองเอาไปใช้ในการสอนบ้าง... 
  • เห็นการสอนอย่างเชื่อมโยงกับองค์ความรู้เดิมที่เรียนมาอย่างเป็นธรรมชาติ และซ้ำทวนประโยครอยต่อแห่งการเชื่อมโยงได้ดีมาก  (ครั้งก่อนเรียนเรื่องปฏิริยาระหว่างแป้งกับสารละลายไอโอดีนแล้วว่า จะเกิดอะไร สังเกตอย่างไร  ครั้งนี้เอาความรู้นั้นมาใช้เป็นเครื่องมือในการสังเกตการแพร่ผ่านแผ่นเซลโลเฟน)
  • เด็กนักเรียนให้ความร่วมมือดีมาก การเด็กทั้งห้องมีส่วนร่วมกัน และเป็นบรรยายแห่งการเรียนรู้ที่ไม่อึกกระทึกเกินไป 
  • จุดเด่นที่สุดของการสอนครั้งนี้คือ การออกแบบให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทดลองและสังเกตการแพร่ของผ่านเยื่อเลือกผ่าน ... หากเป็นไปได้ ถ้ามีเวลาเพียงพอ คุ้มค่าต่อการเตรียมการ การเรียนด้วยการทดลองหรือลงมือทำแบบนี้ดีที่สุด 
  • หากจะต้องปรับการสอนนี้ จะมีเพียงจุดเดียวเรื่องการ สรุปผลการทดลอง  ให้เน้นว่า เด็ก ๆ ต้องเป็นผู้ช่วยกันสรุป ก่อนที่ครูจะสรุปตอนท้ายหรือประเมินด้วยคำถามต่อไป ... กรณีที่เด็ก ๆ สรุปไม่ได้ การตั้งคำถามนำหรือสนับสนุนให้เกิดการสรุปเป็นทางเลือกที่สองรองลงมา หากยังไม่สำเร็จ ก็เป็นการสรุปโดยให้เลือกจากตัวเลือก ... เหล่านี้ คุณครูจะต้องพิจารณาเองว่า จะใช้วิธีใดซึ่งขึ้นอยู่กับผู้เรียนโดยแท้ 
คนที่ ๓ 

นิสิตคนที่ ๓ สอนเรื่อง "โมเมนต์ของแรง" ระดับ ม.๓  ... เสียดายที่ไม่ได้อยู่ดูจนจบกระบวนการ เพราะจำเป็นต้องกลับมาสอนตอนช่วงบ่าย ... อย่างไรก็ดี ก็มีคำแนะนำและความชื่นชม เพื่อป้อนกลับให้ภูมิใจและพัฒนาต่อไป ดังนี้ครับ 


นิสิตสอนด้วยสื่อโปรแกรมสำเร็จรูป (แอพพลิเคชั่นบนมือถือ) วางลงบนจอฉายแบบ Visual ซึ่งก็ดูทันสมัยดี ดังภาพ แต่....



  • การสอนเรื่องนี้เตรียมอุปกรณ์เป็นคานจริง ๆ เลยก็ไม่ลำบาก และจะดีที่สุดสำหรับนักเรียน นักเรียนจะได้ร่วมกิจกรรมทดลองการห้อยถุงดินหรือทรายหรือวัสดุต่าง ๆ  ไว้ตรงตำแหน่งต่าง ๆ ของคานได้เลย  แล้วให้นักเรียนคาดเดากันดูว่าจะเลือกอะไรวางตรงที่ตำแหน่งที่กำหนดให้เพื่อให้คานสมดุล  ฯลฯ  
  • สิ่งที่อาจารย์ประทับใจและขอเชียร์ให้ทำต่อไป คือการออกแบบเครื่องมือและสื่อที่ส่งเสริมกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  คือ  มีขั้นตอนชัดเจนว่า ปัญหาคืออะไร  ให้ตั้งสมมติฐาน ให้ทดลองพิสูจน์ แล้วจบด้วยการอภิปรายสรุปผล
  • อาจารย์เห็นการเตรียมตัวที่ดี บุคลิกของใครก็ของใคร ของครูแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน  ดังนั้นการพัฒนาการทักษะการสอนของตนเอง ไม่ได้เริ่มที่ว่าจะต้องทำให้เหมือนใคร แต่ต้องเริ่มว่า ตนเองถนัดและมีบุคลิกแบบใด แล้วใช้จุดเด่นนั้นให้เต็มที่  และแก้ปัญหาจุดที่ยังไม่พอใจ ....
  • ปัจจัยอยู่ที่ ความแหลมคมในการวิเคราะห์ผู้เรียนและตนเอง การออกแบบกิจกรรมการสอนที่เหมาะต่อผู้เรียนและหัวเรื่องนั้น และความมั่นใจในตนเองของครู  
  • ความมั่นใจของครู จะเกิดขึ้นได้เมื่อ ครูภูมิใจในตนเอง ครูจะภูมิใจเรื่องใดก็ต่อเมื่อครูทำได้ คิดได้ และสอนได้ด้วยตนเองจริง ๆ   ทั้งหมดนี้ ต้องมาจากการฝึกฝน ลองเอาตนลองทำก่อน 
ขอให้กำลังใจ นิสิตทั้ง ๓ คนครับ เดือนหน้า อาจารย์จะมาดูความก้าวหน้าด้านการวิจัยนะครับ