วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เรียนรู้จากการเป็นกรรมการสอบปริญญานิพนธ์ : ๗ คำถามที่ต้องตามหาคำตอบในการสอบจบ ป.เอก

ผมได้เรียนรู้จากการร่วมเป็นกรรมการสอบ ป.เอก (ตามที่ได้เตรียมตัวไว้เมื่อวานนี้ (อ่านที่นี่)) ในหลายประเด็น มีความเห็นว่า หากนำประเด็นคำถามที่กรรมการมักจะถาม มาตีความและจัดลำดับ น่าจะเป็นประโยชน์กับนิสิตที่กำลังเตรียมตัวเข้า "ดีเฟ็นด์" หรือที่เรียกเล่นๆ ว่า "สอบป้องกันวิทยานิพนธ์"

ผมเข้าใจว่า ในด้านการศึกษา ระเบียบวิธีจัยทั้งหมดที่นำไปใช้แก้ปัญหา/พัฒนา จนได้ผลลัพธ์เป็นที่พอใจของอาจารย์ที่ปรึกษา จะถูกนำมาเสนอในรูปแบบ "วิจัย ๕ บท" ได้แก่ ๑)บทนำ ๒)วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ๓)วีธีดำเนินการวิจัย ๔)ผลการวิเคราะห์ข้อมูล และ ๕)สรุปผล อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ แล้วยื่นขอสอบ "ป้องกัน" ว่า "ฉันทำได้"

ผมสังเคราะห์คำถามของประธานสอบและกรรมการสอบ (ครั้งนี้) ให้เหลือ ๗ คำถาม เรียงลำดับจากการมองแบบองค์รวมไปลงรายละเอียด และลำดับเวลาก่อนหลัง ดังนี้

๑) ทำไมไม่เขียนผลวิจัยในบทที่ ๔) ให้ตอบโจทย์วิจัยในบทที่ ๑) ?
๒) วิธีดำเนินการวิจัยในบทที่ ๓) นำเอาข้อมูลที่ได้ทบทวน ค้นหา เรียนรู้ ที่อยู่ในบทที่ ๒) มาใช้อย่างไร  (ต้องบอกให้เห็นวิธีคิดและกระบวนการสังเคราะห์ของตน)
๓) เครื่องมือที่ใช้ ใช่เหรอ? ....  (รู้ได้อย่างไรว่า น่าเชื่อถือ ถูกต้อง)
๔) จากการเรียน ป.เอก หลายปี บทที่ ๑) ถึง บทที่ ๔) มี "พัฒนาการสร้างสรรค์อะไร" (ข้อค้นพบคืออะไร)
๕) อภิปรายผล เชื่อมโยง เหตุ-ผล-ข้อค้นพบ อย่างไร ทำไมเป็นอย่างนั้น
๖) จะมีใครเอางานนี้ไปใช้ไหม ทำไมเขาต้องเอางานนี้ไปใช้ อะไรที่เป็นเอกลักษณ์หรือจุดเด่น ที่ใครเห็นแล้วจะนำไปเป็นแบบอย่าง
๗) ทำไมประสบการณ์หลายปีในการแก้ปัญหา/พัฒนา จึงนำมาสู่ข้อเสนอแนะเหล่านี้

ผมมีความเห็นว่า นิสิตที่จะจบ ป.เอก นั้นจะต้อง "ไม่เชื่อง่าย" "ไม่ตกอยู่ในกระแส" ต้องมีอุดมการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลง พึ่งตนเอง มีหลักการ มั่นใจในความคิดของตนเอง หากรู้ว่าสิ่งนั้นๆ แท้ที่จริงแล้วเป็นต้นตอของปัญหา จะต้องไม่ "หลับตา" เดินตามไป เพียงเพื่อให้เรียนจบ ...


วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เตรียมตัวเป็นกรรมการสอบ ป.เอก เรื่อง การพัฒนารูปแบบการประเมินการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

นับเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ผมได้รับเกียรติทางด้านวิชาการ ให้เป็น "กรรมการสอบ" วิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาเอก ผมรู้สึกตนเองว่ายังไม่คู่ควรมากนักในตอนนี้ อาจเพราะยังไม่มีความรู้ความสามารถด้าน "การวิจัยและประเมินผลการศึกษา" ซึ่งเป็นสาขาที่นิสิตท่านนี้ยื่นเรื่องขอสอบ ... แต่ถ้ามองต่างไป ที่คือโอกาสทองที่ผมจะได้แสดงความคิดเห็น "คนที่ไม่เคยเรียน" ด้านการวิจัยและประเมินผลการศึกษา แบบตรงไปตรงมา โดยยึดหลักปรัชญาและความเข้าใจที่ได้เรียนรู้จากครูและผู้อำนวยการจากการลงพื้นที่ทำ PLC มาช่วงระยะหนึ่ง

หัวเรื่องของวิทยานิพนธ์เล่มนี้ คือ "การพัฒนารูปแบบการประเมินการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย" เล่มร่างวิทยานิพนธ์ที่นิสิตใช้ประกอบยื่นขอสอบ "หนาปึ๊ก" ๓๔๒ หน้า ด้วยข้อจำกัดของเวลา ผมอ่านพิจารณาแบบ "จับความเคลื่อไหว" หมายถึง การอ่านเร็วแล้วจับ "เอาประเด็น" มุ่งมองให้เห็นจุดเด่นหรือจุดเปลี่ยนหรือจุดต่าง และหยุดอ่านละเอียดเฉพาะตอนที่ได้เรียนความรู้ใหม่  .... จับประเด็นได้ดังนี้ครับ

  • รัฐบาลไทยปี ๒๕๕๒ มีนโยบายที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนนักวิจัย นักประดิษฐ์ และนักวิทยาศาสตร์ โดยวิธีการสร้างโรงเรียนพิเศษ เช่น มหิดลวิทยานุสรณ์ ฯลฯ  มีการเสนออีกโครงการที่ไม่ต้องสร้างโรงเรียนใหม่ แต่จะให้ทุนสนับสนุนกับโรงเรียนที่พร้อม จัดให้มีห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ โรงเรียนละ ๑ ห้องๆ ละ ๓๐ คน แล้วเพิ่มเติมหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนใหม่ (สสวท. กำหนด) เพื่อมุ่งให้เป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ หรือนักวิทย์ฯ ต่อไป  โครงการนี้ใช้ทุนสนับสนุนเพิ่มเติมจากเดิมที่โรงเรียนได้รรับเพียง ๔๐๐,๐๐๐ บาท เท่านั้น ... ในทางปฏิบัติ เปิดโอกาสเก็บเงินรายหัวจากผู้ปกครองอีก ๑๐,๐๐๐ บาท 
  • มีการติดตามผลการดำเนินงานของโครงการฯ ด้วยการใช้แบบสอบถาม ๓ ชุด กับบุคลากรโรงเรียน ผู้ปกครอง และครู ผู้วิจัยบอกว่า ยังไม่ครอบคลุมและเป็นระบบ จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนารูปแบบการประเมินที่มาตอบโจทย์ดังกล่าวนี้...ซึ่งเมื่ออ่านความเห็นของผู้เกี่ยวข้องที่ผู้วิจัยไปทำ focus group disscussion (FGD) พบว่า ทุกคนเห็นด้วยและมีความหวังกับงานวิจัยนี้พอสมควร 
  • งานวิจัยนี้จะทำ ๓ อย่าง ๔ ระยะ กล่าวคือ ๑) ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ๒) พัฒนารูปแบบการประเมินโรงเรียนฯ และ ๓) นำรูปแบบไปใช้ โดยระยะที่ ๑ ทำข้อ ๑) ระยะที่ ๒ ทำข้อ ๒) ส่วนข้อ ๓) แบ่งเป็นระยะที่ ๓ นำไปทดลองใช้ก่อน แล้วค่อยทำ ระยะที่ ๔ ค่อยนำไปใช้จริงกับโรงเรียน ๑ แห่ง 
  • ระยะที่ ๑) ผู้จัยไปสัมภาษณ์ตัวแทนผู้บริหารและครูจากโรงเรียนต่างๆ ๙ ท่าน ระยะที่ ๒) ทำ FGD ผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดผลฯ ด้านหลักสูตรและการสอนวิทย์ ด้านละ ๓ ท่าน รวมกับผู้รับผิดชอบหรือครูผู้สอนอีก ๓ รวมเป็น ๙ ท่าน ก่อนจะนำมาพัฒนารูปแบบการประเมินฯ แล้วจัด FGD อีกครั้งด้วยผู้เชี่ยวชาญอีก ๙ ท่าน โดยไม่ซ้ำคนเดิม 
  • หลักคิดและหลักปฏิบัติของหลักสูตรของห้องเรียนพิเศษฯ คือ จัดให้นักเรียนได้เรียนรายวิชาเพิ่มเติมในกลุ่มสาระคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์จำนวน ๓๖.๕ หน่วย และเติมรายวิชาเสริมประสบการณ์วิทยาศาตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เช่น สืบเสาะ โครงงาน การแก้ปัญหา ฯลฯ อีก ๖ หน่วยกิต  ...  สรุปคือ เรียนหนักขึ้น ....เป็นที่น่าสังเกตว่า มีผู้อำนวยการโรงเรียนให้สัมภาษณ์ว่า ... โครงการนี้ไม่มีอะไรมาก แค่เรียนเพิ่มไปอีก ๖ หน่วยกิต.... แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจ ไม่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดของกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อปลูกฝังนักวิทย์ฯ
  • โครงการนี้ สสวท. ให้ความสำคัญกับเครือข่ายการเรียนรู้เชิงพื้นที่ (หรือผมเรียกว่า LLEN) เห็นจากที่เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายกับโรงเรียน ผู้ปกครอง และมีการกำหนดแหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียนในเกณฑ์ติดตามด้วย  ถึงขนาดบางแห่งเปิดโอกาสให้คณะวิทยาศษสตร์ในมหาวิทยาลัยมาเป็นผู้จัดการเรียนการสอน
  • ผู้วิจัยได้จัดทำคู่มือและแบบประเมินขึ้นโดยใช้เกณฑ์ที่กำหนดในการติดตามของ สสวท. และเกณฑ์ด้าน Facilities Input (เช่น เรื่องวัสดุ อุปกรณ์ ห้องเรียนฯ ) ที่กำหนดตามหลักสูตร โดยจัดทำเป็นเกณฑ์แบบลูบิค (Rubic) ในลักษณะของการ "อิงเกณฑ์" (Absolute Evaluation) (ไม่ได้เปรียบเทียบกับใครที่ไหน)  .... ผมมีความเห็นเกี่ยวกับเกณฑ์ที่สร้างขึ้นว่า เป็นเกณฑ์ที่เน้นประเมินแบบตัดสิน (Decision-Oriented) มาก จะเห็นได้จากตัวชี้วัดส่วนใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยนำเข้า (Input)และกระบวนการ (Process)มากว่า มีหรือไม่มี ทำหรือไม่ทำ  ส่วนด้านผลลัพธ์ที่เหลือที่พยายามจะวัด "คุณค่า" (Value-Oriented) ด้วยการตั้งเกณฑ์ด้านทักษะและความรู้ของผู้เรียน ผู้วิจัยยังไม่เขียนละเอียดในเล่มว่าวัดหรือประเมินอย่างไร เพียงให้ข้อมูลว่าได้จากการสังเกตและสัมภาษณ์ และไป "จับเอา" จำนวน "ชิ้นงาน" และ "กิจกรรม" ที่นักเรียนได้ทำตามหลักสูตรมาเป็นตัวชี้วัด "ผลผลิต" ซึ่งจะยังไม่สามารถวัดสิ่งที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมได้จริง เช่น อุดมการณ์ ความเป็นนักวิทย์/นักวิจัย คุณลัษณะที่พึงประสงค์ด้านสังคม ฯลฯ 
  • ผู้วิจัยบอกว่า ด้วยแบบประเมินที่พัฒนาขึ้นนี้ ส่งผลให้โรงเรียนเป้าหมายที่เลือกเจาะจง (purposive sampling) มาเป็น "ตัวอย่าง" นี้ดีขึ้น พร้อมขึ้น ... คำตอบคือ ใช่ ... แต่ก็ยังไม่ได้ให้ How to ในการจัดการเรียนการสอนของครู ว่าทำอย่างไรจึงสำเร็จหรือดีขึ้น ...
  • ผมประทับใจมากที่ ผู้วิจัย ไปสัมภาษณ์และทำ FGD แล้วเขียนนำเสนอแบบ "พรรณนาเนื้อหา" หรือ "โค๊ดคำ" ก่อนจะนำมาวิเคราะห์ ซึ่งหากวิเคราะห์ให้ดี จะพบว่า วิทยานิพนธ์นี้มีข้อค้นพบมากทีเดียว 
  • สิ่งที่อยากเห็น ก่อนจะเปิดอ่านเล่ม แต่ยังไม่เห็น คือ ประเด็นต่อไปนี้ 
    • อยากรู้สถิติย้อนหลังว่า มีนักเรียนในโครงการนี้กี่คน ที่ไปศึกษาต่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักประดิษฐ์ กี่คนที่จบจากอุดมศึกษาแล้วยังคงอุดมการณ์นี้ได้ ....
    • อยากรู้วิธีการสร้างอุดมการณ์ให้คนอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ...
 พรุ่งนี้ ๙:๓๐ นาที ผมจะทำหน้าที่นี้เพื่อให้ผู้วิจัยภูมิใจและเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำเอาผลงานวิจัยของตนไปให้คนอื่นใช้ต่อ... ผมมีความเห็นอย่างบริสุทธิ์ใจว่า วิธีนี้เท่านั้น ที่จะทำให้วงการศึกษาไทยสดใสในวันหน้า....

วันนี้ลาก่อนครับ

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

วิพากษ์หลักสูตรเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรมของครูประถมศึกษา ตามแนวคิด PLC ในการเป็นครูนักวิจัย

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ผมถูกอุปโลกน์ให้เป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" ด้าน PLC (ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญทฤษฎีใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้) ทราบว่านิสิตได้สอบถามไปยังผู้ใหญ่ที่บุกเบิกเรื่องทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ และ "ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์" ท่านเมตตาแนะนำต่อมาที่ผม ท่านคงเห็นว่าผม กำลังตั้งหน้าตั้งตาใช้เครื่องมือ KM สร้างเครือข่าย LLEN ในเขตพื้นที่อย่างขมักเขม้น ซึ่ง CoP (Community of Practice) ของ KM ก็คือ PLC นั่นเอง

นิสิตปริญญาเอกท่านนี้สนใจจะใช้ PLC ในการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะการแก้ปัญหาของครูประถมศึกษาจำนวน ๑๐ คน ให้สามารถใช้ PLC ในการแก้ปัญหาการจัดการเรียนรู้ของตน สามารถออกแบบหลักสูตรฯ (สร้างนวัตกรรม) ออกแบบการใช้หลักสูตรฯนั้น และสามารถนำเสนอผลการใช้หลักสูตรฯ ในลักษณะของรายงานวิจัย หรือบทความวิจัยได้ (ครูนักวิจัย) ....  นับเป็นงาน ๓ ชั้น ต้องการปั้นครูให้เป็นนักวิจัย ซึ่งผมเองตอนนี้ก็ทำไม่ได้ครับ....

ด้วยประสบการณ์บนเวที "ผู้เชี่ยวชาญ" ไม่มีเลย ทำให้ผมไม่สามารถสื่อสารไปยังนิสิตเจ้าของหลักสูตรฯ ได้ทั้งหมดในเวลาอันจำกัดนั้น (เพียง ๓ ชั่วโมง) จึงขอใช้บันทึกนี้สื่อไปยังท่าน และขออนุญาตเผยแพร่ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนิสิตคนอื่นๆ

ผมสรุปหลักสูตรฯ ของท่านเป็นรูป ๒ รูปนี้ โดยทำไว้ให้ดูง่ายในลักษณะของ Timeline รายชั่วโมง เพราะ ท่านใช้โครงสร้างระยะเวลาเป็นจำนวนชั่วโมง 



วิธีการของหลักสูตรฯ นี้คือ เอากลุ่มเป้าหมายมาประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทำให้เข้าใจ PLC และสามารถประยุกต์ใช้กระบวนการ PLC  เทคนิคการคิดวิเคราะห์ปัญหา การออกแบบหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้แบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ การประเมินผลเชิงประจักษ์และการประเมินผลการปฏิบัติงาน รวมประมาณ ๑๒ ชั่วโมง ก่อนจะให้กลุ่มเป้าหมาย กลับไปทดลองใช้กระบวนการนี้ไปแก้ปัญหาของตน ๖๐ ชั่วโมง ก่อนจะนำเสนอผลการใช้หลักสูตรฯ นั้นอีก ๑๐ ชั่วโมง ในลักษณะการนำเสนอรายงานวิจัยหรือบทความวิจัย หรือวิจัยในชั้นเรียน (ผมอยากเผยแพร่หลักสูตรฯ ฉบับเต็มให้ไปอ่านศึกษา แต่รอให้ท่านอนุญาตก่อนจะดีกว่า)

ท่านถามคำถามสุดท้ายของการ Focus Group ว่า หลักสูตรฯ นี้ใช้ได้หรือไม่ เมื่อเอาไปใช้แล้วจะสำเร็จหรือไม่ ผมตอบไปว่า "ไม่ทราบครับ" เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับท่านเท่านั้น มีปัจจัยต่างๆ อีกมากมายที่ทำให้ไม่ใช่เรื่องง่าย ... อย่างไรก็ดี หากยังเป็นหลักสูตรฯ ตามโครงสร้างนี้ ผมว่ามีโอกาสสำเร็จน้อยมาก เพราะสาเหตุดังนี้


หลักสูตรฯ นี้เป็นหลักสูตร เน้นการ "ฝึกอบรม" และ "ถ่ายทอดความรู้" ไม่ใช่หลักสูตรฯ เน้นการ "เรียนรู้" และ "ร่วมมือ" ซึ่งเป็นหัวใจของ PLC สังเกตจากที่จะชุมเชิงปฏิบัติการ ๑๒ ชั่วโมง เพื่อให้เข้าใจ PLC และสามารถใช้ PLC ไปทดลองใช้ในการแก้ปัญหาได้ นับเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง  และใบความรู้ที่ใช้ ทั้งหมดเป็นการทบทวนทฤษฎีมาบอกและอภิปราย ไม่มีตัวอย่างการนำ PLC ไปใช้ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ แม้จะยกกรณีตัวอย่าง แต่ก็เป็นเพียงตัวอย่างปัญหา ที่ให้ใช้ความรู้ในหน่วยการเรียนรู้ก่อนๆ มาประยุกต์ใช้ ซึ่งถ้าไม่เข้าใจและมีประสบการณ์ย่อมเป็นเรื่องยากยิ่ง...

จากประสบการณ์ของผม เราไม่สามารถเข้าใจ PLC ได้ด้วยระยะเวลาอันสั้น และผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลงมือปฏิบัติเป็น "กระบวนกร" (Facilitator) ด้วยตนเอง และใช้กระบวนการ PLC กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเห็นตัวอย่างการปฏิบัติจริงๆ กล่าวคือ "ทำให้ดู" ใช้วิธีสร้างความเข้าใจด้วยการ สะท้อน ตั้งคำถาม ถอดบทเรียนผลจากการทดลองด้วยตนเอง และจากการซึมซับ สังเกตจากคนอื่นๆ การประชุมเชิงปฏิบัติการเพียงครั้งเดียว ไม่ใช่ PLC องค์ประกอบต่างๆ ที่กำหนดขึ้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะลักษณะนามธรรม เช่น วิสัยทัศน์ร่วม หรือทักษะทางปัญญาต่างๆ .... ผมคิดว่านี่เป็นสาเหตุที่ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ถามท่านว่า ท่านจะไปคุยกับกลุ่มเป้าหมายกี่ครั้งเพียงใด สม่ำเสมอหรือไม่

อย่างน้อยที่สุด เป้าหมายรายทาง (ปักหมุดของความสำเร็จ) ของหลักสูตรนี้ คือ ท่านต้องฝึกตนเองเป็น "คุณอำนวย" (หรือ ผมเรียกว่า "กระบวนกร" หรือ ที่นักวิชาการเรียก "วิทยากรกระบวนการ") และทำให้ ครูกลุ่มเป้าหมายเป็น "ครูอำนวย" ที่จะนำ PLC ไปใช้โรงเรียนเพื่อแก้ปัญหาการจัดการเรียนรู้ของตนเอง  ครูกลุ่มนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น "ครูนักวิจัย" แต่จะเป็นครูนักวิจัยแบบ "PAR" (Participatory Action Reserch) เพราะ PLC จะเน้นการแก้ "ปัญหาหน้างาน" จาก "สนาม" จริงๆ ดังนั้น ใบความรู้เกี่ยวกับ PAR ในหน่วยการเรียนรู้ที่ ๔ น่าจะเป็นใบความรู้ที่ใช้เกิดความเข้าใจเรื่อง PLC ในหน่วยการเรียนรู้ที่ ๑ ... (อย่างไรก็ดี อาจจะเป็น PLC ของครูนักวิจัย R&D ก็ได้)...

หากยึดหลักการว PAR เป็นกระบวนวิธีของ PLC ของท่าน จะทำให้ได้องค์ประกอบของ PLC ที่เป็นผลการเรียนรู้ของสมาชิก PLC เอง ซึ่งจะเกี่ยวข้องและสอดคล้องกับปัญหา สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และบริบทอื่นๆ ของโรงเรียนและชุมชน ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับ PLC ที่ได้ทบทวนมาก็เป็นได้

อีกความยากหนึ่งที่จะทำให้ไม่สำเร็จคือ หลักสูตรนี้กำหนด (กรอบ, รูปแบบ) ให้ครูกลุ่มเป้าหมายต้องนำเสนอผลงานเป็นรายงานวิจัย หรือบทความวิจัย ซึ่งอาจเป็นเรื่องยาก เพราะอาจจะยังเป็นครั้งแรกของครูที่ได้ทดลองใช้ PLC ในการแก้ปัญหา

คงเป็นเรื่องยากที่ผมจะเขียนอธิบายไว้ได้ทั้งหมด ... เอาเป็นว่า หากไม่เข้าใจ หรือ หรือเข้าใจไม่ตรงกัน (เหมือนวันนั้นที่คำตอบของท่าน ทำให้ผมเข้าใจว่า ครูกลุ่มเป้าหมายไม่ต้องใช้ PLC จึงทำให้มีข้อคิดเห็นว่าเนื้อหาในใบความรู้ไม่สอดคล้อง) ก็อีเมล์โต้ตอบ หรือโทรมาคุยก็แล้วกันนะครับ.... (การพูดคุยบ่อย ต่อเนื่องเป็นวิถีของ PLC อยู่แล้ว)

มีผู้ไปเรียนรู้ด้วยเยอะเลยครับ ขออนุโมทนาบุญกับท่านด้วยครับ ที่ทำให้มีงานนี้ ผมได้เรียนรู้เยอะทีเดียว




วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

องค์ประกอบของ PLC ?

อาทิตย์ที่ผ่านมา (๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗) ไม่น่าเชื่อว่า ผมจะมีโอกาสได้มาเป็นหนึ่งในคนที่นิสิตปริญญาเอก(อย่างน้อย ๓ ท่าน) เรียกว่า "ผู้เชี่ยวชาญ" ขอขอบพระคุณที่ให้เกียรติผมถึงกับเชิญไปเป็นผู้เชี่ยวชาญร่วมทำ Focus Group ในขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรที่จะนำ PLC เป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะของครูเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนต่อไป

ผมได้อ่านงานเขียนเค้าโครงวิจัยของนิสิตท่านหนึ่ง ท่านสืบค้นทบทวน (Review) เกี่ยวกับองค์ประกอบของ "ชุมชนเรียนรู้วิชาชีพ" (Professional Learning Community) หรือ PLC  (ผมชอบชื่อ "ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์" ที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ท่านเรียกมากกว่า เพราะแค่เพียงชื่อก็สื่อ "ค่านิยมร่วม" ได้ชัดเจนแล้ว โดยไม่ต้องมาอธิบายอะไรกันมากมาย) ผมเห็นว่าน่าสนใจเลยนำมาบันทึกเชิงวิพากษ์ไว้ เผื่อจะมีประโยชน์ต่อไป

ผมพบว่า
  • ลักษณะ(รูปแบบ (กรอบ)) ของการทบทวน เป็นการทบทวนที่เน้นเอา "ทฤษฎีตะวันตก" เป็นคำสำคัญคือ "PLC" หรือ "Professional Learning Community" เป็นศูนย์กลางในการสืบค้น สังเกตจากที่มีเฉพาะทฤษฎีที่มาจากนักศึกษาชาวตะวันตกเช่น Peter Sange, Michael J Marquardt, Shirley M Hord, Dufour & Eaker ฯลฯ ทั้งที่อ้างอิงโดยตรงและอ้างอิงผ่านงานของนักการศึกษาไทย ไม่พบ "ทฤษฎีตะวันออก" ที่มี "เป้าหมาย ลักษณะ องค์ประกอบ หรือ โครงสร้าง" คล้ายๆ กัน เช่น "Jugyo Kenkyuu" (จูเคียว เคนจู) หรือ "Lesson Study" ซึ่ง ศ.นพ.วิจารณ์ บอกว่าเป็น PLC แบบหนึ่ง (อ่านที่นี่ และที่นี่ เป็นต้น)  ซึ่งกำเนิดขึ้นในญี่ปุ่นและเป็นวัฒนธรรมของครูญี่ปุ่น เหมือนๆ กับที่ครูไทยให้ความสำคัญเรื่อง "เขียนแผน" และทำให้การศึกษาของญี่ปุ่นเข้มแข็ง
  • นอกจากนี้แล้วการทบทวนยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสอดคล้องกับบริบทของตนเอง ไม่ได้กล่าวถึงภูมิหลังของนิสัยใจคอ วัฒนธรรม หรือความแตกต่างระหว่างครูต่างชาติกับครูไทยซึ่งจะเป็นกลุ่มเป้าหมาย  จึงไม่ได้สืบค้นว่า ในประเทศไทย โรงเรียนไหน กลุ่มใดบ้างที่ได้นำ "PLC" มาเป็นเครื่องในการพัฒนาครูและประสบผลสำเร็จแล้ว เช่น โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา (ติดตามงานของครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ได้ที่นี่) และ โรงเรียนเพลินพัฒนา (ติดตามงานของครูวิมลศรี ที่นี่)ฯลฯ

ผมทดลองนำทฤษฎีต่างๆ ที่นิสิตกล่าวถึงมาวาดเป็นรูป "จาน ๕ เหลี่ยม" เพราะส่วนใหญ่ทฤษฎีเหล่านั้น บอกว่า PLC มีองค์ประกอบ ๕ ประการ และบอกว่า PLC เป็นลักษณะสำคัญขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization: LO) จึงได้นำเอาทฤษฎีเกี่ยวกับ LO มาเป็นองค์ประกอบของ PLC (ซึ่งตรงนี้ผมเห็นด้วย)  ผมพบว่า เป็น "จาน ๕ เหลี่ยม" ใบเดียวกัน เพียงแต่ "วางคนละแบบ" หรือ "มองคนละมุม" เท่านั้น ดังรูป 


ผมมีความเห็นว่า
  • การทบทวนทฤษฎีหรืองานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ควร "ยึดทฤษฎี" เป็นตัวตั้ง แต่ควร "ยึดปัญหา" เป็นตัวตั้ง คือแทนที่จะสนใจว่า "PLC คืออะไร" ควรจะให้ความสำคัญกับคำถามว่า "PLC แก้ปัญหาอะไร ได้อย่างไร ทำไมต้องมี PLC"  
  • เมื่อตั้งเอา "ปัญหาเป็นฐาน" (Problem-based) จะนำมาสู่การทบทวนที่ให้ความสำคัญกับ "บริบท" และลักษณะเฉพาะของกลุ่มเป้าหมาย ในที่นี้คือ "ครูชาวไทย" วัฒนธรรม นิสัยใจคอของคนไทย 
  • ควรจะเรียนรู้ทบทวนแบบ "PLC" แบบ "KM" หรือ "PAR" ด้วย คือเน้นการปฏิบัติและมีส่วนร่วมจริงๆ  โดยไม่ยึดติดกับระเบียบวิธีวิจัยแบบ R&D เช่น นิสิตควรจะไปลองทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมปัญหากับกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ก่อนที่จะนำผลมาออกแบบแนวทางของการพัฒนา ...  ผมเองมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนใน สพป.มค.๓ และ สพป.กส.๑ ตอนนี้ผ่านกระบวนการนี้แล้ว จึงได้ทราบบริบท ปัญหา และวัฒนธรรมองค์ของของคนที่เกี่ยวข้อง (โรงเรียน ชุมชน สำนักงานเขตฯ) พอสมควรแล้ว และตอนนี้กำลังขับเคลื่อนฯ ในขั้นต่อไป (อ่านได้ที่นี่ มีลิงค์รายงานฉบับสมบูรณ์ที่นี่)
  • องค์ประกอบของ "PLC" ควรจะ "ออกมา" จาก "PLC ของกลุ่มเป้าหมาย" จริงๆ ซึ่งหากนำ "กรอบ" หรือ "รูปแบบ" ทฤษฎีลงไป จะส่งผลต่อรูปแบบและวิถีที่ควรจะเป็นในการพัฒนาตนเอง และความภาคภูมิใจในตนเอง ไม่มากก็น้อย...
ผมคิดว่า การศึกษา เป็นเรื่อง  "เฉพาะคน" "เฉพาะที่" "เฉพาะสังคม" แต่ละคน แต่ละที่ แต่ละสังคม จะแตกต่างกันไปในรูปแบบและวิถี สังเกตจากผลลัพธ์ทางการศึกษาคือ "วัฒนธรรม" ที่ต่างกัน ..... ดังนั้น ถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องหันมาหาตนเอง เรียนรู้ตนเอง โรงเรียนของเราเอง ชุมชน และสังคมของเราเอง เพื่อลูกหลานของเราเอง .... เราต้องพึ่งตนเองให้ได้ในเรื่องการศึกษา .....นี่เป็นหลักคิดของ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา" ประการสำคัญ 

วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557

หลักสูตร กศ.ม. สาขาวิชาการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์_๐๓ : วิพากษ์หลักสูตร

ย้อนกลับประมาณวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๗  ๑ อาทิตย์ก่อนการประชุม ผมได้รับเล่มหลักสูตรฯ จากคุณศิริพร (พี่แอ๋น)  ผมพิจารณาแล้วนำมาเขียนวิพากษ์ โดยใช้ระยะเวลาอันสั้น .... แต่ก็อยากจะแบ่งปันเผื่อจะมีประโยชน์ สำหรับผู้เปิดใจต่อไปครับ ...

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑


ข้อความเห็นต่อหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต
สาขาวิชาการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๗)

๑)     เป็นหลักสูตรที่เน้น “วิชา” และ “การสอน” หรือ “วิชาการสอน” ซึ่งหากหมายความตามอักษร จะแสดงถึงการจัดการเรียนรู้ที่ “เน้นวิชา” และ “เน้นการสอน” ซึ่งสวนทางกับแนวทางการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่เน้น “กระบวนการ” มากกว่าเน้น “เนื้อหา” เน้น “ปัญญา” มากกว่าเน้น “วิชา” โดยมุ่งจัดให้ “สอนน้อย เรียนมาก” ครูสอนน้อยแต่นักเรียนได้เรียนมาก ....  เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปลี่ยนชื่อหลักสูตรใหม่เป็น “สาขาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์...)  เพื่อสื่อความหมายถึง “การจัดการเรียนรู้” ซึ่งเน้นฝึกให้บัณฑิตเป็น “นักออกแบบการเรียนรู้” อันเป็นบทบาทสำคัญของครูในศตวรรษที่ ๒๑
๒)     เกี่ยวกับข้อที่ ๑๑. สถานการณ์ภายนอกหรือการพัฒนาที่จำเป็นต้องนำมาพิจารณาในการวางแผนหลักสูตร กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ ๒๑  และการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน โดยเฉพาะทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ จึงจำเป็นต้องผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอย่างลึกซึ้งในสาระวิชา...การใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสาร ถ่ายทอดสาระความรู้....
๑.     ควรกล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อวิธีการเรียนรู้ เช่น .... องค์ความรู้ที่เพิ่มขึ้นมากล้นและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่ดี และวิธีการรับรู้ของผู้เรียนในศตวรรษที่ ๒๑ เปลี่ยนแปลงจากเดิมโดยสิ้นเชิง การเข้าถึงข้อมูลและการสื่อสารข้อมูลสู่ผู้อื่นเป็นเรื่องง่ายยิ่ง เพียงแต่ต้องมีทักษะการเรียนรู้ที่ดี เช่น การอ่าน การคิด การเขียน โดยเฉพาะทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่เป็นสากล ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนทุกคนเท่าเทียมด้านการการศึกษามากขึ้น โดยการสืบค้นและเรียนรู้ด้วยตนเอง
๒.     ควรกล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับผู้เรียน เช่น  .... ในโลกโลกาภิวัตน์และระบบทุนนิยม มีสิ่งยั่วยุจำนวนมาก มีสิ่งรบกวนสมาธิมาก ทำให้ผู้เรียนตกอยู่ในกระแสและอิทธิพลของสิ่งเร้าภายนอก หลงเพลินไปกับสิ่งบันเทิงและความสุขจากการเสพโดยไม่เกิดการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยจัดการเรียนรู้บนฐานปัญหาจริงในชีวิต  ถือเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนรู้จักเหตุและผล สามารถหลีกเลี่ยงป้องกันและแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
๓.     ควรกล่าวถึงบทบาทของครู ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนไป  เช่น .... ครูในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องมีความรู้ด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ สามารถวิเคราะห์ผู้เรียนรายบุคคลได้อย่างถูกต้อง มีทักษะการออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ “ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกนำเสนอ สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ และมีทักษะการทำงนเป็นทีม โดยมีบทบาทเป็นทั้งผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) เป็นครูฝึก (Coach) และเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) และเป็นผู้สร้างชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (Professional Learning Community) เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกฝน สั่งสมความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการมีชีวิตที่ดีในอนาคต
๓)     ปรัชญาของหลักสูตร ......มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์...

๔)     เกี่ยวกับรายวิชา  .... ควรปรับเปลี่ยนมุมมองในการจัดการเรียนรู้ของหลักสูตรฯ จากที่ต้องการให้ “รู้วิชา” “เนื้อหา” เป็นการเรียนรู้ให้เกิด “ทักษะ” และ “ฉันทะ” ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตที่ดีมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น  มหาบัณฑิตจะต้องมีความสามารถในการสร้างนักเรียน ให้มีพื้นฐานความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ทั้งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้น สามารถออกแบบวิธีการเรียนรู้การจุดประกายความพิศวง (Fascination) หรือความใคร่รู้ (Inquiry Mind) และความหลงใหล (passion) หรือแรงบันดาลใจ (Inspiration) ต่อการเรียนรู้  โดยนักเรียนต้องได้เรียนรู้ “ทักษะของการเป็นนักวิทยาศาสตร์” ใน ๓ มิติ ดังต่อไปนี้ (วิจารณ์ พานิช: http://www.gotoknow.org/posts/483560) (A Framework for K-12 Science Education : Practices, Crosscutting Concepts and Core Ideas ซึ่งจัดพิมพ์โดย The National Academies ของสหรัฐอเมริกา)

เรียนรู้มิติภาคปฏิบัติด้านวิทยาศาสตร์ และด้านวิศวกรรมศาตร์  ๘ ประการ


๑. ตั้งคำถาม (สำหรับวิทยาศาสตร์)  และระบุปัญหา (สำหรับวิศวกรรมศาสตร์)

๒. พัฒนารูปแบบ (model) และใช้รูปแบบ

๓. วางแผนและลงมือดำเนินการทดลอง (investigation)

๔. วิเคราะห์และตีความข้อมูล


๕. ใช้วิธีคิดเชิงคณิตศาสตร์และการใช้คอมพิวเตอร์

๖. สร้างคำอธิบาย (explanation สำหรับวิทยาศาสตร์) และออกแบบวิธีแก้ปัญหา (solution สำหรับวิศวกรรมศาสตร์)

๗. มีส่วนร่วมกันโต้แย้ง (argument) โดยใช้ข้อมูลหลักฐาน (evidence)

๘. ทำให้เกิด (obtain)  ประเมิน (evaluate) และสื่อสาร (communicate) สารสนเทศ (information)


หลักการหรือสิ่งที่ต้องเรียนรู้ในทุกโอกาส


๑. pattern

๒. สาเหตุ และผลที่เกิดขึ้น : กลไก และคำอธิบาย

๓. สเกล สัดส่วน และปริมาณ
๔. ระบบ และโมเดลของระบบ

๕. พลังงานและสสาร : การไหล วงจร และการอนุรักษ์

๖. โครงสร้าง และหน้าที่

๗. ความมั่นคงดำรงอยู่ และการเปลี่ยนแปลง


แนวคิดหลักด้านการเรียนรู้ (สาระ) ในสาขาวิชา


วิทยาศาสตร์กายภาพ


PS1 สสารและปฏิสัมพันธ์ระหว่างสสาร

PS2 การเคลื่อนไหว และความมั่นคง (stability) : แรงและปฏิสัมพันธ์

PS3 พลังงาน

PS4  คลื่นและการประยุกต์ใช้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร


วิทยาศาสตร์ชีวภาพ


LS1  จากโมเลกุลสู่สิ่งมีชีวิต (organism) : โครงสร้างและกระบวนการ


LS2  ระบบนิเวศน์ : พลังงาน ปฏิสัมพันธ์ และพลวัต


LS3  พันธุกรรม : การถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ และความแตกต่างของลักษณะ
LS4  วิวัฒนาการทางชีววิทยา  : เอกภาพและความหลากหลาย

วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลกและอวกาศ


ES1  ตำแหน่งของโลกในจักรวาล

ES2  ระบบโลก
ES3  โลกกับกิจกรรมของมนุษย์


วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์


ETS1  การออกแบบทางวิศวกรรม

ETS2  ความเชื่อมโยงระหว่าง วิศวกรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และสังคม

ควรมีรายวิชา ที่นิสิตจะได้ศึกษาชีวิต วิธีคิด กระบวนการทำงาน และผลงานเด่นๆ ของนักวิทยาศาสตร์ทั้งภายใน (นักวิทยาศาสตร์จากคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัย) และภายนอก (ต่างมหาวิทยาลัยหรือตางประเทศ (ถ้ามี)) 

ควรมีวิชาที่จะพานิสิตไปเรียนรู้จาก BP ผู้มีประสบการณ์ ไปศึกษาดูงานโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ แล้วนำมา “ถกเถียง ถอดบทเรียน”  

วิชาบังคับเอก เช่น ๐๒๐๔๕๕๕, ๐๒๐๔๕๕๖, ๐๒๐๔๕๒๘, ๐๒๐๔๕๒๐, ๐๒๐๔๕๔๐  ควรปรับให้เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Learning by doing) และเน้นการนำหลักวิชาความรู้ไปใช้เชื่อมโยงกับการดำเนินชีวิต เช่น ปรับให้เป็นการเรียนรู้แบบ PBL ฯลฯ 

ควรมีวิชาที่ว่าด้วย นวัตกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์โดยตรง เช่น STEM, Oppen Approach, PLC, Lesson Study เป็นต้น 

วิชา ๐๕๐๖๗๓๕  ควรเพิ่ม กระบวนการพัฒนาการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑  เช่น ระบบมาตรฐานการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ฯลฯ 

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑


ผมนำเสนอข้อวิพากษ์ของตนเองนี้ต่อที่ประชุมในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗ และนำมาเป็นแนวคิดในการประชุมกับคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราก็มีมติร่วมกันทั้งที่ "เอาด้วย" และ "ไม่เอาด้วย" อย่างไรก็ดี ถึงแม้เราจะไม่ได้แก้ไขให้เห็น "ชัด" แบบบทวิพากษ์นี้ แต่เราก็เข้าใจดีแล้วว่า เราจะพัฒนานิสิตอย่างไร....

วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2557

หลักสูตร กศ.ม. สาขาวิชาการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์_๐๒ : ร่างหลักสูตร กศ.ม. วิชาการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

บันทึกก่อน  ผมได้ส่ง "กรอบฟอร์ม" วิเคราะห์ "รายวิชา" ที่สอดคล้องกับ "ปรัชญา" ให้กับอาจารย์ประจำหลักสูตร ว่าถ้าหากเห็นด้วย ท่านจะช่วยกันเติมรายวิชา เพื่อบอกว่า วิชาใดจะทำให้ มหาบัณฑิตมีคุณสมบัติตามที่ได้กำหนดไว้ใน "ปรัชญา" ของหลักสูตร ว่า จะผลิตมหาบัณฑิตที่.....

"เป็นครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มืออาชีพ เป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ และเป็นครูผู้ให้ทักษะชีวิต"

โดยที่....

ครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มืออาชีพ หมายถึง ครูที่รักวิชาชีพ มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เรียนรู้จากการทำงานและพัฒนาตนเองให้เชี่ยวชาญในวิชาชีพของตนตลอดชีวิต มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาและศาสตร์ของตนเองอย่างลึกซึ้ง มีทักษะกระบวนการด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ดีเยี่ยม มีทักษะด้านการใช้ภาษาอังกฤษได้ดี โดยเฉพาะภาษาอังกฤษสำหรับวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และสามารถสอนเป็นภาษาอังกฤษได้

ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง หมายถึง ครูที่รู้จักตนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าฟันฝ่าอุปสรรคและเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่า เข้าใจผู้อื่น มีทักษะความร่วมมือ มีภาวะผู้นำ รู้ลึกถึงปัญหา สาเหตุ และแนวทางวิธีแก้ไขปัญหาการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มีจิตอาสา มีความเสียสละต่อส่วนรวม มีอุดมการณ์ที่จะพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้กับประเทศ

ครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ หมายถึง ครูที่เป็นทั้งแบบอย่างและนักสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ที่ดี เป็นนักออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้และตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นแรงบันดาลใจให้นักเรียนใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษา ปฏิบัติ ทดลอง พิสูนจ์สมมติฐานหรือคำตอบของตนเอง  สร้างโอกาสและบรรยากาศ ให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ ของตนอย่างเต็มที่

ครูผู้ให้ทักษะชีวิต หมายถึง การเป็นครูสอน "คน" เน้นสอนให้รู้จัก "ชีวิต" รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อะไรถูกอะไรผิด อะไรมีสาระอะไรไม่มีสาระ อะไรมีประโยชน์อะไรไม่มีประโยชน์ อะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ โดยที่ครูต้องเป็นนักออกแบบกิจกรรมเพื่อให้นิสิตได้ฝึกฝนและเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตต่างๆ ทั้งของตนเองและผู้อื่น

ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในครูที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชีพ อย่างเคร่งครัด

ผลปรากฎอาจารย์หลายท่านเห็นด้วยและช่วยกันสะท้อนมาว่า รายวิชาใดควรจะอยู่ตรงไหน ผมนำมาปรับแก้ไข ได้ผลดังรูปครับ



ผมคิดว่า ไม่จำเป็นต้องอธิบายวิธีการทำความเข้าใจใดๆ เพราะเพียงท่านผู้อ่านได้เห็นและพิจารณา ท่านจะเข้าใจว่า รายวิชานำสู่ "ความรู้" "ปรัชญา" และ "ปัญญา" ได้แน่ครับ......

วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

หลักสูตร กศ.ม. สาขาวิชาการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์_๐๑ : นำเสนอแนวคิด

วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗ ผมได้รับโอกาสอันสำคัญอีกครั้งในชีวิต คราวนี้น่าจะเรียกได้ว่า "บทบาทอาจารย์" (เลยเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างสมุดบันทึกใหม่ในชื่อ "บทบาทอาจารย์ต๋อย") เป็นโอกาสที่ได้รับจาก รองอธิการฝ่ายวิชาการ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา ประเทพา ให้ได้มีส่วนร่วมเรียนรู้ในการสร้างหลักสูตร "การศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์" ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการเสนอสู่สภามหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือของ ภาควิชาหลักสูตรและการสอนคณะศึกษาศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ ของคณะวิทยาศาสตร์ และสำถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับโครงการนี้มากนัก เพราะไม่ได้เป็นตัวแทนจากคณะวิทย์ฯซึ่งเป็น ๒ ใน ๓ คน ของอาจารย์ประจำหลักสูตรฯ แต่ทราบว่าเป็นโอกาสดียิ่ง ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามเราเป็น "ศูนย์" แห่งหนึ่งของโครงการนี้ที่รู้จักกันในชื่อ "สควค." (โครงการส่งเสริมการผลิตครูผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์) นิสิตที่เข้าเรียนจะได้รับทุนการศึกษาตลอดหลักสูตรฯ

ผมอธิบายต่อที่ประชุมซึ่งมีทั้งคณะกรรมการประจำหลักสูตร หัวหน้าภาควิชา รองวิชาการของคณะศึกษาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ว่า ที่ผมได้รับโอกาสอันมีค่านี้ เพราะงานที่ผมกำลังทำอยู่กับสำนักศึกษาทั่วไป (GE) ซึ่งได้เสนอ "รูปแบบการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป" ในที่ประชุมครั้งหนึ่ง ท่านรองอธิการฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบอร์ด GE คงเห็นว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจ จึงเป็นโอกาสให้มาร่วมพิจารณาหลักสูตรนี้

ด้วยความจำเป็นบางประการ ประธาน (รองอธิการฯ) ต้องรีบไป ท่านจึงได้ให้นโยบายไว้ ๓ ประการว่า ทำอย่างไร จะปรับให้หลักสูตรนี้ให้สอดคล้องกับหลัก ๓ ประการ ได้แก่
  • เป็นหลักสูตรที่ "สอนชีวิต" ไม่ใช่ "สอนวิชา"
  • เป็นหลักสูตรที่ "เน้นกระบวนการ" มากกว่า "เนื้อหา" 
  • เป็นหลักสูตรที่ "เน้นปัญญา" มากกว่า "ความรู้" 
แล้วท่านก็ออกไป พร้อมกับฝากไว้ว่า ให้คุยกันแบบโต๊ะกลม โดยให้ผมร่วมด้วย....

อย่างไรก็ดี ผมได้เรียนรู้อย่างคุ้มค่าว่า คำว่า "สอน" ในความหมายของนักการศึกษานั้น ไม่ได้หมายความถึงเพียงการ "ถ่ายทอด" ส่งผ่านความรู้อย่างเดียว (อย่างที่ผมใช้มานาน) แต่หมายถึง ทุกกระบวนการของการเรียนรู้ ที่ครูทำเพื่อให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้และบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ครูตั้ง ผมถึงกับ "บังอาจ" ไปเสนอให้เปลี่ยนชื่อหลักสูตรจาก "สาขาวิชาการสอน....." เป็น "สาขาการจัดการเรียนรู้...." .... จึงไม่แปลกที่ "วง" จะ "พัง" อย่างเล่าให้ฟังข้างต้น


ผมสรุปจากที่ประชุมไม่ชัดเจนนัก แต่ที่ชัดเจนมากคือ เราจะมีการคุยกันอีก ๒ ครั้ง คือ คุยย่อยของแต่ละคณะและคุยรวมกันอีกวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๗ ก่อนจะส่งเข้าสภาวิชาการของมหาวิทยาลัยในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๗ นี้

สิ่งที่จะกลับไปปรับเปลี่ยนเกี่่ยวกับวิชาอังบังคับและเอกเลือกคือ ปรับให้วิชาแรกเป็นเรื่อง "การสอนที่เน้นทฤษฎีและเนื้อหาวิชาเฉพาะ" วิชาที่สองเป็น "การฝึกกระบวนการสอน" วิชาที่สามและสี่เป็นการบูรณาการเนื้อหาและการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน  ส่วนเรื่องอื่นๆ ให้ไปปรับตามคำแนะนำของคณะกรรมการ

ในที่ประชุม....ผมเผลอไปเป็น "ผู้นำคุย" เลยทำให้ "พัง" แบบไม่เป็นท่า.. ต้องกลับมานั่งคิดพิจารณาใหม่ นี่เป็นที่มาของข้อเสนอต่อไปนี้ .....

ผมคิดว่า จุดร่วมที่สำคัญที่สุดคือ การกำหนดเป้าหมายร่วมเชิงคุณค่า (วิสัยทัศน์ร่วม : Shared Value) ที่ทุกคนต้องเข้าใจตรงกัน ... (วันนั้น"หัว"ผมบอดสนิท) นั่นคือการกำหนด "ปรัชญาหลักสูตร" ร่วมกัน ผมขอเสนอปรัชญาของหลักสูตรฯ ว่า



"หลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิตสาขาวิชาการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ผลิตให้มหาบัณฑิตเป็นครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มืออาชีพ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นผู้ให้ทักษะชีวิต"

แนวคิดต่อไป คือ ลองวิเคราะห์รายวิชาที่มีในหลักสูตรฯ ว่า  วิชาใดจะทำให้นิสิตบรรลุเป้าหมายด้าน ความรู้ ทักษะ และเจตคติตามปรัชญาข้อใด ซึ่งผมลองทำ "กรอบฟอร์ม" ไว้ ด้านล่างนี้ ผมคิดว่า  วิธีนี้จะทำให้ผู้ใช้หลักสูตรทุกท่าน เข้าใจตรงกันและร่วมมือกันได้ง่ายขึ้น


ผมจะส่ง "กรอบฟอร์ม" นี้ไปให้อาจารย์เจ้าของหลักสูตรทุกท่าน ถ้าทุกท่านเห็นด้วย ขั้นถัดไปคือ  ช่วยกันวิเคราะห์รายวิชา (จาก มคอ. ๓) ว่าสอดคล้องกันหรือไม่อย่างไร หาก "ไม่" ก็ช่วยกันปรับ แต่หาก "ใช่" แต่ยังไม่ครบ อาจจะช่วย "ตบ แต่ง เติม" หรือแม้แต่ "เพิ่ม" รายวิชาใหม่ต่อไป ....
ก่อนจะส่งให้ท่านรองอธิการฯ (ประธานฯ) พิจาณาต่อไป ผลการพูดคุยจะเป็นอย่างไร จะนำมาบันทึกแลกเปลี่ยนกันครับ