วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

หลักสูตร กศ.ม. สาขาวิชาการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์_๐๑ : นำเสนอแนวคิด

วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗ ผมได้รับโอกาสอันสำคัญอีกครั้งในชีวิต คราวนี้น่าจะเรียกได้ว่า "บทบาทอาจารย์" (เลยเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างสมุดบันทึกใหม่ในชื่อ "บทบาทอาจารย์ต๋อย") เป็นโอกาสที่ได้รับจาก รองอธิการฝ่ายวิชาการ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา ประเทพา ให้ได้มีส่วนร่วมเรียนรู้ในการสร้างหลักสูตร "การศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์" ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการเสนอสู่สภามหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือของ ภาควิชาหลักสูตรและการสอนคณะศึกษาศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ ของคณะวิทยาศาสตร์ และสำถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับโครงการนี้มากนัก เพราะไม่ได้เป็นตัวแทนจากคณะวิทย์ฯซึ่งเป็น ๒ ใน ๓ คน ของอาจารย์ประจำหลักสูตรฯ แต่ทราบว่าเป็นโอกาสดียิ่ง ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามเราเป็น "ศูนย์" แห่งหนึ่งของโครงการนี้ที่รู้จักกันในชื่อ "สควค." (โครงการส่งเสริมการผลิตครูผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์) นิสิตที่เข้าเรียนจะได้รับทุนการศึกษาตลอดหลักสูตรฯ

ผมอธิบายต่อที่ประชุมซึ่งมีทั้งคณะกรรมการประจำหลักสูตร หัวหน้าภาควิชา รองวิชาการของคณะศึกษาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ว่า ที่ผมได้รับโอกาสอันมีค่านี้ เพราะงานที่ผมกำลังทำอยู่กับสำนักศึกษาทั่วไป (GE) ซึ่งได้เสนอ "รูปแบบการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป" ในที่ประชุมครั้งหนึ่ง ท่านรองอธิการฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบอร์ด GE คงเห็นว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจ จึงเป็นโอกาสให้มาร่วมพิจารณาหลักสูตรนี้

ด้วยความจำเป็นบางประการ ประธาน (รองอธิการฯ) ต้องรีบไป ท่านจึงได้ให้นโยบายไว้ ๓ ประการว่า ทำอย่างไร จะปรับให้หลักสูตรนี้ให้สอดคล้องกับหลัก ๓ ประการ ได้แก่
  • เป็นหลักสูตรที่ "สอนชีวิต" ไม่ใช่ "สอนวิชา"
  • เป็นหลักสูตรที่ "เน้นกระบวนการ" มากกว่า "เนื้อหา" 
  • เป็นหลักสูตรที่ "เน้นปัญญา" มากกว่า "ความรู้" 
แล้วท่านก็ออกไป พร้อมกับฝากไว้ว่า ให้คุยกันแบบโต๊ะกลม โดยให้ผมร่วมด้วย....

อย่างไรก็ดี ผมได้เรียนรู้อย่างคุ้มค่าว่า คำว่า "สอน" ในความหมายของนักการศึกษานั้น ไม่ได้หมายความถึงเพียงการ "ถ่ายทอด" ส่งผ่านความรู้อย่างเดียว (อย่างที่ผมใช้มานาน) แต่หมายถึง ทุกกระบวนการของการเรียนรู้ ที่ครูทำเพื่อให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้และบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ครูตั้ง ผมถึงกับ "บังอาจ" ไปเสนอให้เปลี่ยนชื่อหลักสูตรจาก "สาขาวิชาการสอน....." เป็น "สาขาการจัดการเรียนรู้...." .... จึงไม่แปลกที่ "วง" จะ "พัง" อย่างเล่าให้ฟังข้างต้น


ผมสรุปจากที่ประชุมไม่ชัดเจนนัก แต่ที่ชัดเจนมากคือ เราจะมีการคุยกันอีก ๒ ครั้ง คือ คุยย่อยของแต่ละคณะและคุยรวมกันอีกวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๗ ก่อนจะส่งเข้าสภาวิชาการของมหาวิทยาลัยในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๗ นี้

สิ่งที่จะกลับไปปรับเปลี่ยนเกี่่ยวกับวิชาอังบังคับและเอกเลือกคือ ปรับให้วิชาแรกเป็นเรื่อง "การสอนที่เน้นทฤษฎีและเนื้อหาวิชาเฉพาะ" วิชาที่สองเป็น "การฝึกกระบวนการสอน" วิชาที่สามและสี่เป็นการบูรณาการเนื้อหาและการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน  ส่วนเรื่องอื่นๆ ให้ไปปรับตามคำแนะนำของคณะกรรมการ

ในที่ประชุม....ผมเผลอไปเป็น "ผู้นำคุย" เลยทำให้ "พัง" แบบไม่เป็นท่า.. ต้องกลับมานั่งคิดพิจารณาใหม่ นี่เป็นที่มาของข้อเสนอต่อไปนี้ .....

ผมคิดว่า จุดร่วมที่สำคัญที่สุดคือ การกำหนดเป้าหมายร่วมเชิงคุณค่า (วิสัยทัศน์ร่วม : Shared Value) ที่ทุกคนต้องเข้าใจตรงกัน ... (วันนั้น"หัว"ผมบอดสนิท) นั่นคือการกำหนด "ปรัชญาหลักสูตร" ร่วมกัน ผมขอเสนอปรัชญาของหลักสูตรฯ ว่า



"หลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิตสาขาวิชาการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ผลิตให้มหาบัณฑิตเป็นครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มืออาชีพ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นผู้ให้ทักษะชีวิต"

แนวคิดต่อไป คือ ลองวิเคราะห์รายวิชาที่มีในหลักสูตรฯ ว่า  วิชาใดจะทำให้นิสิตบรรลุเป้าหมายด้าน ความรู้ ทักษะ และเจตคติตามปรัชญาข้อใด ซึ่งผมลองทำ "กรอบฟอร์ม" ไว้ ด้านล่างนี้ ผมคิดว่า  วิธีนี้จะทำให้ผู้ใช้หลักสูตรทุกท่าน เข้าใจตรงกันและร่วมมือกันได้ง่ายขึ้น


ผมจะส่ง "กรอบฟอร์ม" นี้ไปให้อาจารย์เจ้าของหลักสูตรทุกท่าน ถ้าทุกท่านเห็นด้วย ขั้นถัดไปคือ  ช่วยกันวิเคราะห์รายวิชา (จาก มคอ. ๓) ว่าสอดคล้องกันหรือไม่อย่างไร หาก "ไม่" ก็ช่วยกันปรับ แต่หาก "ใช่" แต่ยังไม่ครบ อาจจะช่วย "ตบ แต่ง เติม" หรือแม้แต่ "เพิ่ม" รายวิชาใหม่ต่อไป ....
ก่อนจะส่งให้ท่านรองอธิการฯ (ประธานฯ) พิจาณาต่อไป ผลการพูดคุยจะเป็นอย่างไร จะนำมาบันทึกแลกเปลี่ยนกันครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น