ผมได้อ่านงานเขียนเค้าโครงวิจัยของนิสิตท่านหนึ่ง ท่านสืบค้นทบทวน (Review) เกี่ยวกับองค์ประกอบของ "ชุมชนเรียนรู้วิชาชีพ" (Professional Learning Community) หรือ PLC (ผมชอบชื่อ "ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์" ที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ท่านเรียกมากกว่า เพราะแค่เพียงชื่อก็สื่อ "ค่านิยมร่วม" ได้ชัดเจนแล้ว โดยไม่ต้องมาอธิบายอะไรกันมากมาย) ผมเห็นว่าน่าสนใจเลยนำมาบันทึกเชิงวิพากษ์ไว้ เผื่อจะมีประโยชน์ต่อไป
ผมพบว่า
- ลักษณะ(รูปแบบ (กรอบ)) ของการทบทวน เป็นการทบทวนที่เน้นเอา "ทฤษฎีตะวันตก" เป็นคำสำคัญคือ "PLC" หรือ "Professional Learning Community" เป็นศูนย์กลางในการสืบค้น สังเกตจากที่มีเฉพาะทฤษฎีที่มาจากนักศึกษาชาวตะวันตกเช่น Peter Sange, Michael J Marquardt, Shirley M Hord, Dufour & Eaker ฯลฯ ทั้งที่อ้างอิงโดยตรงและอ้างอิงผ่านงานของนักการศึกษาไทย ไม่พบ "ทฤษฎีตะวันออก" ที่มี "เป้าหมาย ลักษณะ องค์ประกอบ หรือ โครงสร้าง" คล้ายๆ กัน เช่น "Jugyo Kenkyuu" (จูเคียว เคนจู) หรือ "Lesson Study" ซึ่ง ศ.นพ.วิจารณ์ บอกว่าเป็น PLC แบบหนึ่ง (อ่านที่นี่ และที่นี่ เป็นต้น) ซึ่งกำเนิดขึ้นในญี่ปุ่นและเป็นวัฒนธรรมของครูญี่ปุ่น เหมือนๆ กับที่ครูไทยให้ความสำคัญเรื่อง "เขียนแผน" และทำให้การศึกษาของญี่ปุ่นเข้มแข็ง
- นอกจากนี้แล้วการทบทวนยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสอดคล้องกับบริบทของตนเอง ไม่ได้กล่าวถึงภูมิหลังของนิสัยใจคอ วัฒนธรรม หรือความแตกต่างระหว่างครูต่างชาติกับครูไทยซึ่งจะเป็นกลุ่มเป้าหมาย จึงไม่ได้สืบค้นว่า ในประเทศไทย โรงเรียนไหน กลุ่มใดบ้างที่ได้นำ "PLC" มาเป็นเครื่องในการพัฒนาครูและประสบผลสำเร็จแล้ว เช่น โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา (ติดตามงานของครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ได้ที่นี่) และ โรงเรียนเพลินพัฒนา (ติดตามงานของครูวิมลศรี ที่นี่)ฯลฯ
ผมทดลองนำทฤษฎีต่างๆ ที่นิสิตกล่าวถึงมาวาดเป็นรูป "จาน ๕ เหลี่ยม" เพราะส่วนใหญ่ทฤษฎีเหล่านั้น บอกว่า PLC มีองค์ประกอบ ๕ ประการ และบอกว่า PLC เป็นลักษณะสำคัญขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization: LO) จึงได้นำเอาทฤษฎีเกี่ยวกับ LO มาเป็นองค์ประกอบของ PLC (ซึ่งตรงนี้ผมเห็นด้วย) ผมพบว่า เป็น "จาน ๕ เหลี่ยม" ใบเดียวกัน เพียงแต่ "วางคนละแบบ" หรือ "มองคนละมุม" เท่านั้น ดังรูป
ผมมีความเห็นว่า
- การทบทวนทฤษฎีหรืองานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ควร "ยึดทฤษฎี" เป็นตัวตั้ง แต่ควร "ยึดปัญหา" เป็นตัวตั้ง คือแทนที่จะสนใจว่า "PLC คืออะไร" ควรจะให้ความสำคัญกับคำถามว่า "PLC แก้ปัญหาอะไร ได้อย่างไร ทำไมต้องมี PLC"
- เมื่อตั้งเอา "ปัญหาเป็นฐาน" (Problem-based) จะนำมาสู่การทบทวนที่ให้ความสำคัญกับ "บริบท" และลักษณะเฉพาะของกลุ่มเป้าหมาย ในที่นี้คือ "ครูชาวไทย" วัฒนธรรม นิสัยใจคอของคนไทย
- ควรจะเรียนรู้ทบทวนแบบ "PLC" แบบ "KM" หรือ "PAR" ด้วย คือเน้นการปฏิบัติและมีส่วนร่วมจริงๆ โดยไม่ยึดติดกับระเบียบวิธีวิจัยแบบ R&D เช่น นิสิตควรจะไปลองทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมปัญหากับกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ก่อนที่จะนำผลมาออกแบบแนวทางของการพัฒนา ... ผมเองมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนใน สพป.มค.๓ และ สพป.กส.๑ ตอนนี้ผ่านกระบวนการนี้แล้ว จึงได้ทราบบริบท ปัญหา และวัฒนธรรมองค์ของของคนที่เกี่ยวข้อง (โรงเรียน ชุมชน สำนักงานเขตฯ) พอสมควรแล้ว และตอนนี้กำลังขับเคลื่อนฯ ในขั้นต่อไป (อ่านได้ที่นี่ มีลิงค์รายงานฉบับสมบูรณ์ที่นี่)
- องค์ประกอบของ "PLC" ควรจะ "ออกมา" จาก "PLC ของกลุ่มเป้าหมาย" จริงๆ ซึ่งหากนำ "กรอบ" หรือ "รูปแบบ" ทฤษฎีลงไป จะส่งผลต่อรูปแบบและวิถีที่ควรจะเป็นในการพัฒนาตนเอง และความภาคภูมิใจในตนเอง ไม่มากก็น้อย...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น