ท่านอาจารย์อลงกลด บอกว่า ท่านยินดีมากหากจะมีการเผยแพร่สิ่งที่ได้ถ่ายทอดวันนี้ออกไป .... ขออนุโมทนา สาธุ กับวิทยาทานการให้แบบไม่มีเงื่อนไขนี้ ... ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์มาก ๆ สำหรับเพื่อนในชุมชนวิชาชีพอาจารย์ ... เชิญท่านอ่านเถิด
เกริ่นนำ
ศาสตราจารย์ ดร.อลงกลด ท่านนำเสนอด้วยการเล่าเรื่องประสบการณ์ตรงของท่านเอง จึงฟังไม่เบื่อเลย เสียดายที่ไม่ได้ขออนุญาตท่านบันทึกเสียง ... ใครมีโอกาสเชิญท่านไป อย่าได้ลังเลครับ ไม่ผิดหวังดอก ขอจับเอาเฉพาะประเด็นสำคัญๆ ที่ประทับใจ ดังนี้
- ปัจจุบันท่านเป็นหนึ่งใน คณะพิจารณาผลงานทางวิชาการ (กพว.) (เป็นมา ๓-๔ ปี) ซึ่งมีหน้าที่กำหนดและแต่งตั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานทางวิชาการ ผศ. รศ. ศ. ของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ.) ตำรา หนังสือ หรืองานวิจัย
- ท่านได้รับการประเมินเป็น ผศ. รศ. และ ศ. ด้วยการประเมินรอบเดียว
- ปัจจุบันท่านเป็นกรรมการอ่านผลงานของ กพอ. จึงนำประสบการณ์มาเล่าให้ฟังว่า ผลงานแบบไหนจะผ่าน ผลงานแบบไหนจะไม่ผ่าน รวมถึงเทคนิค และเคล็ดลับ
- ปัญหา ๓ ประการของการเขียนหนังสือหรือตำรา ที่มักพบเจอ ได้แก่
- ขาดกำลังใจ ... เข้าใจว่าเป็นเรื่องไกลตัว กระบวนการยุ่งยาก ผ่านยาก
- การใช้และตีความในกฎหมายและระเบียบที่คลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น
- คิดเข้าข้างตนเอง จนไม่ตรงกับความคิดเห็นที่ควรจะเป็น (คิดไม่เหมือนผู้ทรงคุณวุฒิตรวจผลงาน)
- ใครอยากจะเป็น "ศาสตราจารย์" ให้ยึดหลัก ๔ ประการต่อไปนี้
- ทำให้วงการในศาสตร์ของตนยอมรับ
- ทำงานวิชาการด้านที่เลือกให้โดดเด่น (มีงานตีพิมพ์ด้านนั้นโดดเด่น)
- ทำผลงานวิชาการด้านนั้นต่อเนื่อง สม่ำเสมอ โดยเฉพาะงานวิจัย
- ถ่ายทอดองค์ความรู้ของตนเองให้เป็นหนังสือหรือตำราให้ประจักษ์
- ใครตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นศาสตราจารย์ ต้องฝึกตนเองให้มี AQ (Adversity Quotient) ๔ ประการ ได้แก่
- ควบคุมสถานการณ์ให้ได้ เมื่อเกิดปัญหา
- ไม่หนีปัญหา (เข้าไปแก้ไข) ... ให้มองว่า ปัญหามีไว้ให้แก้
- มองว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้
- อดทนต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
- และที่สำคัญ จะได้ตำแหน่งทางวิชาการ ต้องเป็นคนชอบเขียน .... เขียนไม่เป็นก็จบ ลำดับการพัฒนาการเขียนเอกสาร คือ
- เขียนเอกสารประกอบการสอน -> ขอ ผศ.
- พัฒนาเอกสารประกอบการสอน ไปเป็น เอกสารคำสอน -> ขอ รศ.
- พัฒนาเอกสารคำสอน ไปเป็น ตำรา -> ขอ รศ. และ ศ.
- ห้ามเอาเอกสารคำสอน ไปเขียนเป็นหนังสือ ตั้งแต่ ๑ พ.ย. ๖๑ เป็นต้นไป (ระเบียบใหม่)
- ตามกฎหมาย เราสามารถ เขียนเอกสารวิชาการ วิชาเดียวได้ถึง ตำรา ขอ ศ. ได้เลย ไม่จำเป็นต้องเขียน ๒ วิชา (แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่มีใครทำวิชาเดียว)
- วิธีการหาแรงกระตุ้น (แรงบันดาลใจ) ให้ตนเองเขียน
- เอาไว้ใช้ ขอตำแหน่ง ผศ. รศ. ศ.๑๐ และ ศ.๑๑
- ได้เงินค่าตำแหน่ง ฐานเงินเดือนสูงขึ้นด้วย
- ชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ เกียรติยศ (สายสะพาย) ... ชอบตรงที่ท่านบอกว่า เพื่อความภูมิใจของลูกศิษย์
- ได้เผยแพร่ผลงานวิชาการของตนเอง (สร้างองค์ความรู้ใหม่)
เทคนิคการเขียน
- ขอ ผศ. ต้องการเอกสารประกอบการสอนและงานวิจัย ... ไม่ต้องใช้หนังสือหรือตำรา
- จะขอ รศ. ศ. ต้องเข้าใจก่อนว่า "หนังสือ" "ตำรา" แตกต่างกันอย่างไร (เรื่องนี้สำคัญมาก) ท่านแนะไว้ดังนี้
- ตำรา จะต้อง ใช้สอนในวิชา อาจใช้สอนทั้งวิชา หรือส่วนหนึ่งส่วนใดก็ได้ ผู้ยื่นขอตำแหน่งต้องเป็นผู้สอน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สอนทั้งวิชาก็มีสิทธิจะเขียนตำราทั้งวิชา
- ต้องมีเนื้อหาครบถ้วนตามคำอธิบายรายวิชา
- ต้องผ่านการใช้สอนมาแล้วอย่างน้อย ๑ เทอม โดยจะพิจารณาว่าจัดพิมพ์ใด ใช่ก่อนต้นเทอมหรือไม่
- บุคคลอื่น นิสิตนักศึกษาอื่น ที่ไม่ได้เรียนโดยตรง ก็สามารถ "อ่านรู้เรื่อง"
- ต้องมีดัชนีคำศัพท์
- ต้องแสดงหลักฐานว่า ผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิ (มหาวิทยาลัยหรือคณะวิชา อาจแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมาดูแล)
- ต้องได้รับการเผยแพร่ เช่น
- พิมพ์ในโรงพิมพ์
- สำนักพิมพ์ วิธีนี้ สมมติ ๓๐๐ หน้า ๕๐๐ เล่ม ๕ สี ราคาจะอยู่ที่ ๓๐๐,๐๐๐ บาท
- e-book ต้นทุนอยู่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท
- online ต้นทุน ๐ บาท ทั้งนี้ต้องได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการ
- สมมติขอแล้ว "ไม่ผ่าน" คือ "ตก" ให้รีบแก้ไข ปรับปรุง ส่งกลับมาใหม่ให้เจอกรรมการชุดเดิม ...อย่างทิ้ง
- ผลการประเมินตำรา ต้องผ่านเกณฑ์ ตามระดับการขอตำแหน่ง ผศ. ต้องได้ ระดับดี รศ. ต้อง ระดับดีมาก และ ศ. ต้องได้ระดับดีเด่น
- หนังสือ ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับวิชาที่สอน ไม่ต้องใช้ในการสอน ไม่สามารถพัฒนามาจากเอกสารคำสอนได้ รูปแบบเหมือนกันหมด มีดัชนีเหมือนกัน มีข้อแนะนำเพิ่มเติมดังนี้
- ไม่ควรทำแบบ Book Chapter ... ต้องให้ครบถ้วนองค์ประกอบ
- หากได้รับการประเมิน "ตก" ก็ให้รีบแก้ไขเหมือนกัน
- ผศ. รศ. ศ. จะเน้นการประเมินผลงานวิจัยและตำราหนังสือเป็นหลัก ส่วนเอกสารประกอบการสอนและเอกสารคำสอนนั้น เป็นการประเมินโดยใช้กรรมการภายในหน่วยงาน กรรมการสองชุดนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน
- การขอ ศ. นั้น แตกต่าง จากการขอ รศ. ใน ๒ ประเด็นหลักๆ คือ
- การอ้างอิงของผลงานวิจัย และ
- การยอมรับทางวิชาการ (ในวงการ)
- วิธีการพัฒนาจากเอกสารคำสอนไปเป็นตำรา อาจใช้เทคนิคการ "ยุบรวม" และการ "แยกบทเรียน" เช่น
- ในเอกสารคำสอน กำหนด บทที่ ๒ ทฤษฎีพันธุกรรมตามกฎเมนเดลและนอกกฎเมนเดล เมื่อมาเขียนเป็นตำรา ให้แยกออกเป็น ๒ บท
- ในเอกสารคำสอน กำหนด บทที่ ๒ การใช้โปรแกรมในระบบปฏิบัติการดอส เมื่อมาเขียนเป็นตำรา ให้แยกเป็น การใช้โปรแกรมในระบบปฏิบัติการดอสเบื้องต้น และ การใช้โปรแกรมในระบบปฏิบัติการดอสขั้นสูง
- เป็นต้น
- ต้องมีการนำเอางานวิจัยของตนเองและของผู้อื่น แทรกอ้างอิงหรือเป็นตัวอย้างในตำรา
ข้อควรคำนึงในการเขียนตำรา หนังสือ
มีงานวิจัยของ ม.เกษตรฯ บอกว่า การยื่นขอตำแหน่ง รศ. นั้น ส่วนมากงานวิจัยผ่าน แต่ตกหนังสือหรือตำรา ผู้เสนอขอตำแหน่งจำนวน ๒๔๒ คน ส่วนใหญ่ไม่ผ่านเพราะตำราหรือหนังสือ
- ร้อยละ ๕๐ เนื้อหาไม่ต่อเนื่อง ไม่สมบูรณ์ ไม่ลึกซึ้ง และไม่ทันสมัย
- ร้อยละ ๓๐ ไม่มีการสอดแทรกประสบการณ์ที่เกิดจากการค้นคว้าของตนเองเข้าไปในตำรา หรือสอดแทรกน้อยเกินไป
- ร้อยละ ๒๐ ไม่มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือเนื้อเรื่องไม่มีความสำพันธ์กัน และอ้างอิงไม่ถูกต้อง
โดยสรุป ท่านเน้นว่า
- สาเหตุที่ทำให้ "ตก"การประเมินตำราหรือหนังสือ ที่มักพบคือ
- เขียนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ (ร้อยละ ๕๐ ของผลงานที่เคยอ่านมา) ต้องเขียนให้เต็มวิชา มักไปยึดติดกับคำอธิบายรายวิชา ที่ถูกต้อง ต้องไปเอาหนังสือตำราในศาสตร์นั้นๆ มาพิจารณาดู
- จำนวนบทไม่มีการกำหนดตายตัว ๑๐ บท น่าจะกำลังดี ๕ บทแรกให้เป็นทฤษฎี ๕ บทหลังให้เป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎี ซึ่งเป็นหลักการแบบนี้คล้ายกันทุกศาสตร์
- ควรจะมีจำนวนหน้ามากกว่า ๒๐๐ หน้า ควรจะเป็น ๒๕๐-๓๐๐ หน้า ... ตำราที่ท่านยื่น ๖๐๐ กว่าหน้า ....ฮา
- ถ้าเป็นไปได้ ให้เพิ่มอีก ๒ บท โดยเฉพาะสายวิทยาศาสตร์ คือ
- แลป หรือ เทคนิคการปฏิบัติ
- เรื่องน่าสนใจ เรื่องเด่นๆ หรือ การประยุกต์ใช้ที่ใหม่ งานวิจัยใหม่ๆ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะงานวิจัยของตนเองหรือจากงานวิจัยอื่นๆ
- อย่าเขียนตำราคู่มือปฏิบัติการ หรือ ความรู้ขั้นพื้นฐานมากเกินไป เพราะมักจะไม่ผ่าน เช่น
- General Biology
- Principle of Computer
- etc.
- ต้องเลือกหนังสือที่ตนเอง ทั้งรักและสามารถต่อยอดได้ ไม่ใช่รักอย่างเดียว ตอนทำ ผศ. ให้กำหนดสาขาไว้กว้างๆ ก่อน
- งานวิจัยและตำราไม่สอดคล้องกัน ทำให้ไม่สามารถนำเอางานวิจัยมาแทรกเป็นตัวอย่างในตำราของตนเอง จึงตก จะให้ดี คือให้วางแผนล่วงหน้าเลยว่า จะเขียนตำราอะไร จะต้องทำวิจัยอะไร งานวิจัยแต่ละชิ้นจะไปเขียนในตำราตรงไหน
การวางแผนในการขอตำแหน่งวิชาการ
ต่อไปนี้ เป็นคำแนะนำที่ท่านบอกไว้เป็นแนวทางสำหรับผู้มาใหม่
- เริ่มที่ ผศ. (ระดับ ซี ๘) ก่อน ดังนี้
- เขียนเอกสารประกอบการสอนในรายวิชาพื้นฐาน สัก ๘ บท ๒๐๐ หน้า เขียนให้เต็มวิชา
- ใช้งานวิจัยในการขอประเมิน ๒ เรื่อง ควรเป็น TCI ฐาน ๑ หรือ ฐาน ๒ โดยต้องเป็นเจ้าของร้อยละ ๕๐ หรือเป็น Corresponding Author (ผู้นิพนธ์หลัก) ข้อแนะนำ
- หากผลงานนั้น มีชื่อมากกว่า ๒ ชื่อ จะใช้ได้ เพียง ๑ คน ... ใช้ได้ครั้งเดียว
- หากผลงานนั้น มีชื่อ ๕ คน ชื่อสุดท้ายเป็นผู้นิพนธ์หลัก คนอื่นก็ใช้ไม่ได้
- ในระดับขอ รศ. (ระดับ ๙)
- เขียนเป็นเอกสารคำสอน วิชาเฉพาะด้าน (เล่มที่ ๑) ประมาณ ๑๐ บท ๒๕๐ หน้า
- งานวิจัยอย่างน้อย ๓ เรื่อง ในฐานข้อมูล SCOPUS หรือ ISI หรือ อย่างน้อยต้อง TCI ฐาน ๑ และต้องเป็นเจ้าของ ร้อยละ ๕๐ หรือ เป็นผู้นิพนธ์หลัก
- ตำรา (ที่พัฒนามาจากเอกสารคำสอน) ประมาณ ๑๒ บท ๓๐๐ หน้า
- ในแต่ละบทต้องเริ่มด้วยคำนำ และมีบทสรุป
- ในระดับขอ ศ. (ระดับ ๑๐)
- เขียนเอกสารคำสอน วิชาเฉพาะด้าน (เล่มที่ ๒)
- งานวิจัยอย่างน้อย ๕ เรื่อง ในฐานข้อมูล SCOPUS หรือ ISI หรือ อย่างน้อยต้อง TCI ฐาน ๑ และต้องเป็นเจ้าของ ร้อยละ ๕๐ หรือ เป็นผู้นิพนธ์หลัก
- เขียนตำราที่พัฒนาจากเอกสารคำสอนเล่มที่ ๒ และเขียนหนังสือหรือตำราเพิ่มอีก ๑ เล่ม (รวมเป็นต้องมีเอกสารคำสอน ๑ เล่ม ตำรา ๑ เล่ม และหนังสือหรือตำราอีก ๑ เล่ม รวมทั้งหมด ๓ เล่ม)
- ให้ตั้งใจว่า "ในชีวิตนี้ขอให้ได้ส่งสักครั้ง ผ่านไม่ผ่าน ไม่ได้คาดหวังอะไร แต่จะทำให้ดีที่สุด ณ ปัจจุบัน" (ตอนที่ท่านยื่น ศ. ท่านใช้ วุฒิปริญญาโท ยื่น)
กฎ ๒ ข้อ ของการเขียนตำราหรือหนังสือ
- กฎข้อที่ ๑ ต้องรวบรวมหนังสือต้นแบบที่จะนำมาเขียนทั้งภาษาไทยและภาษาสากล แล้วพิจารณากำหนดเนื้อหาให้ครอบคลุม ครบถ้วน สมบูรณ์ และวางโครงเรื่องให้ต่อเนื่อง
- กฎข้อที่ ๒ ในแต่ละบทให้กำหนดหัวข้อย่อยในแต่ละบท ดังนี้
- เริ่มด้วย คำนำ
- จบด้วย บทสรุป
- สองบทสุดท้าย ควรจะเป็นเรื่องของการประยุกต์ที่เข้ากับงานวิจัยของผู้เขียน หรืองานวิจัยเด่นๆ และทันสมัย
- ถ้าจะให้ดีควรมีคำถามท้ายบท (และเฉลยไว้ท้ายเล่ม)
- กฎข้อที่ ๓ ต้องเขียนอย่างต่อเนื่อง โดย
- ไม่จำเป็นต้องเรียงบท บทไหนก่อนก็ได้ เขียนต่อจิ๊กซอไปเรื่อยๆ
- เวลาเช้ามืด จะมีพลังความสดชื่น ทำต่อเนื่อง ๑ เดือนจะเห็นความก้าวหน้า เกิดกำลังใจเอง
- สามารถทำงานอื่นๆ หลายอย่างพร้อมกันได้กับการเขียน แต่ต้องต่อเนื่อง
เทคนิคเคล็ด(ไม่ลับ) เพิ่มเติม
- คำศัพท์ สำคัญมาก ให้ยึดศัพท์ตามราชบัณฑิตกำหนด หรือทับศัพท์ก็ได้ เช่น
- Software ศัพท์ราชบัณฑิตบัญญัติคือ ชุดคำสั่ง (ไม่ใช่ ละมุนภัณฑ์) เขียนทับศัพท์คือ ซอร์ฟแวร์
- Join Stick ศัพท์บัญญัติคือ ก้านควบคุม (ไม่ใช่ แท่งหรรษา) หรือเขียนทับศัพท์คือ จอยสติ๊ก
- ฯลฯ
- การเขียนทับศัพท์ ต้องเขียน "ภาษาพูด" หรือ เขียนเรียนเสียง ไม่ใช่เขียนภาษาอ่าน เช่น
- Michael ถ้าเป็นชื่อผู้ชาย จะเป็น ไมเคิล ถ้าเป็นผู้หญิงเป็น มิเชล แต่ถ้าเป็นคนรัสเซีย ต้องเขียน มิกคาอิล หรือถ้าเป็นคนสวิส ต้องเป็น มิกาเอล
- ฯลฯ
- การเขียนทับศัพท์ ให้เขียนวงเล็บภาษาต่างประเทศ เพียงครั้งแรก ครั้งเดียวเท่านั้น ต่อไปให้ใช้คำภาษาไทย
- ภาษาอังกฤษในวงเล็บต้องตัวพิมพ์เล็กเสมอ ยกเว้นคำเฉพาะ เช่น ชื่อคน ชื่อสถานที่ ฯลฯ เท่านั้น
- ภาษาในภาพทุกภาพ ต้องเป็น ภาษาไทย โดยอาจใช้คำว่า "ดัดแปลงจาก..... "
- ทุกภาพต้องชัดเจน ไม่เบลอ
- ต้องไม่ก๊อปปี้เพลส เด็ดขาด ต้องใช้การเรียบเรียง
- ออกแบบปกให้สวยงาม
จบเท่านี้นะครับ ... จะไปเขียน(รวบรวมและเรียบเรียง)กับเขามั่ง
เทคนิคจาก ศ.ไพโรจน์ ก็น่าสนใจ ใครสนใจอ่านต่อ มีไหมครับ...ฮา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น