วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เทคนิคการเขียนตำราแบบย่อๆ จาก ศ.ดร.ไพโรจน์ ประมวล

ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล (คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มมส.) บรรยายเสริมเติมจาก ศ.อร.อลงกลด แทนออมทอง (อ่านบันทึกต้นๆ ได้ที่นี่และที่นี่) ถึงเทคนิคการเขียนหนังสือหรือตำราเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ ... มีประโยชน์มาก เชิญพิจารณานำไปใช้เถิด



ตอนแรกตั้งใจจะไม่เขียนบันทึกนี้ครับ เพราะการเขียนชื่นชมหัวหน้า จะนำมาซึ่งจิตอกุศลของคนที่ไม่หวังดี  แต่เมื่อมีอาจารย์ที่สนใจเขียนข้อความในความเห็นของบันทึกที่ผ่านมาว่า จะรออ่านเทคนิคจาก ศ.ไพโรจน์  จึงน่าจะคุ้มค่าที่จะนำมาเผยแพร่ (โดยขออนุญาตท่านแล้ว)

เกริ่นนำ
  • ศ.ไพโรจน์ ยื่น ผศ. ด้วยงานวิจัย ๒  เรื่อง (ฐาน ISI) ยื่น รศ. ด้วยตำรา ๑ เล่ม และผลงานวิจัยตีพิมพ์ ๘ ผลงานบนฐาน ISI ทั้งหมด  ยื่นขอ ศ. ด้วยหนังสือ ๑ เล่ม ผลางานวิจัยตีพิมพ์ ๑๐ ผลงานบนฐาน ISI และเป็นผู้นิพนธ์หลักทั้งหมด ... ผ่านการประเมินรอบเดียว 
  • หนังสือที่ประกอบการยื่นเป็นเรื่อง แมลงลิ้นดำในเมืองไทย เป็นผลจากการทำวิจัยต่อเนื่องยาวนาน และผลการวิจัยบางอันเป็นการค้นพบใหม่ของโลกด้วย ... อาจารย์ไพโรจน์บอกว่า เริ่มเขียนตั้งแต่ตอนเรียนจบปริญญาเอก  ตามคำของอาจารย์ที่ปรึกษาผู้ชี้แนะ (ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้)

ควรจะเขียนหนังสือหรือตำรา

  • เอกสารคำสอนยื่นได้ครั้งเดียว ดังนั้น ต้องทำเอกสารคำสอน ๒ วิชา วิชาหนึ่งยื่น รศ. อีกวิชายื่น ศ. 
  • ควรจะเขียนหนังสือหรือตำรา ... ตอบว่า
    • ขึ้นอยู่กับความนิยมของสาขาวิชาที่ยื่นขอ เช่น 
      • ในสาขาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จะนิยมและยอมรับตำรามากกว่า 
      • ในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ว่า เขียนหนังสือดีกว่า 
    • ควรเลือกเขียนในสิ่งที่เราเชี่ยวชาญที่สุด โดยพิจารณาว่า งานวิจัยที่เรามีนั้นเหมาะที่จะแทรกไว้ในตำรา หรือสามารถนำมาเขียนเป็นหนังสือ  เช่น 
      • ถ้างานวิจัยนำมาเขียนเป็นหนังสือได้เพียง ๓๐ - ๔๐ หน้า ก็ไม่ควรจะเขียนหนังสือ เป็นต้น .. หนังสือท่านยื่น ศ. หนาถึง ๓๐๐ กว่าหน้า
      • ถ้างานวิจัยค่อนข้างกว้างขวาง เกี่ยวข้องกับหลายๆ สาขาวิชา อาจนำมาเขียนเป็นตำราจะดีกว่า 
ข้อแนะนำเกี่ยวกับงานวิจัย
  • สำหรับการขอ รศ. หรือ ศ. อย่าเน้นจำนวนอย่างเดียว โอกาสที่จะผ่านนั้นน้อยมาก  การเน้นจำนวนอย่างเดียวในที่นี้หมายถึง การแยกผลวิจัยของตนเองออกเป็นส่วนย่อยๆ แล้วตีพิมพ์เป็นผลงานย่อยๆ หลายเรื่อง  บางคนส่งไป ๒๐ เรื่อง อาจจะผ่านเพียงเรื่องเดียวก็เป็นได้ 
  • วิธีการพิจารณาผลงานวิจัย คือ 
    • ๑ ดูว่าตีพิมพ์ที่ไหน คนในวงการนั้นๆ ยอมรับหรือไม่ อยู่ในฐานข้อมูลที่รู้จักหรือไม่ 
    • ๒ ดูว่าท่านเขียนอะไร เกี่ยวข้องกับตำราหรือไม่ โดยดูอย่างละเอียด
    • ๓ ผลงานวิจัยที่ดี ควรมีลักษณะผลงานที่ทำอย่างบูรณาการ คือ ใช้เครื่องมือหรือเทคนิคที่หลากหลาย เพื่อหาคำตอบใดคำตอบหนึ่ง  คือถือเป็นผลงานวิจัยไฮไลท์ ซึ่งควรจะมีแบบหนึ่งสัก ๑ หรือ ๒ เรื่อง (คือ มีงานวิจัยที่โดดเด่น)


เทคนิคการเขียนตำราหรือหนังสือ
  • สำคัญที่สุดคือ ต้องใส่ผลงานวิจัย (ของทั้งตนเองและผู้อื่น) เข้าไปในตำรา (แทรกไว้ในตำรา) ได้มากน้อยแค่ไหน  ... ถ้าไม่มี หรือมีน้อย ก็ไม่ผ่าน 
  • การเขียนตำรา ต้องไม่ใช่การแปล แม้แต่การแปลจากผลงานวิจัยของตนเอง  ต้องเป็นการเรียบเรียง ... การแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยนั้นใช้ไม่ได้ ... ต้องเขียนใหม่ให้เป็นภาษาไทย
  • ภาพที่ใช้ในตำรา ต้องมีคุณภาพดี ชัดเจน และต้องเขียนรายละเอียดเพิ่มเติม (ไม่ใช่มีแต่รูป) ... รูปภาพต้องอธิบายตัวมันเองได้
  • มีความสม่ำเสมอในการใช้ภาษา  เช่น  ใช้คำใดในบทที่ ๑ ในบทที่ ๑๐ ก็ต้องใช้คำเดิม ฯลฯ 
  • ศัพท์เฉพาะต้องเป็นศัพท์บัญญัติจากสำนักราชบัณฑิตยสถานเท่านั้น 
  • ศัพท์เฉพาะคำใด ที่ไม่มีบัญญัติไว้ แนะนำให้ใส่ไว้เป็นฟุตโน๊ตในหน้านั้นๆ
  • เขียนเสร็จแล้ว ควรส่งให้คนอื่นอ่านก่อน เช่น ให้เพื่อนอ่าน ฯลฯ 
  • ในคำนำ ต้องบอกให้ชัดว่า ตำราเล่มนี้ ใช้ในการสอนวิชาใด 
  • อย่ายึดเนื้อหาเฉพาะคำอธิบายรายวิชาเท่านั้น แต่ต้องดูจาก Textbook มาตรฐาน ที่นิยมใช้กันทั่วโลก ที่ใช้กันทั่วไป ... ผู้ทรงฯ จะไม่สนใจคำอธิบายรายวิชา 
  • อย่าเขียนตำราตามตำราเล่มอื่น นำตำราเล่มอื่นมาดูแนวทางการเขียนได้ แต่ตอนเขียนต้องเขียนตาม Review Articles เพราะจะมีองค์ความรู้ใหม่ และจะทำไม่ให้ซ้ำกับตำราเล่มอื่น  
    • ให้เรียบเรียงจาก Review Articles  (แนะนำ Anual Review ต่างๆ )
    • แต่อย่าแปลจาก Review Articles
    • ควรใช้ Review Articles จากวารสารที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับ
  • องค์ประกอบในแต่ละบท 
    • ต้องมีบทนำ หรือมีการเกริ่นนำ ... ไม่ต้องจั่วหัวคำว่า "บทนำ" ก็ได้ 
    • และมีหัวข้อย่อยตามความเหมาะสม ควรจะมีหลายหัวข้อย่อย
    • มีสรุปตอนท้าย 
    • ถ้าเป็นตำราให้มีคำถามท้ายบท (หนังสือไม่ต้องมีคำถามท้ายบท)
    • เอกสารอ้างอิงสามารถเอาไว้หลังบทหรือหลังเล่มก็ได้ แล้วแต่ชอบ...
  • เปิดขึ้นหน้าของบทใหม่ อาจให้มีรูปและคำอธิบายความคิดรวบยอดของบทนั้น เพื่อสื่อถึงให้เห็นความสำคัญของบท 
  • ทุกครั้งที่เริ่มเขียนบทใหม่ ให้มีเกริ่นนำเสมอ
  • โดยหลักการ เนื้อหาในแต่ละหัวข้อ (บทหนึ่งมีหลายหัวข้อ) ควรจะมีองค์ประกอบ ดังนี้ 
    • ความรู้ ทฤษฎีพื้นฐาน 
    • แนวคิดสมัยใหม่ในหัวข้อนั้น (ได้จาก Review Articles)
    • ตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (งานวิจัยของตนเองหรือของคนอื่นก็ได้) 
      • ในกรณีที่นำงานวิจัยของคนอื่น ให้เลือกเอาจากวารสารดีๆ มาใส่เลย
      • ถ้าไม่มีงานวิจัยของตนเองในเรื่องใดเลย โอกาสผ่านจะน้อยมาก 
      • อย่าเอาตัวอย่างจากหนังสือเล่มอื่นมาใส่ 
  • ควรใส่รูป ภาพ ไดอะแกรม อินโฟกราฟฟิคต่างๆ ใส่ในตำรา ... และให้ดูเรื่องลิขสิทธิ์ให้ดี ทั้งภาพ ตัวอย่าง กราฟ ไดอะแกรม หรืออะไรต่างๆ 
ผมขออนุญาตในเบื้องต้นแล้วสำหรับการบอกต่อแนวปฏิบัติ BP เหล่านี้ ซึ่งท่านก็ยินดีที่จะให้เผยแพร่ไปสู่ว่าที่ รศ. หรือ ศ. รุ่นใหม่ ให้มหาวิทยาลัยและประเทศไทยเจริญก้าวหน้าต่อไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น