สิ่งที่ผู้จะขอตำแหน่งวิชาการต้องเรียนรู้ (ไม่รู้ไม่ได้)
อาจารย์มหาวิทยาลัยทุกคน (ทั้งข้าราชการและพนักงานวิชาการ ใช้เกณฑ์เดียวกัน (พนักงานวิชาการยังไม่มีระเบียบของตนเอง)) ต้องเรียนรู้ก่อนการยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ ท่านเน้นว่า จริงๆ ควรจะรู้ก่อนลงมือทำงานวิชาการ เพื่อให้สามารถวางแผนการทำผลงานวิชาการอย่างเป็นระบบ สมบูรณ์ และต่อเนื่อง ทำอย่างมีเป้าหมายและถูกกติกาที่ ก.พ.อ. กำหนดไว้
- ต้องรู้ว่าผลงานวิชาการที่ใช้ในการขอตำแหน่งวิชาการต่อไปนี้ คืออะไร ลักษณะแตกต่างกันอย่างไร และควรทำ ควรใช้เมื่อใด และต้องเผยแพร่อย่างไร ได้แก่
- เอกสารประกอบการสอน
- เอกสารคำสอน
- งานวิจัย
- หนังสือ
- ตำรา
- งานบริการสังคม
- อื่นๆ ๑๐ ประการ
- บทความวิชาการ ... ให้ระวัง เพราะ ใช้ได้เฉพาะการขอ ผศ. เท่านั้น และต้องได้รับผลประเมินในระดับดีมาก ( ระดับดีเฉยๆ ไม่พอ)
- ต้องรู้ว่า จะต้องยื่นผลงานอะไร จำนวนเท่าไหร่ ผลงานแต่ละประเภทเผยแพร่ที่ไหนเขาถึงจะยอมรับให้ผ่าน ... อ่านต่อไปครับ
- ผลงานวิชาการที่ใช้ในการขอตำแหน่งวิชาการ แบ่งได้เป็น ๔ กลุ่ม (เอกสารแนบท้ายประกาศฯ) ได้แก่
- กลุ่มที่ ๑ งานวิจัย มีอยู่ ๓ แบบ (ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่เราคิดกันในปัจจุบัน) ได้แก่
- รายงานวิจัยที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์และชัดเจนตลอดกระบวนการวิจัย ... ถ้าจะยื่นด้วยวิธีนี้ ต้องมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทีไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนั้นมาตรวจรับรองก่อน
- บทความวิจัย (วิจัยตีพิมพ์)
- หนังสือโมโนกราฟ (monograph) ที่ใช้งานวิจัยมาประกอบการเขียน ... ทำเสร็จเผยแพร่ทางเว็บไซต์ได้เลย
- กลุ่มที่ ๒ ผลงานวิชาการในลักษณะอื่นๆ .... (อื่นๆ นอกจากงานวิจัย แสดงว่า งานวิจัยสำคัญมาก หรือความหมายคือ เป็นอาจารย์ต้องทำงานวิจัย) มีทั้งหมด ๑๐ ประการ (อ่านคำนิยามในประกาศ ก.พ.อ.ฉบับล่าสุดที่นี่) ได้แก่
- ผลงานวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม
- ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการเรียนรู้
- ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ
- กรณีศึกษา (Case Study)
- งานแปล
- พจนานุกรม สารานุกรม นามานุกรม และงานวิชาการในลักษณะเดียวกัน
- ผลงานสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- ผลานสร้างสรรค์ด้านสุนทรียะ ศิลปะ
- สิทธิบัตร
- ซอฟต์แวร์
- กลุ่มที่ ๓ ผลงานวิชาการรับใช้สังคม ... ต้องจัดทำเอกสาร เช่น คู่มือ ๑ เล่ม หรือรายงานฉบับสมบูรณ์ ฯลฯ ให้ผู้ทรงที่อ่านเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาใน ๗ ประเด็น ต่อไปนี้
- วิเคราะห์สภาพก่อนทำ
- การมีส่วนร่วมและการยอมรับของสังคมเป้าหมาย
- การออกแบบ หรือ การพัฒนา หรือ แนวคิด หรือ กระบวนการ
- การคาดการณ์สิ่งที่จะตามมา
- การประเมินผลลัพธ์โดยการติดตามสิ่งที่เกิดขึ้น
- การสรุปแนวทางการธำรงรักษา หรือ การขยายผล หรือ การปรับปรุงพัฒนา
- กลุ่มที่ ๔ ตำรา หนังสือ บทความวิชาการ .... ท่านย้ำมาก ๆ ว่า บทความวิชาการ ใช้ได้เฉพาะกับการขอ ผศ. เท่านั้น
- ต้องรู้ว่า ฐานข้อมูลผลงานวิจัยระดับนานาชาติ ๑๙ ฐาน ที่ ก.พ.อ. รองรับ เชิญพิจารณาจาก สไลด์ของท่านเถิด หรือจะสืบค้นก็ง่ายมาก
เกณฑ์การขอตำแหน่งทางวิชาการ (เดิม)
- เกณฑ์เก่า กำหนดไว้ดีมาก คล้ายๆ การสอบเอนทรานซ์สมัยก่อน สอบรอบเดียวจบเลย ไม่เปิดโอกาสให้แก้ไขเหมือนเกณฑ์ใหม่ .... ไม่ขอลงละเอียดเพราะจะเลิกใช้แล้ว
- การขอ ผศ. ตามเกณฑ์เก่า แต่ก่อนสามารถใช้ตำราเล่มเดียวได้ แต่เกณฑ์ใหม่ไม่ได้ หรือใช้บทความวิชาการ หรือ บทความวิจัย รวม ๒ เรื่อง น้อยที่สุดที่ท่านเคยเห็นคือส่งบทความวิชาการเรื่องเดียว ผ่านไม่ผ่าน ให้ท่านใช้วิจารณาญาณเอง...ฮา
- การขอ รศ. เกณฑ์เก่า ต้องมีตำราหรือหนังสือ .... ผมชอบมากๆ เมื่อท่านบอกว่า แม้เกณฑ์จะเปลี่ยนไป แต่ผู้ทรงคุณวุฒิไม่เปลี่ยนใจ ....ฮา แหลมคมๆ ลุ่มลึกๆ ... (ท่านผู้อ่านเข้าใจไหมครับ)
- การขอ ศ. เกณฑ์เก่า เน้นไปที่ตำรา แต่ในชีวิตของท่าน ท่านพบเพียง ๒ ท่านเท่านั้น ที่ส่งเฉพาะผลงานวิจัยอย่างเดียว ท่านหนึ่งคือ ศ.จากจุฬาฯ ท่านส่ง ๕๐ ผลงาน
เกณฑ์การขอตำแหน่งทางวิชาการ (เกณฑ์ใหม่)
จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ พ.ย. ๒๕๖๑ นี้เป็นต้นไป จะมีศาสตราจารย์ดูแลสายศาสตร์ละ ๑๐ ท่าน มนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ นำโดย ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโน (ถ้าท่านจำไม่ผิด) และสายวิทยาศาสตร์นำโดย ศ.เทียนฉาย กีระนันท์ อดีตอธิการบดีของจุฬาฯ ชุดนี้ประชุมกันประมาณ ๒๐ ครั้ง จนได้กฏหมายนี้
ท่านเล่าว่า กฎหมายนี้มีจุดมุ่งหมายอยู่ ๓ อย่าง ได้แก่
- ทำให้เข้าสู่ตำแหน่งวิชาการได้ง่ายขึ้น ในที่นี้ท่านหมายถึง ชัดเจนขึ้น ใช้เวลาน้อยลง ดูง่ายขึ้น คือ
- ปรับข้อกำหนดประสบการณ์การสอนของอาจารย์วุฒิ
- ป.ตรี จาก ๙ ปี เหลือ ๖ ปี
- ป.โท จาก ๕ ปี เหลือ ๔ ปี
- ป.เอก จาก ๒ ปี เหลือ ๑ ปี
- โดยมีข้อกำหนดว่าต้องพ้นระยะเวลาทดลองการปฏิบัติงาน
- ปรับระยะเวลาของ ผศ. ไปเป็น รศ. จาก ๓ ปี เหลือ ๒ ปี
- ทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น ... หากมองอีกมุมคือ จะซับซ้อนขึ้น เชิญพิจารณาจากสไลด์และคำอธิบายด้านล่าง
- สำหรับการขอ ผศ. (ดาวน์โหลด แบบฟอร์มการยื่นขอ (แบบ ก.พ.อ. ๐๓ ได้ที่นี่))
- ผศ. รุ่นใหม่ ไม่ต้องมีตำราหรือหนังสือก็ได้ (ไม่แนะนำให้ทำตำราเพราะยากกว่าเยอะ) ให้ใช้ผลงานวิชาการ ๒ ชิ้น ที่มีคุณภาพระดับดี (คืออยู่ใน TCI ฐาน ๑ ฐาน ๒ คือต้องมีการออกวารสารนั้นต่อเนื่อง ๖ เล่ม ... ผมเข้าใจว่าเล่มที่ ๗ เป็นต้นไปถึงจะใช้ได้) ท่านย้ำให้ระวัง จะไปตีพิมพ์เสียเปล่าใน ๖ เล่มแรก)
- ท่านยกตัวอย่างอาจารย์ท่านหนึ่ง ทำวิจัยไป ๘ ปี หมดไปหลายแสน ได้งานวิจัยมา ๔ เรื่อง แต่ใช้ได้เพียงเรื่องเดียว เพราะอีก ๓ เรื่อง ไปที่พิมพ์ใน ๖ เล่มแรกนั้น
- และต้องมีจำนวนอย่างน้อย ดังต่อไปนี้ ... ให้เลือกเอาว่าถนัดจะทำผลงานแบบใด
- ผลงานวิจัย ๒ เรื่อง (ศ.ท่านแนะนำให้ทำอันนี้)
- ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ผลงานแบบอื่นๆ ๑ เรื่อง
- ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ผลงานรับใช้สังคม ๑ เรื่อง ... (อันนี้...หิน)
- ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ตำราหรือหนังสือ ๑ เล่ม ...(อันนี้ โคตรหิน)
- ถ้าเป็นผลงานในการประชุมวิชาการ ต้องมี Full Paper เท่านั้น มีเฉพาะ Abstract ใช้ไม่ได้ และผลงานนั้นก็ห้ามนำมาเขียนตีพิมพ์ที่อื่นด้วย ถืือว่าได้เผยแพร่แล้ว ดังนั้น ต้องดูให้ดี โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาที่ต้องมีผลงานตีพิมพ์เพื่อจบระดับบัณฑิตศึกษา มีกรณีตัวอย่างจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ถึงขั้นต้องทำ Thesis ใหม่
- ถ้ายื่นแล้วตก งานวิจัยนั้นต้องตกไป ห้ามนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ นำมาแก้ไขโดยเด็ดขาด ... งานวิจัยสามารถยื่นประเมินได้เพียงครั้งเดียว
- สำหรับาการขอ รศ.
- ต้องเป็น ผศ. มาอย่างน้อย ๒ ปี ... อันนี้ต้องระวังให้ดี เพราะ
- เกณฑ์ใหม่ กำหนดว่า ผลงานที่จะใช้ได้ ต้องนับหลังจากได้ ผศ. แล้วเท่านั้น
- ถ้ายื่นผ่านรอบเดียว ไม่มีแก้ไข ให้ยึดวันที่ผ่านกรรมการวิชาการของมหาวิทยาลัย
- ถ้ายื่นผ่านรอบเดียว แต่มีแก้ไข ต้องยึดวันที่ส่งฉบับแก้ไขให้กรรมการสภาวิชาการของมหาวิทยาลัย
- ก็ให้คิดเอาเองว่า หลังจากยื่น ผศ. แล้วควรจะตีพิมพ์ผลงานช่วงใด
- แต่ไม่ต้องตกใจ เนื่องจากมีการร้องเรียนจาก สภาคณาจารย์ และที่ประชุมอธิการบดี จึงนำมาสู่การประกาศเลื่อน การนับแบบนี้ออกไป ๓ ปี (เริ่มใช้จริงๆ วันที่ ๑ พ.ย. ๒๕๖๔)
- รศ. รุ่นใหม่ มี ๒ วิธี มีหรือไม่มีตำราหรือหนังสือก็ได้
- วิธีที่ ๑ มีตำรา และผลงานวิจัยมีคุณภาพดี (ISI Quatile 3 หรือ 4 หรืออย่างน้อย TCI ฐาน ๑) ที่มีจำนวน ตามตัวเลือกนี้
- ผลงานวิจัย ๒ เรื่อง (ท่านแนะนำแบบนี้)
- ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ผลงานอื่น ๑ เรื่อง
- ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ผลงานรับใช้สังคม ๑ เรื่อง
- วิธีที่ ๒ ไม่มีตำรา และมีผลงานวิจัยในระดับดีมาก (คือ ISI Quatile 1 หรือ 2 หรืออย่างน้อยต้อง 3 หรือ 4) และมีจำนวน ตามตัวเลือกต่อไปนี้
- ผลงานวิจัย ๓ เรื่อง ดีมาก ๒ เรื่อง ดี ๑ เรื่อง
- ผลงานวิจัยดีมาก ๒ เรื่อง ผลงานอื่น ๑ เรื่อง
- ผลงานวิจัยดีมาก ๒ เรื่อง ผลงานรับใช้สังคม ๑ เรื่อง
- ผมฟังว่า... ท่านไม่แนะนำวิธีที่ ๒ นะครับ ท่านแนะนำว่าน่าจะมีตำรา
- เนื่องจากผลงานวิจัยยื่นได้เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ตำราสามารถนำมาแก้ไขได้ จึงทำให้มีข้อคิด ดังนี้
- ถ้ายื่นผลงานไปโดยไม่มีตำรา ถ้าไม่ผ่าน ผลงานวิจัยเหล่านั้นจะไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านจะดูภาพรวม แล้วประเมินว่าผ่านหรือไม่ สมมติยื่นไป ๓ บทความวิจัย แล้วไม่ผ่าน จะมีผลงานที่ใช้ไม่ได้อีก ๒ บทความทันที เก็บไว้ใช้ได้เพียง ๑ บทความ ต้องเริ่มทำวิจัยใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปี
- แต่หากยื่นไปโดยใช้ตำราประกอบ ส่วนใหญ่พบว่า งานวิจัยผ่านแต่ตกตำรา แต่แม้จะตกตำรา แต่สามารถนำมาแก้ไข รีบยื่นเข้าไปใหม่ จะได้กรรมการชุดเดิม โอกาสที่จะผ่านสูงกว่า
- ผู้ทรงจะมี ๓ คน ต้องผ่านอย่างน้อย ๒ คนจึงจะผ่าน ผู้ทรงมักมีความหลากหลาย ไม่สามารถไปยุ่งเกี่ยวได้ ถือว่าเป็นอิสระทางวิชาการ จะเห็นว่าจะบอกผลเป็นผลงานๆ ว่าผลงานนั้นผ่านหรือตก แต่บ่อยครั้งที่ผู้ทรงให้เหตุผลว่า "ผลงานวิชาการไม่เพียงพอ" โดยไม่บอกอะไร ... ซึ่งหมายถึง ตกทุกผลงานนั่นเอง
- โอกาสทอง ของนักวิจัยคู่ (บัดดี้วิจัย) เนื่องจากข้อกำหนดของสัดส่วนผลงานที่สามารถยื่นได้เป็น ร้อยละ ๕๐ ดังนั้น หากมีผู้แต่งคู่ จึงสามารถใช้ยื่นได้ทั้ง ๒ คน จึงเป็นโอกาสดีของคนฉลาด ดังนี้
- ถ้าคนที่ ๑ ยื่นไปก่อน ๒ บทความ แล้วผ่านระดับดีมากทั้งหมด คนที่ ๒ สบาย... ไม่ต้องกังวลว่าจะตกผลงานวิจัย แค่มุ่งไปทำตำราอย่างเดียว
- ทำวิจัย ๒ คน ย่อมดีกว่าทำวิจัยคนเดียว จากที่ทำคนเดียวได้ปีละ ๑ ผลงาน ผสานกันจะได้ปีละ ๒ ผลงาน นั่นเอง
- สำหรับขอ ศ. (สายวิทยาศาสตร์)
- ต้องเป็น รศ. อยู่ ๒ ปี โดยมีกติกาเรื่องการนับเหมือนกับที่ว่าไปในการ ขอ รศ.
- ศ. รุ่นใหม่ ยื่นได้ ๒ วิธี จะมีหรือไม่มีตำรา/หนังสือ ดังนี้
- วิธีที่ ๑ มีตำรา ๑ เล่ม และมีผลงานที่มีคุณภาพดีมาก (ต้องอยู่ใน ISI Quatile 1 หรือ 2 หรืออย่างน้อย 3 หรือ 4) และจำนวน ตามตัวเลือกดังนี้
- ผลงานวิจัย ๕ เรื่อง
- ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ผลงานอื่น ๕ เรื่อง
- ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ผลงานรับใช้สังคม ๕ เรื่อง
- วิธีที่ ๒ ไม่มีตำรา แต่มีผลงานวิจัยมีคุณภาพดีเด่น (ต้อง ISI Quatile ที่ 1 หรือ 2) และมีจำนวน ตามตัวเลือกนี้
- ผลงานวิจัย ๕ เรื่อง
- ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ผลงานอื่น ๕ เรื่อง
- ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ผลงานรับใช้สังคม ๕ เรื่อง
- เช่นเดียวกันครับ... ท่านไม่แนะนำให้ส่งโดยไม่ใช้ตำรา
- ทำให้ได้มาตรฐานมากขึ้น เป็นสากลมากขึ้น ... ซึ่งท่านบอกว่า ยากขึ้น ยากมาก ...ฮา สิ่งที่เปลี่ยนไป และทำให้ยากขึ้นมีดังนี้
- ขอ ผศ. ต้องใช้งานวิจัยอย่างน้อย ๑ เรื่อง เกณฑ์เดิมไม่ใช้ก็ได้
- ความใหม่ของงานวิจัย ทำให้ยากขึ้น ละต้องวางแผนให้ดี
- ขอ ผศ. ต้องใช้งานตีพิมพ์ภายใน ๓ ปี
- ขอ รศ. ต้องเป็นงานหลังจากได้ ผศ.
- หากยื่นไปแล้วมีแก้ไข ต้องนำมาเผยแพร่ใหม่
- ขอ ศ. ต้องเป็นงานหลังจากได้ รศ.
- เอกสารประกอบการสอนต้องครบ ๓ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ ๔๕ ชั่วโมง หากไม่ได้สอนวิชาเดียวต้องเขียนหลายรายวิชา รวมกันให้ได้ตามเกณฑ์
- การมีส่วนร่วมในงานวิชาการ
- ถ้าเป็นผลงานวิจัย
- ต้องร้อยละ ๕๐ หรือ
- ถ้าเป็นผู้นิพนธ์หลัก (corresponding author) และต้องมีผลงานที่สอดคล้องรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐
- งานวิจัย ๑ ชิ้น ใช้ได้เพียง ๑ คน ยกเว้น นิพนธ์สองคน ๆ ละครึ่ง
- ถ้าเป็นผลงานอื่น ต้องเป็นผู้ดำเนินการหลักและมีส่วนร่วมอย่างน้อยร้อยละ ๕๐
- ในกรณีเป็นชุดโครงการ ผู้ขอต้องเป็นผู้ดำเนินการหลักในบางโครงการ อย่างน้อย ๑ เรื่อง และมีปริมาณงานไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐
- ต้องมีการลงนามตามแบบฟอร์ม (ดูเอกสารแนบท้ายประกาศฯ) หากไม่สามารถลงนามได้ให้หารเฉลี่ย หากลงนามไม่ได้บางคน ต้องให้หัวหน้าภาคฯ หรือคณบดีลงนาม
- เกณฑ์ใหม่ ทำให้สามารถฟ้องร้องและถูกลงโทษได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะการคัดลอกผลงาน (plagiarism) แม้กระทั่งการคัดลอกผลงานของตนเอง
- ลงโทษหนักขึ้น คือ เปลี่ยนระยะเวลาห้ามยื่นขอตำแหน่งจากไม่เกิน ๕ ปี เป็น ไม่น้อยกว่า ๕ ปี แต่ไม่เกิน ๑๐ ปี แม้จะยื่นเปิดโอกาสให้ยื่นอุธรณ์ได้ ๒ ครั้ง ภายใน ๙๐ วัน แต่การยื่น ต้องยืนผ่านมหาวิทยาลัยไป กพว. ซึ่งจะไปที่ผู้ทรงฯ ชุดเดิม .... ท่านจะมีชื่อเสีย(ง) ทั้งระดับสภามหาวิทยาลัยและระดับประเทศ
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอ่านมากขึ้นได้
- จากเดิม วิธีปกติ ๓ คน เป็น ๓-๕ คน
- จากเดิม วิธีพิเศษ ๕ คน เป็น อย่างน้อย ๕ คน
- โดย ผศ. และ รศ. มติเกินกึ่งหนึ่ง และผลงาน ดีมาก ส่วน ศ. ต้องได้มติ ๔ ใน ๕ ผลงานต้องดีเด่น
- เกณฑ์ใหม่ ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการการทำวิจัยของสถาบันในกรณีที่ทำวิจัยในคนหรือในสัตว์
- เกณฑ์ใหม่ ต้องกำหนดชื่อสาขา (ที่มีอยู่ตามที่ ก.พ.อ. กำหนด ดูประกาศฯ)
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยสามารถกำหนดเกณฑ์ของตนเองได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ของ ก.พ.อ.
ท่านอาจารย์อลงกลด แนะนำว่า
- กรณีที่ต้องเลือกสาขา ให้ยึดเอาสาขาวิชาที่ตนเองเชี่ยวชาญและได้สอนเป็นสำคัญที่สุด ไม่ใช่เลือกตามคณะ-วิทยาลัยที่สังกัด
- ขอ ผศ. ให้ใช้ผลงานวิจัย ๒ เรื่องดีที่สุด หากใช้ตำรา ถ้ามีการแก้ไข จะเป็นปัญหาการนับเวลาที่จะช้าออกไปอีก คือต้องนับหลังจากวันแก้ไข
- การขอ รศ. ควรยื่นผลการวิจัยอย่างน้อย ๓ เรื่อง
ย้ำอีกครั้งครับ แม้เกณฑ์จะเปลี่ยนไป แต่ "จิตใจ" ของผู้ทรงฯ ไม่เปลี่ยน .....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น