วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561

นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๕: โรงเรียนกมลาไสย ครั้งที่ ๓

วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๑ ทำหน้าที่ "อาจารย์" กับการนิเทศนิสิตฝึกสอน ๒ คนที่โรงเรียนกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เป็นครั้งที่ ๓ (อ่านครั้งที่ ๑ ที่นี่ และครั้งที่ ๒ ที่นี่)  ผม AAR ว่า นิสิตมีพัฒนาการด้านการ "เป็นครู" เพิ่มขึ้นทุกด้าน ดังจะพรรณาว่าต่อไปนี้

คนที่ ๑ 

หน่วยการเรียนรู้: พลังงานความรู้ เรื่อง ความร้อนกับการขยายตัวหรือหดตัวของสสาร ผู้สอนคือ นางสาวเจตนาพร บุญเติม ระยะเวลา ๒ ชั่วโมง






จุดเด่น

  • การเลือกสื่อ ทั้งสื่อที่ใช้นำสู่บทเรียนที่เป็นคลิปวีดีโอและสื่อพาวเวอร์พอยท์ที่ใช้ในการดำเนินกระบวนการสอน ... ลองชมสื่อด้านล่างนี้ที่ใช้ในการนำเข้าสู่บทเรียน 

    • เป็นสื่อที่ตรงประเด็นกับเนื้อหาที่ต้องการจะสอนมาก ๆ 
    • เป็นสื่อที่ใกล้ตัว เป็นเรื่องในชีวิตจริง เป็นเหตุการณ์ปัญหา ที่สามารถอธิบายได้โดยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่กำลังจะเรียน
    • เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับคนทั่วไปในสังคม ... สามารถบูรณาการสอนได้มากมายทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ ... ครูที่ดีจะ "สอนคน" ไม่ใช่ "สอนวิชา" ดังนั้น การเชื่อมโยงชีวิตเข้าสู่ห้องเรียนเป็นเรื่องจำเป็น 
  • การควบคุมหรือจัดการชั้นเรียนทำได้ดีขึ้นมาก ทำให้บรรยายกาศในชั้นเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้มากขึ้นมากทั้งด้านปริมาณนักเรียนที่สนใจเรียนและคุณภาพการเรียนที่แสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ที่แสดงการได้ฝึกคิด ฝึกทำ 
  • การเตรียมสอนทำได้ดีขึ้น ทั้งแผนการสอน การสอนดำเนินการตามแผน 
  • มีการสร้างเงื่อนไขของชั้นเรียนบ้างแล้ว มีการให้นักเรียนที่มาสายยืนรอ และทำกิจกรรมเพื่อให้ทบทวนถึงการทำผิดกติกาของตนเอง และตั้งใจจะไม่ทำอีก


จุดที่ควรพัฒนา

  • ต้องมีการสร้างเงื่อนไขของชั้นเรียนให้ชัดเจนขึ้นอีก และรักษาเงือนไขนั้นอยากเคร่งครัด เป็นกติกา เช่น สำหรับคนมาสาย สำหรับคนไม่ส่งงาน  ฯลฯ
  • ควรมีการเน้นย้ำ (บ่อย ซ้ำ ย้ำ ทวน) และเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้กับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ๔ ขั้นตอน คือ ตั้งปัญหา ตั้งสมมติฐาน พิสูจน์สมมติฐาน และสรุปอภิปรายผลเสมอ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะกระบวนทางวิทยาศาสตร์ทุกครั้งที่สอน โดยเฉพาะการสอนที่มีกิจกรรมการทดลอง (ดังเช่นวันนี้)
  • "ใช้ไมค์ให้เป็นประโยชน์" ดีมากแล้วที่นำไมค์มาแก้ปัญหาเรื่องเสียงของผู้สอน แต่คำแนะนำของอาจารย์เรื่องการใช้ "กระบวนการกลุ่ม" ในการนิเทศครั้งที่ ๑ ยังไม่ได้พัฒนามากนัก ขอเรียกว่า "ไมค์ช่วยครู" ไม่ใช่ "ไมค์ช่วยเด็ก" ให้ได้เรียนรู้มากขึ้น  ตัวอย่างการใช้ไมค์ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนมากขึ้น ทำได้ดังนี้ 
    • ใช้ "กระบวนการกลุ่ม" สร้างการมีส่วนร่วมและฝึกการทำงานเป็นทีม โดยให้คัดเลือกหัวหน้ากลุ่ม โฆษก ฯลฯ  และมอบหมายหน้าที่ว่า ใครต้องทำอะไรในกิจกรรมนี้ เช่น 
      • หัวหน้ากลุ่มให้มอบหมายงานให้สมาชิกแต่ละคน 
      • โฆษก ต้องเป็นผู้นำเสนอคำตอบหรือความคิดเห็นของกลุ่ม 
      • ฯลฯ
    • มอบหมายงานย่อย ๆ ทีละขั้น ๆ  ให้แต่ละกลุ่มระดมสมอง ช่วยกันหาคำตอบ  แล้วเวียนให้แต่ละกลุ่มนำเสนอ โดยใช้ไมค์ 
    • ฯลฯ 
  • "ต้องไม่เฉลยเร็ว" ในการสอนคราวนี้ ยังไม่สามารถเรียกได้ว่า "นักเรียนเป็นศูนย์กลาง" ยังคงเป็น "ครูเป็นศูนย์กลาง" ของกิจกรรมการเรียนการสอน  เพราะผู้สอนตั้งคำถามและเฉลยคำถามนั้นโดยไม่ได้ให้เวลาผู้เรียนสร้างการเรียนรู้หรือสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ... อย่าลืมว่า หลักการที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วคือ ผู้เรียนจะได้เรียนเมื่อเขาได้คิดหรือทำด้วยตนเองเท่านั้น (constructivsm)



คนที่ ๒

หน่วยการเรียนรู้: ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์และสัตว์ เรื่อง ระบบย่อยอาหาร ระยะเวลา ๒ ช.ม. ผู้สอนคือนายฌานุพงษ์ สมสวย 




จุดเด่น
  • การดูแลและปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนในกลุ่มย่อย ในช่วงที่เปิดโอกาสให้นักเรียนสร้างการเรียนรู้เองครูตั้งคำถามกับนักเรียนรายบุคคลในกลุ่ม และเปิดโอกาสให้นักเรียนถาม ทำได้ดีครับ ทำต่อไป 
  • การเลือกใช้สื่อดีครับ (แต่ยังไม่ดีที่สุด ดีกว่านี้ได้อีก) การสอนวิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นเยอะมากในยุคนี้ เพราะมีสื่อวีดีโอ  ครูวิทยาศาสตร์ควรมีหลักปฏิบัติในการเลือกสื่อดังนี้  (ให้ศึกษาปิรามิดการเรียนรู้)
    • หัวเรื่องนั้น ให้นักเรียนทดลอง สัมผัสของจริงได้หรือไม่  หากได้และเหมาะสม มีเวลา มีอุปกรณ์...จงทำเถิด
    • หากไม่เหมาะสม หัวเรื่องนั้น สามารถให้นักเรียนเห็นและได้ยินเสียงจากคลิปวีดีโอได้หรือไม่....หากได้จงค้นหาสื่อนั้น 
    • หากการทดลองไม่เหมาะสม ไม่มีคลิปจริง หัวเรื่องนั้น มีคลิป 3D หรือ Animation หรือ  AR (Argument Reality) หรือคลิปจำลองสถานการณ์จริง....หากมีจงเลือกสื่อนั้น 
    • หากการทดลองไม่เหมาะสม ไม่มีคลิปจริง ไม่มีคลิปจำลองสถานการณ์ ค่อยค้นหาภาพนิ่ง หรือภาพวาด ที่ใกล้เคียงกับของจริงที่สุด 
  • การจัดการชั้นเรียนตามแผนที่กำหนด 
  • การพูด บุคลิกภาพ ภาษา  
จุดที่ควรพัฒนา
  • ให้เน้นวิธีการและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เสมอ เหมือนกับที่กล่าวไปข้างต้น
  • การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ อันเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นที่สุดสำหรับครู ยังต้องพัฒนาอีก การสอนวันนี้ที่ เปิดสื่อให้ดู ให้สืบค้น และให้นำเสนอ แม้จะครบถ้วนตามกระบวนการ 5E ที่ผู้สอนกำหนด แต่ยังขาดความสุข สนุกสนาน ท้าทายให้เรียนรู้หรือหากคำตอบ ...ผู้สอนต้องค้นหาหรือคิดค้น ให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีชีวิตชีวามากขึ้น เช่น 
    • เชื่อมโยงกับเหตุการณ์จริงในชีวิต ใกล้ตัว ซึ่งทำได้ง่ายเพราะเรื่องระบบย่อยอาหารเป็นเรื่องใกล้ตัวอยู่แล้ว โดยใช้หลักการเลือกสื่อดังที่ได้กล่าวไป  ... แต่ต้องระลึกเสมอว่า วิทยาศาสตร์เป็น "ศาสตร์สากล" (เหมือนกันทั่วโลก) ดังนั้นควรใช้ภาษาสากลในการสืบค้น ... จงใช้ภาษาอังกฤษในการสืบค้นเสมอครับ 



    • ขอแนะนำให้พัฒนาพัฒนาตนเองให้สามารถ ถ่ายรูปถ่ายวีดีโอเป็น ตัดแต่งภาพ ตัดต่อวิดีโอเป็น และจะดีมากถ้าสร้างอนิเมชั่นเป็น ครับ 
  • การจัดการเรียนการสอน ควรเน้นไปทาง Acgtive Learning (Creative Learning หรือ Constructive Learning) คือเน้นการสร้างองค์ความรู้ในผู้เรียน  ไม่ใช่ให้ผู้เรียน "เสพความรู้" หรือ Passive Learning  ดังแสดงในปิรามิดการเรียนรู้นี้ 
(ขอแก้ไขคำผิด จาก Averate เป็น Average ครับ รูปนี้วาดไว้นานมากแล้วที่นี่)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น