วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561

นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๕: โรงเรียนกมลาไสย ครั้งที่ ๓

วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๑ ทำหน้าที่ "อาจารย์" กับการนิเทศนิสิตฝึกสอน ๒ คนที่โรงเรียนกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เป็นครั้งที่ ๓ (อ่านครั้งที่ ๑ ที่นี่ และครั้งที่ ๒ ที่นี่)  ผม AAR ว่า นิสิตมีพัฒนาการด้านการ "เป็นครู" เพิ่มขึ้นทุกด้าน ดังจะพรรณาว่าต่อไปนี้

คนที่ ๑ 

หน่วยการเรียนรู้: พลังงานความรู้ เรื่อง ความร้อนกับการขยายตัวหรือหดตัวของสสาร ผู้สอนคือ นางสาวเจตนาพร บุญเติม ระยะเวลา ๒ ชั่วโมง






จุดเด่น

  • การเลือกสื่อ ทั้งสื่อที่ใช้นำสู่บทเรียนที่เป็นคลิปวีดีโอและสื่อพาวเวอร์พอยท์ที่ใช้ในการดำเนินกระบวนการสอน ... ลองชมสื่อด้านล่างนี้ที่ใช้ในการนำเข้าสู่บทเรียน 

    • เป็นสื่อที่ตรงประเด็นกับเนื้อหาที่ต้องการจะสอนมาก ๆ 
    • เป็นสื่อที่ใกล้ตัว เป็นเรื่องในชีวิตจริง เป็นเหตุการณ์ปัญหา ที่สามารถอธิบายได้โดยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่กำลังจะเรียน
    • เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับคนทั่วไปในสังคม ... สามารถบูรณาการสอนได้มากมายทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ ... ครูที่ดีจะ "สอนคน" ไม่ใช่ "สอนวิชา" ดังนั้น การเชื่อมโยงชีวิตเข้าสู่ห้องเรียนเป็นเรื่องจำเป็น 
  • การควบคุมหรือจัดการชั้นเรียนทำได้ดีขึ้นมาก ทำให้บรรยายกาศในชั้นเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้มากขึ้นมากทั้งด้านปริมาณนักเรียนที่สนใจเรียนและคุณภาพการเรียนที่แสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ที่แสดงการได้ฝึกคิด ฝึกทำ 
  • การเตรียมสอนทำได้ดีขึ้น ทั้งแผนการสอน การสอนดำเนินการตามแผน 
  • มีการสร้างเงื่อนไขของชั้นเรียนบ้างแล้ว มีการให้นักเรียนที่มาสายยืนรอ และทำกิจกรรมเพื่อให้ทบทวนถึงการทำผิดกติกาของตนเอง และตั้งใจจะไม่ทำอีก


จุดที่ควรพัฒนา

  • ต้องมีการสร้างเงื่อนไขของชั้นเรียนให้ชัดเจนขึ้นอีก และรักษาเงือนไขนั้นอยากเคร่งครัด เป็นกติกา เช่น สำหรับคนมาสาย สำหรับคนไม่ส่งงาน  ฯลฯ
  • ควรมีการเน้นย้ำ (บ่อย ซ้ำ ย้ำ ทวน) และเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้กับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ๔ ขั้นตอน คือ ตั้งปัญหา ตั้งสมมติฐาน พิสูจน์สมมติฐาน และสรุปอภิปรายผลเสมอ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะกระบวนทางวิทยาศาสตร์ทุกครั้งที่สอน โดยเฉพาะการสอนที่มีกิจกรรมการทดลอง (ดังเช่นวันนี้)
  • "ใช้ไมค์ให้เป็นประโยชน์" ดีมากแล้วที่นำไมค์มาแก้ปัญหาเรื่องเสียงของผู้สอน แต่คำแนะนำของอาจารย์เรื่องการใช้ "กระบวนการกลุ่ม" ในการนิเทศครั้งที่ ๑ ยังไม่ได้พัฒนามากนัก ขอเรียกว่า "ไมค์ช่วยครู" ไม่ใช่ "ไมค์ช่วยเด็ก" ให้ได้เรียนรู้มากขึ้น  ตัวอย่างการใช้ไมค์ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนมากขึ้น ทำได้ดังนี้ 
    • ใช้ "กระบวนการกลุ่ม" สร้างการมีส่วนร่วมและฝึกการทำงานเป็นทีม โดยให้คัดเลือกหัวหน้ากลุ่ม โฆษก ฯลฯ  และมอบหมายหน้าที่ว่า ใครต้องทำอะไรในกิจกรรมนี้ เช่น 
      • หัวหน้ากลุ่มให้มอบหมายงานให้สมาชิกแต่ละคน 
      • โฆษก ต้องเป็นผู้นำเสนอคำตอบหรือความคิดเห็นของกลุ่ม 
      • ฯลฯ
    • มอบหมายงานย่อย ๆ ทีละขั้น ๆ  ให้แต่ละกลุ่มระดมสมอง ช่วยกันหาคำตอบ  แล้วเวียนให้แต่ละกลุ่มนำเสนอ โดยใช้ไมค์ 
    • ฯลฯ 
  • "ต้องไม่เฉลยเร็ว" ในการสอนคราวนี้ ยังไม่สามารถเรียกได้ว่า "นักเรียนเป็นศูนย์กลาง" ยังคงเป็น "ครูเป็นศูนย์กลาง" ของกิจกรรมการเรียนการสอน  เพราะผู้สอนตั้งคำถามและเฉลยคำถามนั้นโดยไม่ได้ให้เวลาผู้เรียนสร้างการเรียนรู้หรือสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ... อย่าลืมว่า หลักการที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วคือ ผู้เรียนจะได้เรียนเมื่อเขาได้คิดหรือทำด้วยตนเองเท่านั้น (constructivsm)



คนที่ ๒

หน่วยการเรียนรู้: ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์และสัตว์ เรื่อง ระบบย่อยอาหาร ระยะเวลา ๒ ช.ม. ผู้สอนคือนายฌานุพงษ์ สมสวย 




จุดเด่น
  • การดูแลและปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนในกลุ่มย่อย ในช่วงที่เปิดโอกาสให้นักเรียนสร้างการเรียนรู้เองครูตั้งคำถามกับนักเรียนรายบุคคลในกลุ่ม และเปิดโอกาสให้นักเรียนถาม ทำได้ดีครับ ทำต่อไป 
  • การเลือกใช้สื่อดีครับ (แต่ยังไม่ดีที่สุด ดีกว่านี้ได้อีก) การสอนวิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นเยอะมากในยุคนี้ เพราะมีสื่อวีดีโอ  ครูวิทยาศาสตร์ควรมีหลักปฏิบัติในการเลือกสื่อดังนี้  (ให้ศึกษาปิรามิดการเรียนรู้)
    • หัวเรื่องนั้น ให้นักเรียนทดลอง สัมผัสของจริงได้หรือไม่  หากได้และเหมาะสม มีเวลา มีอุปกรณ์...จงทำเถิด
    • หากไม่เหมาะสม หัวเรื่องนั้น สามารถให้นักเรียนเห็นและได้ยินเสียงจากคลิปวีดีโอได้หรือไม่....หากได้จงค้นหาสื่อนั้น 
    • หากการทดลองไม่เหมาะสม ไม่มีคลิปจริง หัวเรื่องนั้น มีคลิป 3D หรือ Animation หรือ  AR (Argument Reality) หรือคลิปจำลองสถานการณ์จริง....หากมีจงเลือกสื่อนั้น 
    • หากการทดลองไม่เหมาะสม ไม่มีคลิปจริง ไม่มีคลิปจำลองสถานการณ์ ค่อยค้นหาภาพนิ่ง หรือภาพวาด ที่ใกล้เคียงกับของจริงที่สุด 
  • การจัดการชั้นเรียนตามแผนที่กำหนด 
  • การพูด บุคลิกภาพ ภาษา  
จุดที่ควรพัฒนา
  • ให้เน้นวิธีการและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เสมอ เหมือนกับที่กล่าวไปข้างต้น
  • การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ อันเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นที่สุดสำหรับครู ยังต้องพัฒนาอีก การสอนวันนี้ที่ เปิดสื่อให้ดู ให้สืบค้น และให้นำเสนอ แม้จะครบถ้วนตามกระบวนการ 5E ที่ผู้สอนกำหนด แต่ยังขาดความสุข สนุกสนาน ท้าทายให้เรียนรู้หรือหากคำตอบ ...ผู้สอนต้องค้นหาหรือคิดค้น ให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีชีวิตชีวามากขึ้น เช่น 
    • เชื่อมโยงกับเหตุการณ์จริงในชีวิต ใกล้ตัว ซึ่งทำได้ง่ายเพราะเรื่องระบบย่อยอาหารเป็นเรื่องใกล้ตัวอยู่แล้ว โดยใช้หลักการเลือกสื่อดังที่ได้กล่าวไป  ... แต่ต้องระลึกเสมอว่า วิทยาศาสตร์เป็น "ศาสตร์สากล" (เหมือนกันทั่วโลก) ดังนั้นควรใช้ภาษาสากลในการสืบค้น ... จงใช้ภาษาอังกฤษในการสืบค้นเสมอครับ 



    • ขอแนะนำให้พัฒนาพัฒนาตนเองให้สามารถ ถ่ายรูปถ่ายวีดีโอเป็น ตัดแต่งภาพ ตัดต่อวิดีโอเป็น และจะดีมากถ้าสร้างอนิเมชั่นเป็น ครับ 
  • การจัดการเรียนการสอน ควรเน้นไปทาง Acgtive Learning (Creative Learning หรือ Constructive Learning) คือเน้นการสร้างองค์ความรู้ในผู้เรียน  ไม่ใช่ให้ผู้เรียน "เสพความรู้" หรือ Passive Learning  ดังแสดงในปิรามิดการเรียนรู้นี้ 
(ขอแก้ไขคำผิด จาก Averate เป็น Average ครับ รูปนี้วาดไว้นานมากแล้วที่นี่)

วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เทคนิคการเขียนตำราแบบย่อๆ จาก ศ.ดร.ไพโรจน์ ประมวล

ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล (คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มมส.) บรรยายเสริมเติมจาก ศ.อร.อลงกลด แทนออมทอง (อ่านบันทึกต้นๆ ได้ที่นี่และที่นี่) ถึงเทคนิคการเขียนหนังสือหรือตำราเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ ... มีประโยชน์มาก เชิญพิจารณานำไปใช้เถิด



ตอนแรกตั้งใจจะไม่เขียนบันทึกนี้ครับ เพราะการเขียนชื่นชมหัวหน้า จะนำมาซึ่งจิตอกุศลของคนที่ไม่หวังดี  แต่เมื่อมีอาจารย์ที่สนใจเขียนข้อความในความเห็นของบันทึกที่ผ่านมาว่า จะรออ่านเทคนิคจาก ศ.ไพโรจน์  จึงน่าจะคุ้มค่าที่จะนำมาเผยแพร่ (โดยขออนุญาตท่านแล้ว)

เกริ่นนำ
  • ศ.ไพโรจน์ ยื่น ผศ. ด้วยงานวิจัย ๒  เรื่อง (ฐาน ISI) ยื่น รศ. ด้วยตำรา ๑ เล่ม และผลงานวิจัยตีพิมพ์ ๘ ผลงานบนฐาน ISI ทั้งหมด  ยื่นขอ ศ. ด้วยหนังสือ ๑ เล่ม ผลางานวิจัยตีพิมพ์ ๑๐ ผลงานบนฐาน ISI และเป็นผู้นิพนธ์หลักทั้งหมด ... ผ่านการประเมินรอบเดียว 
  • หนังสือที่ประกอบการยื่นเป็นเรื่อง แมลงลิ้นดำในเมืองไทย เป็นผลจากการทำวิจัยต่อเนื่องยาวนาน และผลการวิจัยบางอันเป็นการค้นพบใหม่ของโลกด้วย ... อาจารย์ไพโรจน์บอกว่า เริ่มเขียนตั้งแต่ตอนเรียนจบปริญญาเอก  ตามคำของอาจารย์ที่ปรึกษาผู้ชี้แนะ (ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้)

ควรจะเขียนหนังสือหรือตำรา

  • เอกสารคำสอนยื่นได้ครั้งเดียว ดังนั้น ต้องทำเอกสารคำสอน ๒ วิชา วิชาหนึ่งยื่น รศ. อีกวิชายื่น ศ. 
  • ควรจะเขียนหนังสือหรือตำรา ... ตอบว่า
    • ขึ้นอยู่กับความนิยมของสาขาวิชาที่ยื่นขอ เช่น 
      • ในสาขาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จะนิยมและยอมรับตำรามากกว่า 
      • ในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ว่า เขียนหนังสือดีกว่า 
    • ควรเลือกเขียนในสิ่งที่เราเชี่ยวชาญที่สุด โดยพิจารณาว่า งานวิจัยที่เรามีนั้นเหมาะที่จะแทรกไว้ในตำรา หรือสามารถนำมาเขียนเป็นหนังสือ  เช่น 
      • ถ้างานวิจัยนำมาเขียนเป็นหนังสือได้เพียง ๓๐ - ๔๐ หน้า ก็ไม่ควรจะเขียนหนังสือ เป็นต้น .. หนังสือท่านยื่น ศ. หนาถึง ๓๐๐ กว่าหน้า
      • ถ้างานวิจัยค่อนข้างกว้างขวาง เกี่ยวข้องกับหลายๆ สาขาวิชา อาจนำมาเขียนเป็นตำราจะดีกว่า 
ข้อแนะนำเกี่ยวกับงานวิจัย
  • สำหรับการขอ รศ. หรือ ศ. อย่าเน้นจำนวนอย่างเดียว โอกาสที่จะผ่านนั้นน้อยมาก  การเน้นจำนวนอย่างเดียวในที่นี้หมายถึง การแยกผลวิจัยของตนเองออกเป็นส่วนย่อยๆ แล้วตีพิมพ์เป็นผลงานย่อยๆ หลายเรื่อง  บางคนส่งไป ๒๐ เรื่อง อาจจะผ่านเพียงเรื่องเดียวก็เป็นได้ 
  • วิธีการพิจารณาผลงานวิจัย คือ 
    • ๑ ดูว่าตีพิมพ์ที่ไหน คนในวงการนั้นๆ ยอมรับหรือไม่ อยู่ในฐานข้อมูลที่รู้จักหรือไม่ 
    • ๒ ดูว่าท่านเขียนอะไร เกี่ยวข้องกับตำราหรือไม่ โดยดูอย่างละเอียด
    • ๓ ผลงานวิจัยที่ดี ควรมีลักษณะผลงานที่ทำอย่างบูรณาการ คือ ใช้เครื่องมือหรือเทคนิคที่หลากหลาย เพื่อหาคำตอบใดคำตอบหนึ่ง  คือถือเป็นผลงานวิจัยไฮไลท์ ซึ่งควรจะมีแบบหนึ่งสัก ๑ หรือ ๒ เรื่อง (คือ มีงานวิจัยที่โดดเด่น)


เทคนิคการเขียนตำราหรือหนังสือ
  • สำคัญที่สุดคือ ต้องใส่ผลงานวิจัย (ของทั้งตนเองและผู้อื่น) เข้าไปในตำรา (แทรกไว้ในตำรา) ได้มากน้อยแค่ไหน  ... ถ้าไม่มี หรือมีน้อย ก็ไม่ผ่าน 
  • การเขียนตำรา ต้องไม่ใช่การแปล แม้แต่การแปลจากผลงานวิจัยของตนเอง  ต้องเป็นการเรียบเรียง ... การแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยนั้นใช้ไม่ได้ ... ต้องเขียนใหม่ให้เป็นภาษาไทย
  • ภาพที่ใช้ในตำรา ต้องมีคุณภาพดี ชัดเจน และต้องเขียนรายละเอียดเพิ่มเติม (ไม่ใช่มีแต่รูป) ... รูปภาพต้องอธิบายตัวมันเองได้
  • มีความสม่ำเสมอในการใช้ภาษา  เช่น  ใช้คำใดในบทที่ ๑ ในบทที่ ๑๐ ก็ต้องใช้คำเดิม ฯลฯ 
  • ศัพท์เฉพาะต้องเป็นศัพท์บัญญัติจากสำนักราชบัณฑิตยสถานเท่านั้น 
  • ศัพท์เฉพาะคำใด ที่ไม่มีบัญญัติไว้ แนะนำให้ใส่ไว้เป็นฟุตโน๊ตในหน้านั้นๆ
  • เขียนเสร็จแล้ว ควรส่งให้คนอื่นอ่านก่อน เช่น ให้เพื่อนอ่าน ฯลฯ 
  • ในคำนำ ต้องบอกให้ชัดว่า ตำราเล่มนี้ ใช้ในการสอนวิชาใด 
  • อย่ายึดเนื้อหาเฉพาะคำอธิบายรายวิชาเท่านั้น แต่ต้องดูจาก Textbook มาตรฐาน ที่นิยมใช้กันทั่วโลก ที่ใช้กันทั่วไป ... ผู้ทรงฯ จะไม่สนใจคำอธิบายรายวิชา 
  • อย่าเขียนตำราตามตำราเล่มอื่น นำตำราเล่มอื่นมาดูแนวทางการเขียนได้ แต่ตอนเขียนต้องเขียนตาม Review Articles เพราะจะมีองค์ความรู้ใหม่ และจะทำไม่ให้ซ้ำกับตำราเล่มอื่น  
    • ให้เรียบเรียงจาก Review Articles  (แนะนำ Anual Review ต่างๆ )
    • แต่อย่าแปลจาก Review Articles
    • ควรใช้ Review Articles จากวารสารที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับ
  • องค์ประกอบในแต่ละบท 
    • ต้องมีบทนำ หรือมีการเกริ่นนำ ... ไม่ต้องจั่วหัวคำว่า "บทนำ" ก็ได้ 
    • และมีหัวข้อย่อยตามความเหมาะสม ควรจะมีหลายหัวข้อย่อย
    • มีสรุปตอนท้าย 
    • ถ้าเป็นตำราให้มีคำถามท้ายบท (หนังสือไม่ต้องมีคำถามท้ายบท)
    • เอกสารอ้างอิงสามารถเอาไว้หลังบทหรือหลังเล่มก็ได้ แล้วแต่ชอบ...
  • เปิดขึ้นหน้าของบทใหม่ อาจให้มีรูปและคำอธิบายความคิดรวบยอดของบทนั้น เพื่อสื่อถึงให้เห็นความสำคัญของบท 
  • ทุกครั้งที่เริ่มเขียนบทใหม่ ให้มีเกริ่นนำเสมอ
  • โดยหลักการ เนื้อหาในแต่ละหัวข้อ (บทหนึ่งมีหลายหัวข้อ) ควรจะมีองค์ประกอบ ดังนี้ 
    • ความรู้ ทฤษฎีพื้นฐาน 
    • แนวคิดสมัยใหม่ในหัวข้อนั้น (ได้จาก Review Articles)
    • ตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (งานวิจัยของตนเองหรือของคนอื่นก็ได้) 
      • ในกรณีที่นำงานวิจัยของคนอื่น ให้เลือกเอาจากวารสารดีๆ มาใส่เลย
      • ถ้าไม่มีงานวิจัยของตนเองในเรื่องใดเลย โอกาสผ่านจะน้อยมาก 
      • อย่าเอาตัวอย่างจากหนังสือเล่มอื่นมาใส่ 
  • ควรใส่รูป ภาพ ไดอะแกรม อินโฟกราฟฟิคต่างๆ ใส่ในตำรา ... และให้ดูเรื่องลิขสิทธิ์ให้ดี ทั้งภาพ ตัวอย่าง กราฟ ไดอะแกรม หรืออะไรต่างๆ 
ผมขออนุญาตในเบื้องต้นแล้วสำหรับการบอกต่อแนวปฏิบัติ BP เหล่านี้ ซึ่งท่านก็ยินดีที่จะให้เผยแพร่ไปสู่ว่าที่ รศ. หรือ ศ. รุ่นใหม่ ให้มหาวิทยาลัยและประเทศไทยเจริญก้าวหน้าต่อไป 

วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ผลกระทบของ "เกณฑ์ขอตำแหน่งวิชาการ" ใหม่ ที่บังคับใช้ตั้งแต่ ๑ พ.ย. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป (ศ.ดร.อลงกลด แทนออมทอง)

เมื่อเช้านี้ (๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๑) ศาสตราจารย์ ดร.อลงกลด แทนออมทอง กรรมการ กพว. และผู้ทรงคุณวุฒิอ่านผลงานวิชาการของ ก.พ.อ. (ต่อจากเมื่อวานนี้ อ่านที่นี่) ตีความถึงผลกระทบของเกณฑ์ใหม่ ที่จะบังคับใช้ตั้งแต่ ๑ พ.ย. ๒๕๖๑ สำหรับการขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย ... คนระดับศาสตราจารย์ เวลาจะศึกษาหรือสื่อสารอะไรนี่ เขาทำได้ชัดเจน ลุ่มลึกจริงๆ ... แม้จะไม่สามารถถ่ายทอดไว้ในบันทึกนี้ทั้งหมด  แต่ก็คงจะมีประโยชน์บ้างสำหรับเพื่อนพ้องน้องอาจารย์ที่กำลังคิดและทำเรื่องนี้  ท่านใดอยากจะศึกษาเอง ให้ดาวน์โหลดประกาศ ก.พ.อ. ฉบับล่าสุดที่นี่เถิด...



สิ่งที่ผู้จะขอตำแหน่งวิชาการต้องเรียนรู้ (ไม่รู้ไม่ได้)

อาจารย์มหาวิทยาลัยทุกคน (ทั้งข้าราชการและพนักงานวิชาการ ใช้เกณฑ์เดียวกัน (พนักงานวิชาการยังไม่มีระเบียบของตนเอง)) ต้องเรียนรู้ก่อนการยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ ท่านเน้นว่า จริงๆ ควรจะรู้ก่อนลงมือทำงานวิชาการ เพื่อให้สามารถวางแผนการทำผลงานวิชาการอย่างเป็นระบบ สมบูรณ์ และต่อเนื่อง ทำอย่างมีเป้าหมายและถูกกติกาที่ ก.พ.อ. กำหนดไว้  
  • ต้องรู้ว่าผลงานวิชาการที่ใช้ในการขอตำแหน่งวิชาการต่อไปนี้ คืออะไร ลักษณะแตกต่างกันอย่างไร และควรทำ ควรใช้เมื่อใด และต้องเผยแพร่อย่างไร ได้แก่ 
    • เอกสารประกอบการสอน 
    • เอกสารคำสอน
    • งานวิจัย
    • หนังสือ
    • ตำรา
    • งานบริการสังคม 
    • อื่นๆ ๑๐ ประการ 
    • บทความวิชาการ ... ให้ระวัง เพราะ ใช้ได้เฉพาะการขอ ผศ. เท่านั้น และต้องได้รับผลประเมินในระดับดีมาก ( ระดับดีเฉยๆ ไม่พอ)
  • ต้องรู้ว่า จะต้องยื่นผลงานอะไร จำนวนเท่าไหร่ ผลงานแต่ละประเภทเผยแพร่ที่ไหนเขาถึงจะยอมรับให้ผ่าน ... อ่านต่อไปครับ
  • ผลงานวิชาการที่ใช้ในการขอตำแหน่งวิชาการ แบ่งได้เป็น ๔ กลุ่ม (เอกสารแนบท้ายประกาศฯ) ได้แก่
    • กลุ่มที่ ๑ งานวิจัย  มีอยู่ ๓ แบบ  (ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่เราคิดกันในปัจจุบัน) ได้แก่ 
      • รายงานวิจัยที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์และชัดเจนตลอดกระบวนการวิจัย  ... ถ้าจะยื่นด้วยวิธีนี้ ต้องมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทีไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนั้นมาตรวจรับรองก่อน 
      • บทความวิจัย (วิจัยตีพิมพ์)
      • หนังสือโมโนกราฟ (monograph) ที่ใช้งานวิจัยมาประกอบการเขียน  ... ทำเสร็จเผยแพร่ทางเว็บไซต์ได้เลย 
    • กลุ่มที่ ๒ ผลงานวิชาการในลักษณะอื่นๆ .... (อื่นๆ นอกจากงานวิจัย แสดงว่า งานวิจัยสำคัญมาก หรือความหมายคือ เป็นอาจารย์ต้องทำงานวิจัย)  มีทั้งหมด ๑๐ ประการ (อ่านคำนิยามในประกาศ ก.พ.อ.ฉบับล่าสุดที่นี่) ได้แก่ 
      • ผลงานวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม 
      • ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการเรียนรู้ 
      • ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ 
      • กรณีศึกษา (Case Study)
      • งานแปล
      • พจนานุกรม สารานุกรม นามานุกรม และงานวิชาการในลักษณะเดียวกัน
      • ผลงานสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
      • ผลานสร้างสรรค์ด้านสุนทรียะ ศิลปะ
      • สิทธิบัตร 
      • ซอฟต์แวร์ 
    • กลุ่มที่ ๓ ผลงานวิชาการรับใช้สังคม ... ต้องจัดทำเอกสาร เช่น คู่มือ ๑ เล่ม หรือรายงานฉบับสมบูรณ์ ฯลฯ ให้ผู้ทรงที่อ่านเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาใน ๗ ประเด็น ต่อไปนี้ 
      • วิเคราะห์สภาพก่อนทำ
      • การมีส่วนร่วมและการยอมรับของสังคมเป้าหมาย
      • การออกแบบ หรือ การพัฒนา หรือ แนวคิด หรือ กระบวนการ 
      • การคาดการณ์สิ่งที่จะตามมา 
      • การประเมินผลลัพธ์โดยการติดตามสิ่งที่เกิดขึ้น
      • การสรุปแนวทางการธำรงรักษา หรือ การขยายผล หรือ การปรับปรุงพัฒนา
    • กลุ่มที่ ๔ ตำรา หนังสือ บทความวิชาการ  .... ท่านย้ำมาก ๆ ว่า บทความวิชาการ ใช้ได้เฉพาะกับการขอ ผศ. เท่านั้น 
จะเห็นว่า การทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เช่น พานิสิตนักศึกษาไปพัฒนาทาสีกำแพงวัด โรงเรียน นำมาเขียนเป็นผลงานขอตำแหน่งไม่ได้ 
  • ต้องรู้ว่า ฐานข้อมูลผลงานวิจัยระดับนานาชาติ ๑๙ ฐาน ที่ ก.พ.อ. รองรับ เชิญพิจารณาจาก สไลด์ของท่านเถิด หรือจะสืบค้นก็ง่ายมาก 

เกณฑ์การขอตำแหน่งทางวิชาการ (เดิม)


  • เกณฑ์เก่า กำหนดไว้ดีมาก คล้ายๆ การสอบเอนทรานซ์สมัยก่อน สอบรอบเดียวจบเลย ไม่เปิดโอกาสให้แก้ไขเหมือนเกณฑ์ใหม่ .... ไม่ขอลงละเอียดเพราะจะเลิกใช้แล้ว 
  • การขอ ผศ. ตามเกณฑ์เก่า แต่ก่อนสามารถใช้ตำราเล่มเดียวได้ แต่เกณฑ์ใหม่ไม่ได้  หรือใช้บทความวิชาการ หรือ บทความวิจัย รวม ๒ เรื่อง น้อยที่สุดที่ท่านเคยเห็นคือส่งบทความวิชาการเรื่องเดียว  ผ่านไม่ผ่าน ให้ท่านใช้วิจารณาญาณเอง...ฮา 
  • การขอ รศ. เกณฑ์เก่า ต้องมีตำราหรือหนังสือ  ....   ผมชอบมากๆ เมื่อท่านบอกว่า แม้เกณฑ์จะเปลี่ยนไป แต่ผู้ทรงคุณวุฒิไม่เปลี่ยนใจ ....ฮา แหลมคมๆ ลุ่มลึกๆ ... (ท่านผู้อ่านเข้าใจไหมครับ)
  • การขอ ศ. เกณฑ์เก่า เน้นไปที่ตำรา  แต่ในชีวิตของท่าน ท่านพบเพียง ๒ ท่านเท่านั้น ที่ส่งเฉพาะผลงานวิจัยอย่างเดียว ท่านหนึ่งคือ ศ.จากจุฬาฯ ท่านส่ง ๕๐ ผลงาน  
เกณฑ์การขอตำแหน่งทางวิชาการ (เกณฑ์ใหม่)

จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ พ.ย. ๒๕๖๑ นี้เป็นต้นไป จะมีศาสตราจารย์ดูแลสายศาสตร์ละ ๑๐ ท่าน มนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ นำโดย ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโน (ถ้าท่านจำไม่ผิด) และสายวิทยาศาสตร์นำโดย ศ.เทียนฉาย กีระนันท์ อดีตอธิการบดีของจุฬาฯ  ชุดนี้ประชุมกันประมาณ ๒๐ ครั้ง จนได้กฏหมายนี้  

ท่านเล่าว่า กฎหมายนี้มีจุดมุ่งหมายอยู่ ๓ อย่าง ได้แก่
  • ทำให้เข้าสู่ตำแหน่งวิชาการได้ง่ายขึ้น ในที่นี้ท่านหมายถึง ชัดเจนขึ้น ใช้เวลาน้อยลง ดูง่ายขึ้น คือ
    • ปรับข้อกำหนดประสบการณ์การสอนของอาจารย์วุฒิ 
      • ป.ตรี จาก ๙ ปี เหลือ ๖ ปี 
      • ป.โท จาก ๕ ปี เหลือ ๔ ปี 
      • ป.เอก จาก ๒ ปี เหลือ ๑ ปี
      • โดยมีข้อกำหนดว่าต้องพ้นระยะเวลาทดลองการปฏิบัติงาน
    • ปรับระยะเวลาของ ผศ. ไปเป็น รศ. จาก ๓ ปี เหลือ ๒ ปี 
  • ทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น  ... หากมองอีกมุมคือ จะซับซ้อนขึ้น เชิญพิจารณาจากสไลด์และคำอธิบายด้านล่าง 


    •  สำหรับการขอ ผศ. (ดาวน์โหลด แบบฟอร์มการยื่นขอ (แบบ ก.พ.อ. ๐๓ ได้ที่นี่))
      • ผศ. รุ่นใหม่ ไม่ต้องมีตำราหรือหนังสือก็ได้ (ไม่แนะนำให้ทำตำราเพราะยากกว่าเยอะ)  ให้ใช้ผลงานวิชาการ ๒ ชิ้น ที่มีคุณภาพระดับดี (คืออยู่ใน TCI ฐาน ๑ ฐาน ๒ คือต้องมีการออกวารสารนั้นต่อเนื่อง ๖ เล่ม ... ผมเข้าใจว่าเล่มที่ ๗ เป็นต้นไปถึงจะใช้ได้) ท่านย้ำให้ระวัง จะไปตีพิมพ์เสียเปล่าใน ๖ เล่มแรก)
        • ท่านยกตัวอย่างอาจารย์ท่านหนึ่ง ทำวิจัยไป ๘ ปี หมดไปหลายแสน ได้งานวิจัยมา ๔ เรื่อง แต่ใช้ได้เพียงเรื่องเดียว เพราะอีก ๓ เรื่อง ไปที่พิมพ์ใน ๖ เล่มแรกนั้น 
      • และต้องมีจำนวนอย่างน้อย ดังต่อไปนี้ ... ให้เลือกเอาว่าถนัดจะทำผลงานแบบใด 
        • ผลงานวิจัย ๒ เรื่อง (ศ.ท่านแนะนำให้ทำอันนี้)
        • ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ผลงานแบบอื่นๆ ๑ เรื่อง
        • ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ผลงานรับใช้สังคม ๑ เรื่อง ... (อันนี้...หิน)
        • ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ตำราหรือหนังสือ ๑ เล่ม ...(อันนี้ โคตรหิน)
      • ถ้าเป็นผลงานในการประชุมวิชาการ ต้องมี Full Paper เท่านั้น มีเฉพาะ Abstract ใช้ไม่ได้  และผลงานนั้นก็ห้ามนำมาเขียนตีพิมพ์ที่อื่นด้วย ถืือว่าได้เผยแพร่แล้ว  ดังนั้น ต้องดูให้ดี  โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาที่ต้องมีผลงานตีพิมพ์เพื่อจบระดับบัณฑิตศึกษา  มีกรณีตัวอย่างจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ถึงขั้นต้องทำ Thesis ใหม่ 
      • ถ้ายื่นแล้วตก งานวิจัยนั้นต้องตกไป ห้ามนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ นำมาแก้ไขโดยเด็ดขาด ... งานวิจัยสามารถยื่นประเมินได้เพียงครั้งเดียว 




    •  สำหรับาการขอ รศ. 
      • ต้องเป็น ผศ. มาอย่างน้อย ๒ ปี  ... อันนี้ต้องระวังให้ดี เพราะ 
        • เกณฑ์ใหม่ กำหนดว่า ผลงานที่จะใช้ได้ ต้องนับหลังจากได้ ผศ. แล้วเท่านั้น 
          • ถ้ายื่นผ่านรอบเดียว ไม่มีแก้ไข ให้ยึดวันที่ผ่านกรรมการวิชาการของมหาวิทยาลัย 
          • ถ้ายื่นผ่านรอบเดียว แต่มีแก้ไข ต้องยึดวันที่ส่งฉบับแก้ไขให้กรรมการสภาวิชาการของมหาวิทยาลัย 
        • ก็ให้คิดเอาเองว่า หลังจากยื่น ผศ. แล้วควรจะตีพิมพ์ผลงานช่วงใด 
        • แต่ไม่ต้องตกใจ เนื่องจากมีการร้องเรียนจาก สภาคณาจารย์ และที่ประชุมอธิการบดี จึงนำมาสู่การประกาศเลื่อน การนับแบบนี้ออกไป ๓ ปี  (เริ่มใช้จริงๆ วันที่ ๑ พ.ย. ๒๕๖๔)
      • รศ. รุ่นใหม่ มี ๒ วิธี มีหรือไม่มีตำราหรือหนังสือก็ได้  
        • วิธีที่ ๑ มีตำรา และผลงานวิจัยมีคุณภาพดี (ISI Quatile 3 หรือ 4 หรืออย่างน้อย TCI ฐาน ๑) ที่มีจำนวน ตามตัวเลือกนี้ 
          • ผลงานวิจัย ๒ เรื่อง (ท่านแนะนำแบบนี้)
          • ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ผลงานอื่น ๑ เรื่อง
          • ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ผลงานรับใช้สังคม ๑ เรื่อง 
        • วิธีที่ ๒ ไม่มีตำรา และมีผลงานวิจัยในระดับดีมาก (คือ ISI Quatile 1 หรือ 2 หรืออย่างน้อยต้อง 3 หรือ 4) และมีจำนวน ตามตัวเลือกต่อไปนี้ 
          • ผลงานวิจัย ๓ เรื่อง ดีมาก ๒ เรื่อง ดี ๑ เรื่อง
          • ผลงานวิจัยดีมาก ๒ เรื่อง ผลงานอื่น ๑ เรื่อง
          • ผลงานวิจัยดีมาก ๒ เรื่อง ผลงานรับใช้สังคม ๑ เรื่อง 
        • ผมฟังว่า... ท่านไม่แนะนำวิธีที่ ๒ นะครับ ท่านแนะนำว่าน่าจะมีตำรา
      • เนื่องจากผลงานวิจัยยื่นได้เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ตำราสามารถนำมาแก้ไขได้ จึงทำให้มีข้อคิด ดังนี้ 
        • ถ้ายื่นผลงานไปโดยไม่มีตำรา ถ้าไม่ผ่าน ผลงานวิจัยเหล่านั้นจะไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก 
        • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านจะดูภาพรวม แล้วประเมินว่าผ่านหรือไม่ สมมติยื่นไป ๓ บทความวิจัย แล้วไม่ผ่าน จะมีผลงานที่ใช้ไม่ได้อีก ๒ บทความทันที เก็บไว้ใช้ได้เพียง ๑ บทความ ต้องเริ่มทำวิจัยใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปี  
        • แต่หากยื่นไปโดยใช้ตำราประกอบ ส่วนใหญ่พบว่า งานวิจัยผ่านแต่ตกตำรา แต่แม้จะตกตำรา แต่สามารถนำมาแก้ไข รีบยื่นเข้าไปใหม่ จะได้กรรมการชุดเดิม  โอกาสที่จะผ่านสูงกว่า 
        • ผู้ทรงจะมี ๓ คน ต้องผ่านอย่างน้อย ๒ คนจึงจะผ่าน ผู้ทรงมักมีความหลากหลาย ไม่สามารถไปยุ่งเกี่ยวได้ ถือว่าเป็นอิสระทางวิชาการ จะเห็นว่าจะบอกผลเป็นผลงานๆ ว่าผลงานนั้นผ่านหรือตก  แต่บ่อยครั้งที่ผู้ทรงให้เหตุผลว่า "ผลงานวิชาการไม่เพียงพอ"  โดยไม่บอกอะไร ... ซึ่งหมายถึง ตกทุกผลงานนั่นเอง 
      • โอกาสทอง ของนักวิจัยคู่ (บัดดี้วิจัย) เนื่องจากข้อกำหนดของสัดส่วนผลงานที่สามารถยื่นได้เป็น ร้อยละ ๕๐ ดังนั้น หากมีผู้แต่งคู่ จึงสามารถใช้ยื่นได้ทั้ง ๒ คน   จึงเป็นโอกาสดีของคนฉลาด ดังนี้ 
        • ถ้าคนที่ ๑ ยื่นไปก่อน ๒ บทความ แล้วผ่านระดับดีมากทั้งหมด  คนที่ ๒ สบาย... ไม่ต้องกังวลว่าจะตกผลงานวิจัย แค่มุ่งไปทำตำราอย่างเดียว 
        • ทำวิจัย ๒ คน ย่อมดีกว่าทำวิจัยคนเดียว  จากที่ทำคนเดียวได้ปีละ ๑ ผลงาน ผสานกันจะได้ปีละ ๒ ผลงาน นั่นเอง




    •  สำหรับขอ ศ. (สายวิทยาศาสตร์)
      • ต้องเป็น รศ. อยู่ ๒ ปี  โดยมีกติกาเรื่องการนับเหมือนกับที่ว่าไปในการ ขอ รศ.
      • ศ. รุ่นใหม่ ยื่นได้ ๒ วิธี จะมีหรือไม่มีตำรา/หนังสือ ดังนี้ 
        • วิธีที่ ๑ มีตำรา ๑ เล่ม และมีผลงานที่มีคุณภาพดีมาก (ต้องอยู่ใน ISI Quatile 1 หรือ 2 หรืออย่างน้อย 3 หรือ 4) และจำนวน ตามตัวเลือกดังนี้ 
          • ผลงานวิจัย ๕ เรื่อง 
          • ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ผลงานอื่น ๕ เรื่อง 
          • ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ผลงานรับใช้สังคม ๕ เรื่อง 
        • วิธีที่ ๒ ไม่มีตำรา แต่มีผลงานวิจัยมีคุณภาพดีเด่น (ต้อง ISI Quatile ที่ 1 หรือ 2) และมีจำนวน ตามตัวเลือกนี้ 
          • ผลงานวิจัย ๕ เรื่อง 
          • ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ผลงานอื่น ๕ เรื่อง 
          • ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง ผลงานรับใช้สังคม ๕ เรื่อง
        • เช่นเดียวกันครับ... ท่านไม่แนะนำให้ส่งโดยไม่ใช้ตำรา  
  • ทำให้ได้มาตรฐานมากขึ้น เป็นสากลมากขึ้น  ...  ซึ่งท่านบอกว่า ยากขึ้น ยากมาก ...ฮา  สิ่งที่เปลี่ยนไป และทำให้ยากขึ้นมีดังนี้ 
    • ขอ ผศ. ต้องใช้งานวิจัยอย่างน้อย ๑ เรื่อง   เกณฑ์เดิมไม่ใช้ก็ได้ 
    • ความใหม่ของงานวิจัย ทำให้ยากขึ้น ละต้องวางแผนให้ดี 
      • ขอ ผศ. ต้องใช้งานตีพิมพ์ภายใน ๓ ปี 
      • ขอ รศ. ต้องเป็นงานหลังจากได้ ผศ. 
        • หากยื่นไปแล้วมีแก้ไข ต้องนำมาเผยแพร่ใหม่ 
      • ขอ ศ. ต้องเป็นงานหลังจากได้ รศ.  
    • เอกสารประกอบการสอนต้องครบ ๓ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ ๔๕ ชั่วโมง  หากไม่ได้สอนวิชาเดียวต้องเขียนหลายรายวิชา รวมกันให้ได้ตามเกณฑ์ 
    • การมีส่วนร่วมในงานวิชาการ 
      • ถ้าเป็นผลงานวิจัย 
        • ต้องร้อยละ ๕๐ หรือ
        • ถ้าเป็นผู้นิพนธ์หลัก (corresponding author) และต้องมีผลงานที่สอดคล้องรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐
        • งานวิจัย ๑ ชิ้น ใช้ได้เพียง ๑ คน ยกเว้น นิพนธ์สองคน ๆ ละครึ่ง 
      • ถ้าเป็นผลงานอื่น ต้องเป็นผู้ดำเนินการหลักและมีส่วนร่วมอย่างน้อยร้อยละ ๕๐ 
      • ในกรณีเป็นชุดโครงการ ผู้ขอต้องเป็นผู้ดำเนินการหลักในบางโครงการ อย่างน้อย ๑ เรื่อง และมีปริมาณงานไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ 
      • ต้องมีการลงนามตามแบบฟอร์ม (ดูเอกสารแนบท้ายประกาศฯ) หากไม่สามารถลงนามได้ให้หารเฉลี่ย หากลงนามไม่ได้บางคน ต้องให้หัวหน้าภาคฯ หรือคณบดีลงนาม 
    • เกณฑ์ใหม่ ทำให้สามารถฟ้องร้องและถูกลงโทษได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะการคัดลอกผลงาน  (plagiarism) แม้กระทั่งการคัดลอกผลงานของตนเอง 
    • ลงโทษหนักขึ้น คือ เปลี่ยนระยะเวลาห้ามยื่นขอตำแหน่งจากไม่เกิน ๕ ปี เป็น ไม่น้อยกว่า ๕ ปี แต่ไม่เกิน ๑๐ ปี  แม้จะยื่นเปิดโอกาสให้ยื่นอุธรณ์ได้ ๒ ครั้ง ภายใน ๙๐ วัน แต่การยื่น ต้องยืนผ่านมหาวิทยาลัยไป กพว. ซึ่งจะไปที่ผู้ทรงฯ ชุดเดิม ....  ท่านจะมีชื่อเสีย(ง) ทั้งระดับสภามหาวิทยาลัยและระดับประเทศ 
    • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอ่านมากขึ้นได้ 
      • จากเดิม วิธีปกติ ๓ คน เป็น ๓-๕ คน 
      • จากเดิม วิธีพิเศษ ๕ คน เป็น อย่างน้อย ๕ คน 
      • โดย ผศ. และ รศ. มติเกินกึ่งหนึ่ง และผลงาน ดีมาก  ส่วน ศ. ต้องได้มติ ๔ ใน ๕ ผลงานต้องดีเด่น 
    • เกณฑ์ใหม่ ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการการทำวิจัยของสถาบันในกรณีที่ทำวิจัยในคนหรือในสัตว์ 
    • เกณฑ์ใหม่ ต้องกำหนดชื่อสาขา (ที่มีอยู่ตามที่ ก.พ.อ. กำหนด ดูประกาศฯ)
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยสามารถกำหนดเกณฑ์ของตนเองได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ของ ก.พ.อ. 

คำแนะนำเพิ่มเติม กรณีที่พบบ่อย
ท่านอาจารย์อลงกลด แนะนำว่า 
  • กรณีที่ต้องเลือกสาขา ให้ยึดเอาสาขาวิชาที่ตนเองเชี่ยวชาญและได้สอนเป็นสำคัญที่สุด ไม่ใช่เลือกตามคณะ-วิทยาลัยที่สังกัด 
  • ขอ ผศ. ให้ใช้ผลงานวิจัย ๒ เรื่องดีที่สุด หากใช้ตำรา ถ้ามีการแก้ไข จะเป็นปัญหาการนับเวลาที่จะช้าออกไปอีก คือต้องนับหลังจากวันแก้ไข 
  • การขอ รศ. ควรยื่นผลการวิจัยอย่างน้อย ๓ เรื่อง 
ย้ำอีกครั้งครับ  แม้เกณฑ์จะเปลี่ยนไป แต่ "จิตใจ" ของผู้ทรงฯ ไม่เปลี่ยน ..... 

วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เรียนรู้ "วิธีการเขียนตำราและหนังสืออย่างถูกต้อง เพื่อการขอตำแหน่งทางวิชาการ (ผศ.รศ. ศ.)

วันที่ ๑๙-๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ นี้ ผมอยู่ที่ "ทอแสงโขงเจียม รีสอร์ท" อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เข้าร่วมโครงการพัฒนาอาจารย์ด้านการเขียนหนังสือและตำราเพื่อการขอตำแหน่งวิชาการ (ผศ. รศ. ศ.) ผมตั้งใจฟังเป็นพิเศษ ได้เรียนรู้เทคนิคและเคล็ดลับที่จับได้จากการฟังบรรยายของ ศาสตราจารย์ ดร.อลงกลด แทนออมทอง ศาสตราจารย์ด้านพันธุศาสตร์(โครโมโซม)สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในไทยหนึ่งเดียวในประเทศ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล ศาสตราจารย์ด้านพันธุศาสตร์แมลงลิ้นดำของโลก คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ท่านอาจารย์อลงกลด บอกว่า ท่านยินดีมากหากจะมีการเผยแพร่สิ่งที่ได้ถ่ายทอดวันนี้ออกไป .... ขออนุโมทนา สาธุ กับวิทยาทานการให้แบบไม่มีเงื่อนไขนี้ ...  ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์มาก ๆ สำหรับเพื่อนในชุมชนวิชาชีพอาจารย์ ... เชิญท่านอ่านเถิด


เกริ่นนำ

ศาสตราจารย์ ดร.อลงกลด ท่านนำเสนอด้วยการเล่าเรื่องประสบการณ์ตรงของท่านเอง จึงฟังไม่เบื่อเลย เสียดายที่ไม่ได้ขออนุญาตท่านบันทึกเสียง ... ใครมีโอกาสเชิญท่านไป อย่าได้ลังเลครับ ไม่ผิดหวังดอก  ขอจับเอาเฉพาะประเด็นสำคัญๆ ที่ประทับใจ ดังนี้

  • ปัจจุบันท่านเป็นหนึ่งใน คณะพิจารณาผลงานทางวิชาการ (กพว.) (เป็นมา ๓-๔ ปี)  ซึ่งมีหน้าที่กำหนดและแต่งตั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานทางวิชาการ ผศ. รศ. ศ. ของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ.) ตำรา หนังสือ หรืองานวิจัย 
  • ท่านได้รับการประเมินเป็น ผศ. รศ. และ ศ. ด้วยการประเมินรอบเดียว 
  • ปัจจุบันท่านเป็นกรรมการอ่านผลงานของ กพอ. จึงนำประสบการณ์มาเล่าให้ฟังว่า ผลงานแบบไหนจะผ่าน ผลงานแบบไหนจะไม่ผ่าน  รวมถึงเทคนิค และเคล็ดลับ
  • ปัญหา ๓ ประการของการเขียนหนังสือหรือตำรา ที่มักพบเจอ ได้แก่
    • ขาดกำลังใจ ... เข้าใจว่าเป็นเรื่องไกลตัว กระบวนการยุ่งยาก ผ่านยาก 
    • การใช้และตีความในกฎหมายและระเบียบที่คลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น
    • คิดเข้าข้างตนเอง จนไม่ตรงกับความคิดเห็นที่ควรจะเป็น (คิดไม่เหมือนผู้ทรงคุณวุฒิตรวจผลงาน)
  • ใครอยากจะเป็น "ศาสตราจารย์" ให้ยึดหลัก ๔ ประการต่อไปนี้ 
    • ทำให้วงการในศาสตร์ของตนยอมรับ 
    • ทำงานวิชาการด้านที่เลือกให้โดดเด่น (มีงานตีพิมพ์ด้านนั้นโดดเด่น)
    • ทำผลงานวิชาการด้านนั้นต่อเนื่อง สม่ำเสมอ โดยเฉพาะงานวิจัย 
    • ถ่ายทอดองค์ความรู้ของตนเองให้เป็นหนังสือหรือตำราให้ประจักษ์ 
  • ใครตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นศาสตราจารย์ ต้องฝึกตนเองให้มี AQ (Adversity Quotient) ๔ ประการ ได้แก่ 
    • ควบคุมสถานการณ์ให้ได้ เมื่อเกิดปัญหา
    • ไม่หนีปัญหา (เข้าไปแก้ไข) ... ให้มองว่า ปัญหามีไว้ให้แก้ 
    • มองว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้
    • อดทนต่อปัญหาที่เกิดขึ้น 
  • และที่สำคัญ จะได้ตำแหน่งทางวิชาการ ต้องเป็นคนชอบเขียน .... เขียนไม่เป็นก็จบ ลำดับการพัฒนาการเขียนเอกสาร คือ
    • เขียนเอกสารประกอบการสอน -> ขอ ผศ.
    • พัฒนาเอกสารประกอบการสอน ไปเป็น เอกสารคำสอน  -> ขอ รศ. 
    • พัฒนาเอกสารคำสอน ไปเป็น ตำรา -> ขอ รศ. และ ศ.  
    • ห้ามเอาเอกสารคำสอน ไปเขียนเป็นหนังสือ ตั้งแต่ ๑ พ.ย. ๖๑ เป็นต้นไป (ระเบียบใหม่) 
  • ตามกฎหมาย เราสามารถ เขียนเอกสารวิชาการ วิชาเดียวได้ถึง ตำรา ขอ ศ. ได้เลย ไม่จำเป็นต้องเขียน ๒ วิชา  (แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา  ไม่มีใครทำวิชาเดียว)
  • วิธีการหาแรงกระตุ้น (แรงบันดาลใจ) ให้ตนเองเขียน 
    • เอาไว้ใช้ ขอตำแหน่ง ผศ. รศ. ศ.๑๐ และ ศ.๑๑
    • ได้เงินค่าตำแหน่ง  ฐานเงินเดือนสูงขึ้นด้วย
    • ชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ เกียรติยศ  (สายสะพาย) ... ชอบตรงที่ท่านบอกว่า เพื่อความภูมิใจของลูกศิษย์ 
    • ได้เผยแพร่ผลงานวิชาการของตนเอง (สร้างองค์ความรู้ใหม่)
เทคนิคการเขียน
  • ขอ ผศ. ต้องการเอกสารประกอบการสอนและงานวิจัย ... ไม่ต้องใช้หนังสือหรือตำรา
  • จะขอ รศ. ศ. ต้องเข้าใจก่อนว่า "หนังสือ" "ตำรา" แตกต่างกันอย่างไร (เรื่องนี้สำคัญมาก)  ท่านแนะไว้ดังนี้ 
    • ตำรา จะต้อง ใช้สอนในวิชา อาจใช้สอนทั้งวิชา หรือส่วนหนึ่งส่วนใดก็ได้  ผู้ยื่นขอตำแหน่งต้องเป็นผู้สอน  แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สอนทั้งวิชาก็มีสิทธิจะเขียนตำราทั้งวิชา 
      • ต้องมีเนื้อหาครบถ้วนตามคำอธิบายรายวิชา 
      • ต้องผ่านการใช้สอนมาแล้วอย่างน้อย ๑ เทอม  โดยจะพิจารณาว่าจัดพิมพ์ใด ใช่ก่อนต้นเทอมหรือไม่ 
      • บุคคลอื่น นิสิตนักศึกษาอื่น ที่ไม่ได้เรียนโดยตรง ก็สามารถ "อ่านรู้เรื่อง" 
      • ต้องมีดัชนีคำศัพท์ 
      • ต้องแสดงหลักฐานว่า ผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิ (มหาวิทยาลัยหรือคณะวิชา อาจแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมาดูแล) 
      • ต้องได้รับการเผยแพร่ เช่น 
        • พิมพ์ในโรงพิมพ์ 
        • สำนักพิมพ์   วิธีนี้ สมมติ ๓๐๐ หน้า ๕๐๐ เล่ม ๕ สี ราคาจะอยู่ที่ ๓๐๐,๐๐๐ บาท 
        • e-book  ต้นทุนอยู่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท 
        • online  ต้นทุน ๐ บาท  ทั้งนี้ต้องได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการ 
      • สมมติขอแล้ว "ไม่ผ่าน" คือ "ตก" ให้รีบแก้ไข ปรับปรุง ส่งกลับมาใหม่ให้เจอกรรมการชุดเดิม ...อย่างทิ้ง 
      • ผลการประเมินตำรา ต้องผ่านเกณฑ์ ตามระดับการขอตำแหน่ง  ผศ. ต้องได้ ระดับดี รศ. ต้อง ระดับดีมาก และ ศ. ต้องได้ระดับดีเด่น 
    • หนังสือ  ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับวิชาที่สอน  ไม่ต้องใช้ในการสอน ไม่สามารถพัฒนามาจากเอกสารคำสอนได้  รูปแบบเหมือนกันหมด  มีดัชนีเหมือนกัน  มีข้อแนะนำเพิ่มเติมดังนี้ 
      • ไม่ควรทำแบบ Book Chapter  ...  ต้องให้ครบถ้วนองค์ประกอบ 
      • หากได้รับการประเมิน "ตก" ก็ให้รีบแก้ไขเหมือนกัน 
    • ผศ. รศ. ศ. จะเน้นการประเมินผลงานวิจัยและตำราหนังสือเป็นหลัก  ส่วนเอกสารประกอบการสอนและเอกสารคำสอนนั้น เป็นการประเมินโดยใช้กรรมการภายในหน่วยงาน  กรรมการสองชุดนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน
    • การขอ ศ. นั้น แตกต่าง จากการขอ รศ. ใน ๒ ประเด็นหลักๆ คือ 
      • การอ้างอิงของผลงานวิจัย  และ
      • การยอมรับทางวิชาการ (ในวงการ)
    • วิธีการพัฒนาจากเอกสารคำสอนไปเป็นตำรา อาจใช้เทคนิคการ "ยุบรวม" และการ "แยกบทเรียน" เช่น 
      • ในเอกสารคำสอน กำหนด บทที่ ๒ ทฤษฎีพันธุกรรมตามกฎเมนเดลและนอกกฎเมนเดล  เมื่อมาเขียนเป็นตำรา ให้แยกออกเป็น ๒ บท 
      • ในเอกสารคำสอน กำหนด บทที่ ๒ การใช้โปรแกรมในระบบปฏิบัติการดอส  เมื่อมาเขียนเป็นตำรา ให้แยกเป็น การใช้โปรแกรมในระบบปฏิบัติการดอสเบื้องต้น และ การใช้โปรแกรมในระบบปฏิบัติการดอสขั้นสูง 
      • เป็นต้น 
    • ต้องมีการนำเอางานวิจัยของตนเองและของผู้อื่น แทรกอ้างอิงหรือเป็นตัวอย้างในตำรา 
ข้อควรคำนึงในการเขียนตำรา หนังสือ

มีงานวิจัยของ ม.เกษตรฯ บอกว่า การยื่นขอตำแหน่ง รศ. นั้น ส่วนมากงานวิจัยผ่าน แต่ตกหนังสือหรือตำรา ผู้เสนอขอตำแหน่งจำนวน ๒๔๒ คน ส่วนใหญ่ไม่ผ่านเพราะตำราหรือหนังสือ 
    • ร้อยละ ๕๐ เนื้อหาไม่ต่อเนื่อง ไม่สมบูรณ์ ไม่ลึกซึ้ง และไม่ทันสมัย 
    • ร้อยละ ๓๐ ไม่มีการสอดแทรกประสบการณ์ที่เกิดจากการค้นคว้าของตนเองเข้าไปในตำรา หรือสอดแทรกน้อยเกินไป 
    • ร้อยละ ๒๐ ไม่มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือเนื้อเรื่องไม่มีความสำพันธ์กัน และอ้างอิงไม่ถูกต้อง  
โดยสรุป ท่านเน้นว่า 
  • สาเหตุที่ทำให้ "ตก"การประเมินตำราหรือหนังสือ ที่มักพบคือ 
    • เขียนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์  (ร้อยละ ๕๐ ของผลงานที่เคยอ่านมา) ต้องเขียนให้เต็มวิชา   มักไปยึดติดกับคำอธิบายรายวิชา   ที่ถูกต้อง ต้องไปเอาหนังสือตำราในศาสตร์นั้นๆ มาพิจารณาดู 
    • จำนวนบทไม่มีการกำหนดตายตัว   ๑๐ บท น่าจะกำลังดี  ๕ บทแรกให้เป็นทฤษฎี ๕ บทหลังให้เป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎี  ซึ่งเป็นหลักการแบบนี้คล้ายกันทุกศาสตร์  
    • ควรจะมีจำนวนหน้ามากกว่า ๒๐๐ หน้า  ควรจะเป็น ๒๕๐-๓๐๐ หน้า ... ตำราที่ท่านยื่น ๖๐๐ กว่าหน้า ....ฮา
    • ถ้าเป็นไปได้ ให้เพิ่มอีก ๒ บท โดยเฉพาะสายวิทยาศาสตร์  คือ 
      • แลป หรือ เทคนิคการปฏิบัติ  
      • เรื่องน่าสนใจ  เรื่องเด่นๆ  หรือ การประยุกต์ใช้ที่ใหม่ งานวิจัยใหม่ๆ  ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะงานวิจัยของตนเองหรือจากงานวิจัยอื่นๆ 
    • อย่าเขียนตำราคู่มือปฏิบัติการ หรือ ความรู้ขั้นพื้นฐานมากเกินไป เพราะมักจะไม่ผ่าน เช่น
      • General Biology
      • Principle of Computer 
      • etc. 
  • ต้องเลือกหนังสือที่ตนเอง ทั้งรักและสามารถต่อยอดได้ ไม่ใช่รักอย่างเดียว  ตอนทำ ผศ. ให้กำหนดสาขาไว้กว้างๆ ก่อน 
  • งานวิจัยและตำราไม่สอดคล้องกัน ทำให้ไม่สามารถนำเอางานวิจัยมาแทรกเป็นตัวอย่างในตำราของตนเอง จึงตก  จะให้ดี คือให้วางแผนล่วงหน้าเลยว่า จะเขียนตำราอะไร จะต้องทำวิจัยอะไร งานวิจัยแต่ละชิ้นจะไปเขียนในตำราตรงไหน
การวางแผนในการขอตำแหน่งวิชาการ

ต่อไปนี้ เป็นคำแนะนำที่ท่านบอกไว้เป็นแนวทางสำหรับผู้มาใหม่ 
  • เริ่มที่ ผศ. (ระดับ ซี ๘) ก่อน ดังนี้ 
    • เขียนเอกสารประกอบการสอนในรายวิชาพื้นฐาน สัก ๘ บท ๒๐๐ หน้า เขียนให้เต็มวิชา 
    • ใช้งานวิจัยในการขอประเมิน ๒ เรื่อง  ควรเป็น TCI ฐาน ๑ หรือ ฐาน ๒ โดยต้องเป็นเจ้าของร้อยละ ๕๐ หรือเป็น Corresponding Author (ผู้นิพนธ์หลัก)  ข้อแนะนำ 
      • หากผลงานนั้น มีชื่อมากกว่า ๒ ชื่อ จะใช้ได้ เพียง ๑ คน ... ใช้ได้ครั้งเดียว 
      • หากผลงานนั้น มีชื่อ ๕ คน ชื่อสุดท้ายเป็นผู้นิพนธ์หลัก  คนอื่นก็ใช้ไม่ได้ 
  • ในระดับขอ รศ. (ระดับ ๙)
    • เขียนเป็นเอกสารคำสอน วิชาเฉพาะด้าน (เล่มที่ ๑)  ประมาณ ๑๐ บท ๒๕๐ หน้า 
    • งานวิจัยอย่างน้อย ๓ เรื่อง ในฐานข้อมูล SCOPUS หรือ ISI หรือ อย่างน้อยต้อง TCI ฐาน ๑  และต้องเป็นเจ้าของ ร้อยละ ๕๐ หรือ เป็นผู้นิพนธ์หลัก 
    • ตำรา  (ที่พัฒนามาจากเอกสารคำสอน) ประมาณ ๑๒ บท ๓๐๐ หน้า 
    • ในแต่ละบทต้องเริ่มด้วยคำนำ และมีบทสรุป 
  • ในระดับขอ ศ. (ระดับ ๑๐)
    • เขียนเอกสารคำสอน วิชาเฉพาะด้าน (เล่มที่ ๒) 
    • งานวิจัยอย่างน้อย ๕ เรื่อง ในฐานข้อมูล SCOPUS หรือ ISI หรือ อย่างน้อยต้อง TCI ฐาน ๑  และต้องเป็นเจ้าของ ร้อยละ ๕๐ หรือ เป็นผู้นิพนธ์หลัก  
    • เขียนตำราที่พัฒนาจากเอกสารคำสอนเล่มที่ ๒ และเขียนหนังสือหรือตำราเพิ่มอีก ๑ เล่ม  (รวมเป็นต้องมีเอกสารคำสอน ๑ เล่ม ตำรา ๑ เล่ม และหนังสือหรือตำราอีก ๑ เล่ม รวมทั้งหมด ๓ เล่ม)
    • ให้ตั้งใจว่า "ในชีวิตนี้ขอให้ได้ส่งสักครั้ง ผ่านไม่ผ่าน ไม่ได้คาดหวังอะไร แต่จะทำให้ดีที่สุด ณ ปัจจุบัน"  (ตอนที่ท่านยื่น ศ. ท่านใช้ วุฒิปริญญาโท ยื่น) 
กฎ ๒ ข้อ ของการเขียนตำราหรือหนังสือ


  • กฎข้อที่ ๑ ต้องรวบรวมหนังสือต้นแบบที่จะนำมาเขียนทั้งภาษาไทยและภาษาสากล แล้วพิจารณากำหนดเนื้อหาให้ครอบคลุม ครบถ้วน สมบูรณ์ และวางโครงเรื่องให้ต่อเนื่อง 
  • กฎข้อที่ ๒ ในแต่ละบทให้กำหนดหัวข้อย่อยในแต่ละบท  ดังนี้ 
    • เริ่มด้วย คำนำ
    • จบด้วย บทสรุป 
    • สองบทสุดท้าย ควรจะเป็นเรื่องของการประยุกต์ที่เข้ากับงานวิจัยของผู้เขียน หรืองานวิจัยเด่นๆ และทันสมัย 
    • ถ้าจะให้ดีควรมีคำถามท้ายบท  (และเฉลยไว้ท้ายเล่ม)
  • กฎข้อที่ ๓ ต้องเขียนอย่างต่อเนื่อง โดย 
    • ไม่จำเป็นต้องเรียงบท บทไหนก่อนก็ได้ เขียนต่อจิ๊กซอไปเรื่อยๆ 
    • เวลาเช้ามืด จะมีพลังความสดชื่น ทำต่อเนื่อง ๑ เดือนจะเห็นความก้าวหน้า เกิดกำลังใจเอง 
    • สามารถทำงานอื่นๆ หลายอย่างพร้อมกันได้กับการเขียน แต่ต้องต่อเนื่อง 
เทคนิคเคล็ด(ไม่ลับ) เพิ่มเติม
  • คำศัพท์ สำคัญมาก  ให้ยึดศัพท์ตามราชบัณฑิตกำหนด หรือทับศัพท์ก็ได้ เช่น 
    • Software  ศัพท์ราชบัณฑิตบัญญัติคือ ชุดคำสั่ง  (ไม่ใช่ ละมุนภัณฑ์)  เขียนทับศัพท์คือ ซอร์ฟแวร์ 
    • Join Stick ศัพท์บัญญัติคือ ก้านควบคุม (ไม่ใช่ แท่งหรรษา) หรือเขียนทับศัพท์คือ จอยสติ๊ก
    • ฯลฯ
  • การเขียนทับศัพท์ ต้องเขียน "ภาษาพูด" หรือ เขียนเรียนเสียง ไม่ใช่เขียนภาษาอ่าน  เช่น 
    • Michael  ถ้าเป็นชื่อผู้ชาย จะเป็น ไมเคิล  ถ้าเป็นผู้หญิงเป็น มิเชล แต่ถ้าเป็นคนรัสเซีย ต้องเขียน มิกคาอิล หรือถ้าเป็นคนสวิส ต้องเป็น มิกาเอล 
    • ฯลฯ 
  • การเขียนทับศัพท์ ให้เขียนวงเล็บภาษาต่างประเทศ เพียงครั้งแรก ครั้งเดียวเท่านั้น ต่อไปให้ใช้คำภาษาไทย 
  • ภาษาอังกฤษในวงเล็บต้องตัวพิมพ์เล็กเสมอ ยกเว้นคำเฉพาะ เช่น ชื่อคน ชื่อสถานที่ ฯลฯ เท่านั้น 
  • ภาษาในภาพทุกภาพ ต้องเป็น ภาษาไทย  โดยอาจใช้คำว่า "ดัดแปลงจาก..... " 
  • ทุกภาพต้องชัดเจน ไม่เบลอ 
  • ต้องไม่ก๊อปปี้เพลส เด็ดขาด  ต้องใช้การเรียบเรียง  
  • ออกแบบปกให้สวยงาม 

จบเท่านี้นะครับ ... จะไปเขียน(รวบรวมและเรียบเรียง)กับเขามั่ง 

เทคนิคจาก ศ.ไพโรจน์ ก็น่าสนใจ ใครสนใจอ่านต่อ มีไหมครับ...ฮา

วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561

PKA Model of Teaching (Sciences)

ผมสอนรายวิชา 0204555 Concept and Teaching Innovation in Physics มาหลายปี พัฒนาการสอนของตนเองมาเรื่อยๆ  จนปัจจุบัน ได้นำเสนอโมเดลการสอน ๓ ขั้นตอน สำหรับการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์ ต่อไปจะขอเรียกว่า การสอนแบบ PKA หรือ PKA Model ต่อนิสิต

PKA  ไม่ได้ย่อมาจาก Process-Knowledge-Attitude หรือ KPA ตามทฤษฎีการเรียนรู้ด้านทักษะทางปัญญา (Cognetive Domain) ของบลูม (ฺBloom's Taxonomy) แม้หลักคิดจะมาจากทฤษฎีของบลูม PKA มาจาก Phenomenon-Knowledge-Applications เป็นบันได ๓ ขั้นตอนในการสอนวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์) แต่ละหัวเรื่อง



  • การสอนฟิสิกส์ ซึ่งเป็นวิชาที่ว่าด้วยการอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ จะต้องเริ่มด้วย "ขั้นปรากฏการณ์" (เสมอ
  • โดยต้องแยกแยะหรือกำหนดอย่างชัดเจนว่า องค์ความรู้ใดที่ต้องเกิดกับผู้เรียนหลังจากการเรียนรู้ 
  • และจะต้องสอนไปให้ถึงระดับ "การนำไปใช้" หรือ "ประยุกต์ใช้" (เสมอ) และทำให้ผู้เรียนทราบเป็นระยะๆ ว่าเขากำลังฝึกฝนทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ใด จากกิจกรรมการเรียนรู้
  • ต้องจัดให้มีการสะท้อนการเรียนรู้ (Learning Refleciton) (เสมอ)



  •  ขั้นที่ ๑ "ขั้นปรากฏการณ์"
    • ขั้นแรกต้องทำให้ผู้เรียนได้เห็นปรากฏการณ์ (ธรรมชาติ)  จะดีที่สุดถ้าสามารถทำให้ผู้เรียนได้สัมผัสปรากฏการณ์นั้นๆ จริงๆ ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ได้ อาจเลือกใช้วิธีต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น การเล่าเรื่อง การสาธิต การทัศนศึกษา การให้ดูสื่อมัลติมิเดียต่างๆ  เช่น คลิปวีดีโอ หนังสั้น เป็นต้น 
    • Expected Learning Outcome (ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง) ของขั้นนี้ได้แก่  
      • ด้านองค์ความรู้ จะขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่ต้องการจะให้เกิดกับผู้เรียน ดังนั้น การสอนในขั้น "ปรากฏการณ์" นี้ ถือเป็นการสอนขั้น "นำเข้าสู่บทเรียน" ในรูปแบบการสอนทั่วไป
      • ด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญๆ คือ การสังเกต สงสัย และการตั้งสมมติฐาน 
      • ด้านเจตคติสำคัญ โดยเฉพาะการเรียนรู้ในหัวเรื่องใดๆ ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการสร้างแรงบันดาลใจในการสอนขั้นนี้ 
    • ข้อควรคำนึงถึง ของการสอนในขั้นตอนนี้มี ๓ ประการ ได้แก่
      • ปรากฏการณ์ที่เลือกหรือยกขึ้นเป็นตัวอย่าง ต้องสอดคล้องกับองค์ความรู้ที่ต้องการให้เกิดในผู้เรียน 
      • ควรเป็นปรากฏการณ์ใกล้ตัวผู้เรียน ให้เลือกเหตุการณ์ที่ผู้เรียนคุยเคยก่อน เพื่อให้คิดตามและจิตนาการภาพได้ง่าย โดยเฉพาะกรณีที่สอนโดยการเล่าเรื่อง  ในกรณีที่เป็นเหตุการณ์ที่ผู้เรียนไม่เคยพบเห็น ควรเลือกใช้สื่อ หรือพาไปสัมผัสของจริง หรือนำมาสาธิตในชั้นเรียน
      • เป้าหมายสำคัญที่สุดคือ แรงบันดาลใจ เห็นประโยชน์ เห็นความสำคัญ เกิดความรู้สึก "อยากรู้ อยากเรียน" และรู้ด้วยว่าเรียนไปทำไม ผู้เรียนพร้อมเต็มที่ทั้งกายและใจต่อการเรียนรู้ในครั้งนั้นๆ 


  • ขั้นที่ ๒ "ความรู้" 
    • เมื่อผู้เรียนเข้าใจว่า "ปรากฏการณ์" เป็นอย่างไร ได้สัมผัส สังเกต สงสัย และเกิดความอยากรู้อยากเรียนในใจแล้ว ขั้นต่อไปคือ "การสอน" (Teaching) 
    • "การสอน" การสอนที่ดีไม่ควรมีรูปแบบตายตัว อย่างไรก็ดี ผู้เรียนต้องเรียนรู้จากรูปแบบการเรียนรู้ที่มีอยู่ก่อน ก่อนจะไปสู่การ "ไร้รูปแบบ" และ "ริเริ่มรูปแบบใหม่" ... ผมแนะนำนิสิตถึงลำดับขั้นของการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ที่นี่ 
    • โดยทั่วไป กระบวนการสอนเพื่อให้เกิดความรู้ที่เป็นสากลในตัวผู้เรียน จะมีขั้นตอนดังนี้ 
      • เริ่มด้วย "ขั้นสัญลักษณ์"  คือ กำหนดนิยามหรือความหมาย เพื่อการสื่อสาร ต้องบอกให้ชัดเจนว่า ผู้เรียนจำเป็นต้องจดจำสิ่งใด ข้อใด เพราะเป็นนิยามเบื้องต้นที่ทุกคนที่กล่าวถึงเรื่องนั้นๆ จะเข้าใจกันทันที   
      • "ขั้นความสำคัญ" และ "ขั้นสัมพันธ์" เป็นการสอนให้ฝึกคิดวิเคราะห์ โดยผู้สอนต้องใช้คำถาม-คำตอบ ให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดแยกแยะว่าปรากฏการณ์นั้นเกี่ยวข้องกับปริมาณใดบ้าง แต่ละอันสำคัญและสัมพันธ์กันอย่างไร เน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกอธิบายความเข้าใจของตนเอง ฝึกตั้งสมมติฐาน และอภิปรายความคิดความเห็นของเพื่อน  ก่อนที่คุณครูจะสรุป และเริ่มเข้าสู่ "ขั้นสอน"
      • "ขั้นสอน" เป็นการอธิบายถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นสาระสำคัญของเรื่องนั้นๆ ให้ผู้เรียนฟัง การสอนที่ดีในขั้นนี้ควรเน้นทั้งเนื้อหาและกระบวนการ เพื่อฝึกการคิด "สังเคราะห์" หรือ "สร้างสรรค์" ด้วย 
        • เนื้อหา เน้นไปที่ กฎ ทฤษฎี สำคัญๆ หรือองค์ความรู้ที่เป็นแก่นสาระเลย
        • กระบวนการ คือ เล่าเรื่องให้เห็นกระบวนการศึกษาทดลองที่ทำให้ได้องค์ความรู้นั้นๆ มา  เล่าให้เห็นกระบวนการคิด การทำ และความพยายามของผู้ค้นพบเรื่องนั้นๆ ... ครูที่ดีต้องรอบรู้เรื่องประวัติวิทยาศาสตร์ต่างๆ หรืออัตชีวประวัติของนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ อันจะทำให้ผู้เรียนสนุก มีความสุขจากการได้รับความรู้ใหม่ไปด้วย 
    • อย่าลืมที่จะให้ผู้เรียนสะท้อนการเรียนรู้ "Learning Reflection" เสมอ ก่อนจะจบขั้นนี้


  • ขั้นที่ ๓ นำไปใช้ 
    • ขั้นตอนนี้สำคัญมาก และการสอนส่วนใหญ่ เป็นไปไม่ถึงขั้นนี้  
    • การสอนที่ดีควรจะทำให้ผู้เรียนได้รับรู้ เรียนรู้ หรือดีที่สุดคือ ได้ทดลองนำองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้นั้นไปประยุกต์ใช้  ซึ่งจะเป็นไปในลักษณะใด จะขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระ จังหวะ หรือโอกาส  
      • ให้ลองทำตามตามลำดับขั้น 
      • ให้ทำเอง โดยไม่ต้องดูต้นแบบ
      • ให้ทดลองด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ 
      • ให้ทำวิจัยค้นคว้า
      • นำไปใช้ทำประโยชน์ 
      • ให้ลองทำวิทยาทาน (ทาน) คือการไปสอนผู้อื่น 
จงเรียนรู้รูปแบบเพื่อที่จะไปสู่การ "ไร้รูปแบบ" (ไร้กระบวนท่า) ไปสู่การ "ริเริ่มรูปแบบใหม่" ...เถิด