วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2562

นิเทศนิสิตฝึกสอน_๑๐: โรงเรียนยางตลาด ปีการศึกษา ๒๕๖๒ ครั้งที่ ๒

วันพฤหัสบดี ที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ ไปทำหน้าที่ในบทบาทอาจารย์นิเทศก์ นิเทศการสอนของนิสิตฝึกงาน ณ โรงเรียนยางตลาดวิทยาคาร อ.ยางตลาด ครั้งนี้ไปเป็นครั้งที่ ๒ ของปีการศึกษา  คุณครูที่โรงเรียนบอกผมว่า ขอบคุณมากนะที่ส่งนิสิตมือหนึ่งมาให้ นิสิตทั้งสองคนที่มาฝึกสอนที่นี่ปีนี้ สร้างชื่อเสียงให้หลักสูตรและมหาวิทยาลัยอย่างดี ... แบบนี้รุ่นน้องก็จะได้รับโอกาสดีนี้ต่อไปครับ

ผมไปถึงก่อนเวลาพอสมควร นั่งฟังท่าน ผอ.และคุณครูทำกิจกรรมหน้าเสาธง ทราบว่า ช่วงนี้ทางโรงเรียนกำลังเตรียมตัวเพื่อรับการประเมิน สมศ. รอบที่ ๔ ที่พักไปนาน ... ในใจผมนึกว่า ถึงจะปรับทิศทางหรือสื่อสารอย่างไร การตั้งท่ามาประเมินแบบนั้น ยังไงก็กระทบครูในชั้นเรียนอยู่ดี ซึ่งก็คือกระทบนักเรียนนั่นเอง .... ทำไมเขาไม่เลิกไปเสีย แล้วปล่อยให้ "คนสนใจการศึกษา" ในพื้นที่มาหาทางกันเอง

นิสิตคนที่ ๑

นิสิตคนที่ ๑ สอนเรื่องโครงสร้างอะตอม  ไอเดียในการสอนคือ ให้เด็ก ๆ แบ่งกันเป็นกลุ่ม แล้วศึกษาดวยตนเอง ก่อนจะให้ลงมือทำแบบจำลองโครงสร้างอะตอมของธาตุที่สุ่มเลือกได้ ซึ่งคุณครูจะเตรียมมาให้ในลักษณะ "เมมโม่" การะดาษพับขนาดโพสท์อิท ดังรูป









สังเกตว่า สื่อ "เมมโม่" ที่คุณครูเตรียมน่าจะใช้เวลาพอสมควร เพราะน่าจะทำด้วยตนเองทั้งหมด แต่หลังจากสอนเสร็จแล้ว นิสิตสะท้อนว่า ตนเองต้องการเวลาเตรียมตัวมากกว่านี้  จึงขอให้กำลังใจ และขอป้อนกลับให้นำไปคิดต่อดังนี้ครับ

  • เมื่อเห็นแผนการสอน ....มีความเห็นว่า สาระที่กำหนดในแผนการสอนเรื่องโครงสร้างอะตอม ซึ่งคงจะกำหนดเป้าหมายไว้ในหลักสูตรแกนกลาง พ.ศ.๒๕๕๑ หรือฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๐  เป็นเนื้อหาที่ "ไม่เท่าทันสมัย" กับองค์ความรู้และความเข้าใจใหม่ ๆ ซึ่งได้รับการยอมรับแล้ว  และเมื่อไปตรวจสอบเนื้อหาในหนังสือของ สสวท. (สำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตหนังสือตามหลักสูตรฯ ก็เห็นเป็นเช่นนั้นจริง ๆ   พบว่ามีเนื้อหาไม่ครอบคลุมความคิดรวบยอดความคิดเบื้องต้นที่ นักเรียนควรจะทราบ เช่น 
    • ความคิดรอบยอดของ โครงสร้างอะตอม ในหนังสือ สสวท. กล่าวถึง โมเดลของจอห์ ดอนตันเท่านั้น   ... ควรจัดให้นักเรียนได้เห็นลักษณะของโครงสร้างอะตอมของโบว์ (Bohr atom) โมเดลของอะตอมแบบกลุ่มหมอกไปเลย 
    • สสวท. น่าจะมีเจตนาปูพื้นฐานความคิดรวบยอดว่า ทุกสิ่งอย่างประกอบขึ้นจากอะตอม และอะตอมมีโครงสร้างอะตอมเบื้องต้นคือ มีนิวเคลียสซึ่งโปรตอนและนิวตรอน และมีอิเล็กตรอนโคจรอยู่รอบ ๆ และจำนวนอนุภาคในโครงสร้างอะตอมนี้เองที่ทำให้ธาตุแต่ละธาตุมีความแตกต่างกัน ... แต่ถ้าครู่ไม่เข้าใจในเจตนานี้ คุณครูจะไปยึดเอาเนื้อหาความรู้ที่ตอนสมัยเป็นนักเรียนตนเองได้เรียนมา จดจำมา เช่น อะตอมคือสิ่งที่แยกออกอีกไม่ได้ ตามความหมายในภาษากรีก ซึ่งยังคงกล่าวไว้ในหนังสือ  แต่ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ ได้ค้นพบแล้วว่า โปรตอน นิวตรอน นั้นประกอบขึ้นจากควาร์ก (quark) ชนิดต่าง ๆ  และนอกจากอนุภาคเหล่านี้แล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังพบอนุภาคชนิดต่าง ๆ อีกหลายสิบชนิด ... เสนอว่า เราควรจะศึกษาให้ทันสมัย และสอนตรงลงไปเลยว่า ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับโครงสร้างอะตอม 
    • ฯลฯ 
  • ช่วงต้น ๆ ของการสอน คุณครูฝึกสอน ไม่ลืมที่จะทบทวนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเรียน ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นมากและดีมาก  แต่หากเพิ่มเติมเทคนิคบางอย่างเพื่อให้มั่นใจว่า เด็ก ๆ ทุกคนได้มีส่วนร่วมจะดีมาก ...  เช่น การให้เด็กมีส่วนร่วมโดยการประเมินตนเองด้วยมือ ๕ นิ้ว คล้าย ๆ กับที่เราทำแบบสอบถาม ๕ ระดับ (rating scale) แต่แทนที่จะเขียนตอบ เป็นการยกมือชูนิ้วแทน ซึ่งสามารถประเมินได้ทันที และมีข้อดีที่เด็ก ๆ ทุกคนจะได้มีส่วนร่วม และได้ฝึกประเมินตนเอง 
  • เมื่อใดที่แบ่งกลุ่ม แสดงว่า เราจะได้ฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม หรือทักษะความร่วมมือ แต่ถ้าสังเกตให้ดี ช่วงแรก ๆ เด็ก ๆ จะยังไม่สามารถ "คิดงาน" เองได้ และยังไม่สามารถจะมอบหมายหน้าที่กันได้ คุณครูจึงต้องใช้ "ใบงาน" "ใบกิจกรรม" เข้าช่วย  และถ้าจำเป็น (สังเกตเห็นว่าเด็กไม่สามารถรันกระบวนการกลุ่มได้) คุณครูควรจะสนับสนุนหรือก่อน เช่น กำหนดหน้าที่ให้ พาให้แบ่งหน้าที่ กำหนดให้ช่วยกันเลือกหัวหน้า เลขาฯ  ... เมื่อนักเรียนทำงานเป็นทีมเป็นบ้างแล้ว ครูจึงค่อย ๆ ถอยออกมาเป็นผู้สะท้อนป้อนกลับเพื่อให้นักเรียนพัฒนาต่อไป 
  • หน้าที่ของการเป็น "ครูวิทยาศาสตร์" คือ การปลูกฝัง "จิตวิทยาศาสตร์" และ ฝึก "ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์" ให้ผู้เรียน ในบางหัวเรื่อง (บางแผนการสอน) อาจไม่เหมาะสมที่จะออกแบบการสอนที่นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ ทดลอง  อีกวิธีการหนึ่งของการปลูกฝังจิตวิทยาศาสตร์ คือ การสร้างแรงบันดาลใจ ผ่านเรื่องเล่า เรียกว่า "เรื่องเล่าเร้าพลัง"   โดยเล่าถึงประวัติชีวิตของนักวิทยาศาสตร์สำคัญ ๆ และเล่าให้ชัดถึงกระบวนการค้นพบองค์ความรู้ที่กำลังจะเรียนนี้   ... เท่าที่อาจารย์สืบค้นดู ทาง สสวท. ก็ทุ่มงบประมาณในการสร้างสื่อเหล่านี้ครับ ดูที่คลิปด้านล่างนี้เป็นต้น  ... แต่เอาคลิปแบบนี้ไปเปิดก็น่าเบื่อ....  คุณครูต้องฝึกเล่าเรื่อง เล่านิทาน เล่าเหมือนเล่าตำนาน  คนไทยจะชอบฟัง 

  • ความคุ้มค่า หรือ ที่มักเรียกภาษานักบริหารว่า "ประสิทธิภาพ" นั้น เป็นอีกประเด็นที่ครูฝึกสอนต้องค่อย ๆ พัฒนา  การทุ่มเทอย่างมากในการเตรียมตัว แต่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้น้อย เรียกว่า ไม่คุ้มค่า  แต่การไม่ลงทุนไม่พาเด็ก ๆ ทุ่มเทเรียนด้วยตนเอง เด็ก ๆ ย่อมไม่เกิดความเข้าใจที่แท้จริง  ดังนั้น คุณครูต้องคิดพิจารณาและทดลองพัฒนาเรื่องนี้  เรียกว่ากระบวนการนี้ว่า "วิจัยในชั้นเรียน" (Aciton Research) นั่นเอง ... จากการสังเกตวันนี้ อาจารย์พบว่า 
    • คุณครูทุ่มเทเวลาทำ "เมมโม่" มาเอง ... ถ้าให้นักเรียนแต่ละกลุ่มทำกันเอง อาจจะคุ้มค่า เพราะเด็กได้เรียนมากขึ้น  ... แบบนี้เรียกว่า ไม่คุ้มค่าเหนื่อย 
    • คุณครูแบ่งกลุ่ม ๆ  ละหลายคน แต่มอบหมายให้นักเรียนทำ โมเดลโครงสร้างอะตอมในกระดาษใบเดียว ซึ่ง น่าจะ ๑ คน ๑ โมเดล ... จึงตีความว่า ออกแบบให้เด็ก ๆ ลงทุนน้อยไปหน่อย 
    • การใช้เวลาถึง ๒ ชั่วโมงเต็ม เพื่อให้เรียนรู้ว่า อะตอมประกอบด้วย นิวเคลียสที่มีองค์ประกอบคือโปรตอนและนิวตรอน และมีอิเล็กตรอนวิ่งรอบ ๆ   น่าจะเป็นเรื่องใช้ "เวลาไม่คุ้มค่า" 
    • ฯลฯ 
  • การให้เด็ก ๆ ได้นำเสนอเป็นเรื่องดี เพราะเด็ก ๆ ที่เป็นผู้นำเสนอจะได้ประโยชน์จากการได้ฝึก แต่ถ้าการนำเสนอสามารถดึงความสนใจของนักเรียนทั้งห้องได้  ผู้ฟังจะได้ประโยชน์ด้วย คือ การได้ฝึกฟังและเรียนรู้จากเพื่อน  ... คุณครูต้องสร้างบรรยายการแบบหลังนี้ให้ได้   เชียร์ครับ...
  • สิ่งที่สำคัญและยังไม่เห็นในการสอนของนิสิตคนที่ ๑ นี้คือ กระบวนการสะท้อนการเรียนรู้ครับ  ต้องทำให้ได้นะครับ ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการ Learning Reflection เสมอ 
นิสิตคนที่ ๒

นิสิตคนที่ ๒ สอนเรื่อง "งาน" สาระสำคัญคือ งานในทางฟิสิกส์คือ ผลคูณของแรงที่กระทำกับวัตถุและระยะทางที่วัตถุเคลื่อนที่ในทิศเดียวกับแรง คุณครูฝึกสอน มีเทคนิควิธีการสอนที่น่าสนใจมาก คือ ให้นักเรียนแต่ละคนออกมาสุ่มเลือกรับภาพสถานการณ์ไป แล้วใช้กระบวนเรียนทั้งทางฐานกาย คือให้วาดรูปสถานการณ์นั้น และฐานคิด คือให้พิจารณาว่า กรณีที่ได้รับทำให้เกิด "งาน" ทางฟิสิกส์หรือไม่ ....




เสียดายที่ ต้องกลับไปสอนตอนบ่ายสามโมง  จึงไม่ได้อยู่ดูตอนจบว่ามีการสะท้อนการเรียนรู้อย่างไร  ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่เห็นและอยากสะท้อนเป็นกำลังใจให้ทำต่อไปครับ 
  • เห็นบรรยากาศของการตั้งใจเรียนอย่างมาก นักเรียนมีส่วนร่วมกับคุณครูอย่างเป็นธรรมชาติ เบื้องหลังน่าจะเป็นความ "ศรัทธา" ที่นักเรียนมีต่อคุณครูฝึกสอนของเราแล้วพอสมควร 
  • เห็นการเตรียมตัวที่ดีมาก สังเกตจาก การดำเนินการตามแผนอย่างเป็นขั้นตอน ใช้สื่ออุปกร์ที่เตรียมไว้อย่างมีลำดับ และเห็นความมั่นใจ ไม่เก้อเขินใด ๆ ให้เห็นเลย 
  • เห็นการสอดแทรกคุณธรรมให้น้องนักเรียนด้วย ....  ตอนแรกคิดว่าไม่น่าจะมีในวิธีการของนิสิตฝึกสอน แต่เมื่อนักเรียนคนหนึ่งออกไปปรึกษาเรื่องงาน  คุณครูของเราสะท้อนประสบการณ์ของตนเองหลายอย่าง  เป็นที่ชัดเจนว่า มีการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมอย่างชัดเจน จึงได้แก้ไขให้เต็มครับ 
  • หากนิสิตเล่าเรื่องต่าง ๆ  เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย หรืออาจเป็นเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ เป็นความรู้เสริม น่าจะเปลี่ยนบรรยายกาศของการเรียนรู้มากขึ้น นอกจากรู้ลึกแล้ว จะรู้รอบด้วย 
สุดท้ายนี้ ...  อาจารย์ขอแลกเปลี่ยนเรื่อง "งานในทางฟิสิกส์" กับ "งานในชีวิตประจำวัน" เพราะมักจะสอนกันว่า สองอย่างนี้เป็นคนละอย่างกัน แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง  ใช่ครับในหลายกรณีคำว่า "งาน"  แตกต่างกันมากในสองกรณีนี้   เช่น ผมจะไปหางานทำ ...... งานในที่นี้ หมายถึง การงานและอาชีพ หรือถ้านายจ้างจะมอบหมายงานให้ .... งานในที่นี้ อาจหมายถึง งาน ที่ครูจะให้ไปทำ  แต่ถ้าลองคิดว่า ชายคนหนึ่ง มีหน้าที่เป็นกรรมการแบกหาม   นายจ้างมอบหมายให้เขาแบกกระสอบข้าวสารหนัก ๕๐ กิโลกรัม เดินไปเป็นระยะทาง ๑๐ เมตร ชายคนนี้จะไม่ได้ทำ "งาน" ในทางฟิสิกส์เลย เพราะทิศทางที่เขาเดินตั้งฉากกับทิศทางของแรงที่เขาแบกเข้าสาร ... คำถามคือ แล้วทำไมชายคนนี้จึงเหนื่อย ทำไมชายคนนี้จึงถือว่า ได้ทำงานตามนายจ้างสั่ง และนายจ้างก็จะให้เงินค่าจ้างกับเขาด้วย .... ทำไมงานในวิชาฟิสิกส์จึงต่างจากงานในชีวิตจริงขนาดนั้น งานในทางฟิสิกส์ไม่สามารถอธิบายเหตุการณ์นี้ได้เลยหรือ? 

คำตอบคือ ไม่ใช่อย่างนั้นครับ  ชายคนนั้น ชายคนที่แบกข้าวสารนั้น เขาเหนื่อย เพราะเขาได้งาน ได้งานในทางฟิสิกส์ เพราะในการเดินไปข้างหน้า เขาต้องเอาชนะแรงเสียดทานกับพื้น  หากไม่มีแรงเสียดทาน เขาจะเดินไปข้างหน้าไม่ได้ และการเอาชนะแรงเสียดทานนั้น เขาก็ได้ทำงานที่นายจ้างมอบหมาย  ซึ่งก็หมายถึงเขากำลังทำงานในชีวิตประจำวัน ... ดังนั้นจึงขอสรุปให้มั่นใจว่า ฟิสิกส์คือวิชาที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์เกี่ยวกับสสารและพลังงานในชีวิตจริง  ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม 

ขอบจบเท่านี้ครับ ขอให้กำลังใจว่าที่คุณครู "วัลบรรจุ" และ "อภิญญา" ให้สู้ต่อไปครับ 

วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2562

นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๙: โรงเรียนกมลาไสย ปีการศึกษา ๒๕๖๒ ครั้งที่ ๒

วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ ไปทำหน้าที่อาจารย์นิเทศก์การสอนของนิสิตฝึกสอน ว่าที่ครูวิทยาศาสตร์ ม.ต้น  นิเทศรวดเดียว ๓ คน แบบต่อเนื่อง ผม AAR ว่า การศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ ของนิสิตทั้ง ๓ คนนี้ ก้าวหน้าพัฒนาอย่างยิ่งยวด เกินกว่าที่คาดไว้ในใจมากนัก และที่น่าชื่นใจที่สุด ทั้งสามคน นำเอาข้อความเห็นและข้อเสนอแนะที่เคยเขียนไว้ในบันทึกก่อน ๆ  (ที่นี่ ที่นี่ และที่นี่)

คนที่ ๑

นิสิตสอนเรื่องระบบการลำเลียงของเสียออกจากร่างกาย




  • ผมสะท้อน ณ ขณะนั่งสังเกตการณ์อยู่หลังห้อง ถึงสิ่งที่ตนเองเห็น ดังนี้ว่า
    • เห็นชั้นเรียนที่สนุก เด็กมีความสุข และมีชีวิตชีวามาก ๆ 
    • เห็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ชัดเจน เป็นลำดับขั้น สะท้อนถึง การเตรียมตัวของคุณครูฝึกสอนที่ดีเยี่ยม  ... ผลที่เห็นชัดก็คือ ความมั่นใจของครู ความสนุกของครูผู้สอน หรือผมมักเรียกว่า เห็น "พลัง" ในตัวครู 
    •  เห็นการนำเอาสื่อการสอนที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ  ใช้เอกสารความรู้จากหนังสือของ สสวท. ซึ่งทำไว้ดีมากแล้ว ใช้เพาเวอร์พอยในการสื่อสารคำถามและประเด็นสำคัญ รวมถึง สรุปสาระสำคัญ และใช้คลิปวีดีโอให้เห็นภาพเคลื่อนไหวและเสียง ให้นักเรียนเห็นระบบขับถ่ายได้ชัดเจนสมจริงมาก 
    • เห็นการมีส่วนร่วมของเด็ก ๆ อย่างทั่วถึง  สะท้อนว่า ตลอดเดือนที่ผ่านมา เด็ก ๆ ได้ฝึกการทำงานเป็นทีมแล้วพอสมควร  
  • มีเทคนิคที่น่าสนใจมาก ๒ อย่าง ที่อยากเชียร์ให้นิสิตเขียนแลกเปลี่ยนไว้ในบันทึก  คือ  การใช้บอร์ดเกมในการช่วยสอน และ การใช้นิสิตลับในการสะท้อนผล .... แยบยลและได้ผลมาก


คนที่ ๒ 

นิสิตคนที่ ๒ สอนเรื่อง "เยื่อเลือกผ่าน" กับ "การแพร่" ต่อเนื่องจากครั้งก่อน ๆ ที่เรียนเกี่ยวกับเรื่ององค์ประกอบของเซลล์ไปแล้ว ครั้งนี้คุณครูนิสิตเอาโมเดลองค์ประกอบเซลพืชสัตว์จัดมาให้ดูด้วย ... ผมจำได้ว่า แต่ก่อนไม่เคยได้เรียนแบบนี้ ไม่อย่างนั้นคงชอบชีววิทยาไปแล้ว








เป็นการจัดการเรียนรู้ที่หาดูได้ยาก...

  • เป็นชั้นเรียนที่นักเรียนสนใจและตั้งใจเรียนมาก ๆ  
  • ผมเห็นกิจกรรมและกระบวนการที่สะท้อนถึงการเตรียมตัวที่ดีมากและประสบการณ์การสอน มีการใช้สื่อที่หลากหลายมาก ทั้งโมเดล ทั้งหนังสือเรียนจาก สสวท. ซึ่งมีรูปสวยเข้าใจง่าย และโดยเฉพาะการใช้เพาเวอร์พอยท์สื่อสานการดำเนินกิจกรรมกับนักเรียนอย่างเป็นขั้นตอน โดยเฉพาะการตั้งคำถาม ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มตอบ ผ่านกิจกรรม "บอร์ดโชว์" (แต่ละกลุ่มมีบอร์ด เพื่อเขียนคำตอบแล้วชูขึ้นให้คนกลุ่มอื่น ๆ เห็น) และกิจกรรมสะท้อนผลด้วยการสุ่ม "สายลับ"  .... จะลองเอาไปใช้ในการสอนบ้าง... 
  • เห็นการสอนอย่างเชื่อมโยงกับองค์ความรู้เดิมที่เรียนมาอย่างเป็นธรรมชาติ และซ้ำทวนประโยครอยต่อแห่งการเชื่อมโยงได้ดีมาก  (ครั้งก่อนเรียนเรื่องปฏิริยาระหว่างแป้งกับสารละลายไอโอดีนแล้วว่า จะเกิดอะไร สังเกตอย่างไร  ครั้งนี้เอาความรู้นั้นมาใช้เป็นเครื่องมือในการสังเกตการแพร่ผ่านแผ่นเซลโลเฟน)
  • เด็กนักเรียนให้ความร่วมมือดีมาก การเด็กทั้งห้องมีส่วนร่วมกัน และเป็นบรรยายแห่งการเรียนรู้ที่ไม่อึกกระทึกเกินไป 
  • จุดเด่นที่สุดของการสอนครั้งนี้คือ การออกแบบให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทดลองและสังเกตการแพร่ของผ่านเยื่อเลือกผ่าน ... หากเป็นไปได้ ถ้ามีเวลาเพียงพอ คุ้มค่าต่อการเตรียมการ การเรียนด้วยการทดลองหรือลงมือทำแบบนี้ดีที่สุด 
  • หากจะต้องปรับการสอนนี้ จะมีเพียงจุดเดียวเรื่องการ สรุปผลการทดลอง  ให้เน้นว่า เด็ก ๆ ต้องเป็นผู้ช่วยกันสรุป ก่อนที่ครูจะสรุปตอนท้ายหรือประเมินด้วยคำถามต่อไป ... กรณีที่เด็ก ๆ สรุปไม่ได้ การตั้งคำถามนำหรือสนับสนุนให้เกิดการสรุปเป็นทางเลือกที่สองรองลงมา หากยังไม่สำเร็จ ก็เป็นการสรุปโดยให้เลือกจากตัวเลือก ... เหล่านี้ คุณครูจะต้องพิจารณาเองว่า จะใช้วิธีใดซึ่งขึ้นอยู่กับผู้เรียนโดยแท้ 
คนที่ ๓ 

นิสิตคนที่ ๓ สอนเรื่อง "โมเมนต์ของแรง" ระดับ ม.๓  ... เสียดายที่ไม่ได้อยู่ดูจนจบกระบวนการ เพราะจำเป็นต้องกลับมาสอนตอนช่วงบ่าย ... อย่างไรก็ดี ก็มีคำแนะนำและความชื่นชม เพื่อป้อนกลับให้ภูมิใจและพัฒนาต่อไป ดังนี้ครับ 


นิสิตสอนด้วยสื่อโปรแกรมสำเร็จรูป (แอพพลิเคชั่นบนมือถือ) วางลงบนจอฉายแบบ Visual ซึ่งก็ดูทันสมัยดี ดังภาพ แต่....



  • การสอนเรื่องนี้เตรียมอุปกรณ์เป็นคานจริง ๆ เลยก็ไม่ลำบาก และจะดีที่สุดสำหรับนักเรียน นักเรียนจะได้ร่วมกิจกรรมทดลองการห้อยถุงดินหรือทรายหรือวัสดุต่าง ๆ  ไว้ตรงตำแหน่งต่าง ๆ ของคานได้เลย  แล้วให้นักเรียนคาดเดากันดูว่าจะเลือกอะไรวางตรงที่ตำแหน่งที่กำหนดให้เพื่อให้คานสมดุล  ฯลฯ  
  • สิ่งที่อาจารย์ประทับใจและขอเชียร์ให้ทำต่อไป คือการออกแบบเครื่องมือและสื่อที่ส่งเสริมกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  คือ  มีขั้นตอนชัดเจนว่า ปัญหาคืออะไร  ให้ตั้งสมมติฐาน ให้ทดลองพิสูจน์ แล้วจบด้วยการอภิปรายสรุปผล
  • อาจารย์เห็นการเตรียมตัวที่ดี บุคลิกของใครก็ของใคร ของครูแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน  ดังนั้นการพัฒนาการทักษะการสอนของตนเอง ไม่ได้เริ่มที่ว่าจะต้องทำให้เหมือนใคร แต่ต้องเริ่มว่า ตนเองถนัดและมีบุคลิกแบบใด แล้วใช้จุดเด่นนั้นให้เต็มที่  และแก้ปัญหาจุดที่ยังไม่พอใจ ....
  • ปัจจัยอยู่ที่ ความแหลมคมในการวิเคราะห์ผู้เรียนและตนเอง การออกแบบกิจกรรมการสอนที่เหมาะต่อผู้เรียนและหัวเรื่องนั้น และความมั่นใจในตนเองของครู  
  • ความมั่นใจของครู จะเกิดขึ้นได้เมื่อ ครูภูมิใจในตนเอง ครูจะภูมิใจเรื่องใดก็ต่อเมื่อครูทำได้ คิดได้ และสอนได้ด้วยตนเองจริง ๆ   ทั้งหมดนี้ ต้องมาจากการฝึกฝน ลองเอาตนลองทำก่อน 
ขอให้กำลังใจ นิสิตทั้ง ๓ คนครับ เดือนหน้า อาจารย์จะมาดูความก้าวหน้าด้านการวิจัยนะครับ 


วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562

นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๘: โรงเรียนกมลาไสย ปีการศึกษา ๒๕๖๒ คนที่ ๓

นิสิตคนที่ ๓ ออกแบบการสอนเรื่อง "แรงและการเคลื่อนที่" เธอเตรียมการสอนอย่างดี มีสื่อและรูปภาพรูปแบบการเคลื่อนที่ต่าง ๆ จำนวนมากที่ถูกเตรียมไว้ สำหรับตั้งคำถามตามใบกิจกรรมว่า การเคลื่อนที่ในรูปแบบการเคลื่อนที่ชนิดใด ...

ความรู้พื้นฐานและทักษะที่จำเป็นก่อนจะสอนเรื่องการเคลื่อนที่ คือ ปริมาณทางฟิสิกส์ (โดยเฉพาะเวกเตอร์) ความรู้คณิตศาสตร์เกี่ยวกับระบบพิกัดฉาก และกรอบอ้างอิง ถ้าไม่ได้สอนให้เข้าใจความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้  การสอนจะกลายเป็นการบอกความรู้ทันที




ข้อแนะนำสำหรับนิสิตในการสอนเรื่องการเคลื่อนที่ มีดังนี้


  • โปรดระลึกในใจเสมอว่า บทบาทของครูวิทยาศาสตร์ คือ ปลูกฝัง "จิตวิทยาศาสตร์" และ ฝึกฝนทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน   ถ้าเราทำสำเร็จจริง เมื่อนักเรียนพบกับสถานการณ์ปัญหา พวกเขาจะใช้วิธีการและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ศึกษาและแก้ปัญหานั้นทันที 
  • ให้เน้นสอนจากความรู้เดิมของนักเรียน และถ้าเป็นไปได้ให้สอนแบบอุปนัย (เคยเสนอภาพไว้ที่นี่ครับ) เช่น ตั้งคำถามว่า 
    • รู้จักการเคลื่อนที่อะไรบ้างในชีวิตประจำวันของเรา ... ระดมสมองของนักเรียนทั้งชั้น  คำตอบที่ได้ ไม่มีผิดถูก เช่น การเคลื่อนที่ของรถยนต์ รถไฟ ตัวหนอน เครื่องบิน คนเดิน ฯลฯ 
    • ตั้งคำถามว่า ถ้าให้แบ่งการเคลื่อนที่ออกเป็นหมวด ๆ  หรือประเภท แล้วให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม ระดมสมองกัน  แล้วนำเสนอสั้น ๆ บอกว่า ใช้เกณฑ์อะไร  
    • ครูบรรยายสรุปตอนท้าย ประกอบการอธิบายด้วยภาพหรือถ้าจะดีคือคลิปวีดีโอหรือสาธิต ....  
    • ครูพานักเรียนสะท้อนการเรียนรู้ ด้วยการตั้งคำถาม  ...  วันนี้ได้ความรู้ใหม่อะไรบ้าง สิ่งที่รู้มีประโยชน์หรือไม่อย่างไร ฯลฯ 
  • ความยากของการสอนลักษณะนี้ ดีที่ทุกคนมีส่วนร่วม เรียกได้ว่าเป็นแบบ Active Learning  แต่ยากที่ครูจะต้องเรียนรู้ให้ลึกถึงความคิดรวบยอด ค้นหาและจัดเตรียมสื่อที่สามารถสื่อของจริงได้มากที่สุด
  • เราเป็นครูวิทยาศาสตร์ในยุคที่วิทยาศาสตร์เจริญมากแล้ว  จงสอนวิทยาศาสตร์อย่างทันสมัย .... ไม่ใช่สอนเหมือน ๕๐ ปีที่แล้ว .... ยกเว้นเรื่องทักษะกระบวนการฯ 
  • จงสอนไปให้ถึง "การนำไปใช้"  ให้ไปศึกษา PKA Model  ที่อาจารย์เคยเขียนไว้ที่นี่
  • จงให้เวลาและความสำคัญกับการสะท้อนการเรียนรู้เสมอ 
สู้ ๆ ครับ เดือนหน้า


นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๘: โรงเรียนกมลาไสย ปีการศึกษา ๒๕๖๒ คนที่ ๒

นิสิตคนที่ ๒ ของการนิเทศวันนี้ ออกแบบการสอนเรื่อง "ระบบหมุนเวียนเลือด"  ผมพบว่าหนังสือที่ สสวท. ทำไว้นั้นดีมาก ๆ  แล้ว ทั้งด้านการอธิบายสาระสำคัญ กิจกรรม และแบบนำฝึก และนักเรียนก็มีหนังสือแบบนี้เพียงพอต่อการเรียนทุกคนได้อย่างสบาย จึงเป็นการง่ายสำหรับครูมากขึ้นสำหรับการออกแบบให้ง่าย โดยใช้สื่อที่มีอยู่แล้วเหล่านั้น

นิสิตออกแบบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) ที่น่าจะเรียกว่า แบบ Jigsaw (จิ๊กซอว์)  ๓ กลุ่ม โดยเตรียมเนื้อหาและเอกสารขึ้น ๓ ชุด ๆ ละ ๑ หัวเรื่อง แบ่งนักเรียนเป็น ๓ กลุ่มด้วยการนับ ให้แต่ละคนศึกษาตามเอกสารที่กำหนดให้ แล้วกลับไปอธิบายให้เพื่อนฟังในกลุ่ม โดยใช้เทคนิคให้ช่วยกันทำแผนผังความคิด (Mind Mapping) ลงในกระดาษปลู๊ฟ ก่อนจะจบด้วยการนำเสนอ


  • ชอบมากที่สุดคือ  "พลัง" พลังในการสอนที่พุ่งออกมาจากภายใน (เหมือนผมจะเขียนเวอร์ไป แต่ผมสัมผัสได้) ผ่านออกมาทางท่วงทำนองพูด น้ำเสียงที่ดังฟังชัด ท่าทางประกอบการพูด ยกไม้ยกมือเป็นจังหวะกับเสียงสูงต่ำ ดัง ค่อย .... เป็นพลังที่สามารถดึงึความสนใจให้นักเรียนตั้งใจฟัง และมีส่วนร่วมกับเธอจนจบชั้นเรียนทีเดียว  



  •  "ทำไมต้องใช้กระดาษปลู๊ฟ"  ทำไมไม่ใช้กระดาษ A4 นิสิตต้องตอบคำถามนี้ให้ได้  กระดาษปลู๊ฟมีขนาดใหญ่ จึงมีกลไกในตัวในการสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมสมองของคนในกลุ่มได้หลายคน
  • อย่างไรก็ดี พื้นที่กระดาษแม้จะมีขนาดใหญ่ แต่ขนาดรูปหรือตัวอักษรต้องใหญ่ไปด้วย ทำให้สัดส่วนพื้นที่ไม่ต่างจาก A4 มากนัก ดังนั้น หน้าที่อีกอย่างของมันคือ การนำเสนอให้คนอื่นรู้ได้ชัด แต่ก็ต้องคัดเอาเฉพาะคำสำคัญมาแสดง  และต้องการผู้อธิบาย... กระดาษปลู๊ฟ จึงเอื้อต่อการอภิปรายด้วย 
  • ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการการแลกเปลี่ยนหรือระดมสมอง และไม่ต้องการให้อภิปรายกัน กระดาษปลู๊ฟจะไม่ได้ทำหน้าที่ของมันเท่าที่ควร


  • การออกแบบการสอนที่มีกิจกรรมเคลื่อนไหว ย่อมสร้างความสนุกได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่ฝากไว้คิดและพิจารณาคือ ...
    • จงรักษาสมดุลระหว่างความสุขจากการเรียนรู้และความสุขจากความสนุกสนาน 
    • จงรักษาสมดุลระหว่างความท้าทาย แข่งขัน กับการแบ่งปัน ช่วยเหลือ ทำงานกันเป็นทีม 
  • ความจริง องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พัฒนามามากแล้ว หากเป๋น เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว ครูวิทยาศาสตร์จะต้องพยายามมากกว่านี้ หาสื่อ ออกแบบกิจกรรม นำวิธีต่าง ๆ มาอธิบาย ...  แต่สมัยนี้ ครูวิทยาศาสตร์ที่รู้สึกว่าตนเองต้องเตรียมมาก สอนยาก รู้สึกว่าลำบากมาก  ผมมีความเห็นว่า ครูวิทยาศาสตร์เหล่านั้นสอนผิดวิธี ไม่ได้เอาสิ่งที่พัฒนามาแล้วอย่างดีมาใช้  ผลผลิตทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์คน ก็คือเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีไอซีที ที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นไปแล้ว  ... เช่น ถ้าจะสอนเรื่องระบบหมุนเวียนเลือด ก็แค่ใช้คลิปวีดีโอต่าง ๆ  ที่มีให้เลือกเต็มยูทูป  

  • สิ่งที่ครูวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องทำได้ก็คือ สืบค้น เลือกสื่อที่เหมาะสม นำมาจัดการ ให้อยู่ในรูปที่เหมาะต่อนักเรียนไทยในแต่ละชั้นที่เราสอนที่สุด  เช่น ดาวน์โหลด ตัดต่อ ใส่เสียงบรรยาย ฯลฯ หรือแม้แต่ใช้ในการใช้ประกอบการอธิบายก็ได้  .... (ปัญหาคือภาษาอังกฤษ แต่จำเป็น เป็นเรื่องสำคัญที่ครูวิทย์จะต้องใช้ภาษาอังกฤษได้)
พยายามจะเขียนข้อสะท้อนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ให้นิสิตจำได้ว่าเราเคยคุยอะไรกัน จะได้มาดูกันในการนิเทศครั้งที่ ๒  


  • ครูวิทยาศาสตร์ คือ ครูผู้มุ่งปลูกฝังจิตวิทยาศาสตร์และฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน 
  • การออกแบบกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน ต้องแม่นยำไปเชื่อมโยงไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังได้  ...  ไม่ใช่หวังเพียงความ "สนใจ" แต่ต้องทำให้นักเรียนเกิดความ "สงสัย" ใคร่อยากรู้คำตอบด้วย 
  • รักษาสมดุลระหว่างความสุขจากการเรียนรู้และความสุขจากความสนุกสนาน  
  • ให้ความสำคัญและเวลากับการสะท้อนการเรียนรู้ของนักเรียน (Learning Reflection)
  • สอนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ควรจะง่าย ทันสมัย และไปถึงขั้นนำไปใช้  ... ส่วนการสอนให้เกิดทักษะ ต้องเป็นภาระของครูที่ต้องฝึกฝนตนเองมาก ๆ 
เชียร์ครับ สู้ต่อไป เพื่อประเทศไทยของเรา 


วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562

นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๘: โรงเรียนกมลาไสย ปีการศึกษา ๒๕๖๒ คนที่ ๑

วันนี้ (๒๕ มิ.ย. ๖๒) ไปทำหน้าที่อาจารย์นิเทศก์ ลูกศิษย์ที่จะเป็นครูวิทยาศาสตร์ต่อไป ๓ คน ที่กำลังฝึกสอนอยู่ที่โรงเรียนกมลาไสย ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒ ... รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำหน้าที่บทบาทอาจารย์เช่นนี้... เขี่ยนบันทึกนี้เพื่อเก็บความทรงจำอันดีนั้น และแบ่งปันประสบการณ์ของคนเป็นอาจารย์นิเทศก์  แต่ที่สำคัญที่สุดคือเพื่อชี้บอกทิศทางสะท้อนการพัฒนาตนเองให้ลูกศิษย์เป็นครูวิทยาศาสตร์ที่ดีต่อไป

คนที่ ๑ ความหนาแน่น


นิสิตเตรียมการสอนตามหลักสูตรแกนกลางฯ  หน่วยการเรียนรู้ "ความหนาแน่น"  ความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับนักเรียน ได้แก่
  • มวล หน่วยของมวล และการวัดหามวล 
  • สามารถอ่านค่ามวลจากตาช่างเป็น 
  • ปริมาตร หน่วยของปริมาตร และการวัดหาปริมาตรได้ 
  • สามารถคำนวณหาปริมาตร
เหล่านี้อาจจะรู้และสามารถทำได้มาก่อนจะเรียนก็ได้ หรือ จะกำหนดเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังในหน่วยนี้ก็ได้  ... แต่ต้องมั่นใจว่า เด็ก ทำทั้ง ๔ ข้อนี้ได้ และ สุดท้าย ต้อง

  • อธิบายได้ว่า ความหนาแน่นคืออะไร 
  • สามารถคำนวณหาความหนาแน่นได้ 
  • ยกตัวอย่างการนำองค์ความรู้เรื่องความหนาแน่นไปใช้อธิบายสิ่งที่เกี่ยวข้องได้ เช่น สามารถอภิปรายได้ว่า ความหนาแน่นมีผลต่อการจมหรือลอยอย่างไร ฯลฯ 



  • การศึกษาไทยมีลักษณะเฉพาะของเราเองหลายอย่าง ที่ไม่ใช่ใครจะลุกขึ้นมาปฏิรูปจัดให้เป็นอย่างนี้อย่างนั้นได้ตามใจ  
  • ชั้นเรียนขนาดใหญ่ในห้องเลคเชอร์แบบที่เห็นก็เป็นรูปแบบการเรียนรู้ของทั้งครูและนักเรียนมานานปี 
  • ดังนั้นครูวิทยาศาสตร์ไทย จะต้องใช้พลังและสติปัญญามากกว่า เพื่อให้การศึกษาได้ผลเท่ากับชั้นเรียนสากล  


  • รู้สึกภูมิใจ นิสิตเตรียมตัวอย่างดี ตั้งใจ มุ่งมั่น และทำได้ดีมากสำหรับการสอนต่อหน้าอาจารย์นิเทศก์ครั้งแรก 
  • สิ่งสำคัญที่สุด สำหรับนักเรียนคือ "เรียนอย่างมีความสุข สนุกที่ได้เรียน" สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับครูก็ไม่ต่างกัน "สอนอย่างมีความสุข สนุกที่ได้สอน"  (คำว่า "สอน" ภูมิปัญญาไทย ไม่ใช่เพียง "Teaching")


  • กิจกรรมที่ นิสิตคนที่หนึ่งออกแบบ มีทั้งแบบ อธิบายบอก สาธิต และทำการทดลอง ... การเรียนวิทยาศาสตร์ที่ได้ทดลอง ย่อมสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง 
  • ชอบมาก ๆ คือวิธีการ การเอาแตงกวาตัดส่วน กับก้อนหิน มาเป็นวัตถุตัวแปรต้น ให้นักเรียนชั่งมวล แล้วใช้ถ้วยยูเรก้า แทนที่น้ำหาปริมาตร  (ตามหลักการแทนที่น้ำ หลักอาคีมีดิส)


  • การทดลองนี้ไม่มีอัตรายใด ๆ  สามารถทำได้ง่าย ๆ  นั่งกันเป็นกลุ่มหันหน้าหากัน สามารถแลกเปลี่ยนระดมสมองกันได้เลย ....  พื้นห้องสะอาดมาก 



เป็นนักเรียนชั้นเรียนพิเศษ Giffted (มีพรสวรรค์) จำนวนประมาณ ๕๐ คน ห้องเรียนมีแอร์คอนดิชั่น เย็นสบายน่าเรียน พื้นห้องทำความสะอาดอย่างดี นักเรียนทุกคนจะต้องถอดรองเท้า หิ้วไปไว้หน้าห้อง ต่อไปนี้เป็น ข้อคอมเมนต์ สำหรับนิสิตคนที่ ๑

  • ความมุ่งหมายของครูวิทยาศาสตร์ คือ ปลูกฝัง "จิตวิทยาศาสตร์" และ ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  ดังนั้น ทุกกิจกรรมการเรียนรู้ควรจะออกแบบและคำนึงถึงเรื่องนี้ ให้นักเรียนได้ฝึกอย่างต่อเนื่อง บ่อย ซ้ำ ย้ำ ทวน (ไม่ใช่บอก)
  • หากเป็นไปได้ให้เชื่อมโยงมาสู่สิ่งใกล้ตัวนักเรียน นักเรียนระลึกได้ รู้จักในชีวิตจริง ๆ ให้ได้ เช่น  เมื่อกำลังคุยถึงหน่วยของปริมาตร ลูกบาศก์เซนติเมตร ควรจะยกตัวอย่าง น้ำดื่มที่ซื้อกันอยู่ มีปริมาตรกี่ลูกบาศก์เซนติเมตร เป็นต้น 
  • ในกรณีของเด็กที่ยังไม่มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากนัก เช่น เด็ก ม.๑ ฯลฯ  ควรทำใบกิจกรรม หรือใบงาน ให้ชัดเจนเป็นข้อ ๆ ว่าดำเนินการทดลองอย่างไร  เหมือนสิ่งที่เขียนไว้ในคู่มือปฏิบัติการ  เพื่อฝึกทักษะเฉพาะที่ละอย่าง ๆ ไป 
  • ให้ความสำคัญกับการสะท้อนการเรียนรู้เสมอ 
  • สรุปให้แม่นยำ สู่ ความคิดรวบยอด สะท้อนผลการประเมินของตน เพื่อ Feedback ไปยังเด็ก 
อย่างไรก็ดี วันนี้ค่อนข้างพอใจยิ่งแล้ว  .... สู้ต่อไปครับ 




วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2562

นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๗: โรงเรียนยางตลาดวิทยาคาร ปีการศึกษา ๒๕๖๒ คนที่ ๒

คนที่ ๒ ของวันนี้ (๑๙ มิ.ย. ๒๕๖๒) จัดการเรียนรู้เรื่อง สารบริสุทธิ์และสารผสม ELO (Expected Learning Outcome) คือ อยากจะให้เด็กนักเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างการเดือดของสารบริสุทธิ์และสารไม่บริสุทธิ์ และสามารถทดลองหาจุดเดือดของสารทั้งสองได้  โดยใช้น้ำกลั่น (สารบริสุทธิ์) และน้ำกลั่นผสมเกลือแกง (NaCl) เป็นตัวอย่างของสารละลาย (สารไม่บริสุทธิ์)  ซึ่งถ้านักเรียนเข้าใจ จะสามารถอธิบายกราฟความสัมพันธ์ของอุณหภูมิของสารในการต้มด้านล่างนี้ได้ 

อ้างอิง จากเว็บไซต์ http://nakhamwit.ac.th/pingpong_web/Matter.htm

หากเป็นไปได้ การจัดการเรียนรู้เพื่อฝึกการเป็นครูวิทยาศาสตร์ เด็ก ๆ ควรจะได้ทดลองแบบการจัดการเรียนการสอนนี้  โดยธรรมชาติบรรยากาศจะคึกคักสนุกดี 





ได้สะท้อนป้อนกลับ (Feedback) เพื่อการพัฒนาสำหรับลูกศิษย์ชื่อแปลก ๖ ข้อ ได้แก่ 
  • ครูวิทยาศาสตร์ คือ ครูผู้มุ่งปลูกฝังจิตวิทยาศาสตร์ และฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้ศิษย์ ...จงออกแบบการสอนให้ครบกระบวนการเสมอ คำอธิบายจะคล้ายกับคอมเมนต์สำหรับนิสิตคนที่ ๑ (ที่นี่)
  • การออกแบบการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนที่ยังไม่มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากนัก อาจต้องทำเป็นคู่มือหรือใบงาน แสดงขั้นตอนการปฏิบัติที่ละขั้น หรือไม่งั้นก็ต้องพาทำทีละสเต็ป  (ความปลอดภัยสำคัญที่สุด)
  • วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งสากล ไม่เหมือนศึกษาศาสตร์ที่ว่าเรื่องคนซึ่งต่างไปในแต่ละวัฒนธรรมหรือสังคม  การฝึกทักษะทางวิทยาศาสตร์จึงควรมีมาตรฐานสากล เริ่มจากอุปกรณ์และขั้นตอนพื้นฐานจำเป็น ๆ ที่เด็กควรรู้และทำเป็น  
  • "จัดกำลังคน"  ถ้าเป็นงานกลุ่ม นักเรียนควรจะได้นั่งเป็นกลุ่ม และแบ่งหน้าที่กันชัด การจัดการอาจง่ายขึ้น 
  • การออกแบบการทดลองและกิจกรรมนำเรียนรู้ ต้องนำไปสู่ ELO  ให้ได้ 
สิ่งสำคัญของทุกกิจกรรมการสอนคือ ต้องให้เวลา แบ่งเวลา ให้นักเรียนได้ ร่วมกันสรุปผลการทดลอง และสะท้อนการเรียนรู้  (Learning Reflection) ก่อนจะสรุปสารสำคัญแม่น ๆ 

ก่อนจะจบและจากกันวันนี้ เรามีข้อตกลงร่วมกัน เช่นเดียวกับที่บอกไปกับนิสิตคนที่ ๑  (ที่นี่
ลาทีสำหรับวันนี้ สวัสดีครับ 

นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๖: โรงเรียนยางตลาดวิทยาคาร ปีการศึกษา ๒๕๖๒ คนที่ ๑

วันที่ ๑๙ มิ.ย. ๖๒ ปีการศึกษา ๑/๒๕๖๒ มาทำหน้าที่อาจารย์นิเทศก์ เวียนมาถึงนิสิตรุ่นที่ ๒ ของบทบาทการเป็นอาจารย์กรรมการบริหารหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ...  ถ้านิสิตรุ่นปัจจุบัน กลับไปดูข้อคอมเมนต์ที่รุ่นพี่ได้รับในปีที่แล้ว (เช่น คลิกที่นี่ หรือคลิกที่นี่) จะได้ข้อความเห็นคอมเมนต์คล้าย ๆ กัน ... นี่สิที่เขาเปรียบครูเหมือนเรือจ้าง หลายอย่างจะคล้าย ๆ กัน ต่างกันตรงที่ปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับศิษย์

นิสิตคนแรก กำลังจะสอนเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ วัตถุประสงค์การเรียนรู้คือรู้จักความเร็ว และสามารถคำนวณหาความเร็วของวัตถุที่ตกอย่างอิสระได้ โดยใช้เครื่องเคาะสัญญาณและกระดาษคาร์บอน  นิสิตออกแบบการสอนแบบสาธิต ๑ รอบ แล้วให้ตัวแทนนักเรียนแต่ละกลุ่มออกมาทดลอง  แล้วให้นำใบกระดาษคาร์บอน ไปใช้ในการทำใบงาน




หลังจากเลิกคลาส อาจารย์นิเทศก์กับลูกศิษย์นั่งคุยแลกเปลี่ยนกันนานเกือบชั่วโมง สรุปตอนท้ายได้ทั้งข้อคอมเมนท์ ความเห็น และข้อตกลงระหว่างเรา สำหรับก้าวเดินต่อไปในการพัฒนา "ความเป็นครูวิทยาศาสตร์"

ความเห็น (อันเป็นจุดเด่นของนิสิตคนที่ ๑)

เราเริ่มคุยด้วยการตั้งคำถามว่า หากให้คะแนนตัวเองเต็ม ๕ การจัดการเรียนรู้วันนี้ เรามีกี่คะแนน นิสิตคิดว่าตนเองน่าจะได้ ๓ คะแนน ๒ คะแนนที่หายไปคือ การสื่อสารที่ยั่งไม่พอใจในความแม่นยำ การควบคุมชั้นเรียน (ผมไม่ชอบคำนี้ ควบคุมชั้นเรียน ขอเปลี่ยนเป็นการสร้างองค์ประกอบในการเรียนจะดีกว่า) และ การดำเนินการตามลำดับขั้นตอนที่กำหนด

สำหรับผม นิสิต "เหมือนครู" มากแล้ว ทั้งบุคลิก ท่าทาง การพูดจา จังหวะในการพูด การปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน ปัญหามีเพียงว่า นิสิตไปเหมือนครูรุ่นใหญ่ ที่มักใช้การควบคุมด้วยอำนาจ ไม่เหมาะกับครูรุ่นเยาว์แบบครูฝึกสอน  จึงแนะนำให้เรียนรู้เกี่ยวกับ ความดี ๖ ระดับ ของลอเรนซ์ โคนเบิร์ค ดังภาพ


ครูเพื่อศิษย์ จะคิดทำเพื่อนำเด็กไปให้ถึงความดีระดับ ๖

ข้อคอมเมนต์ (เพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นครูวิทยาศาสตร์)

ต่อไปนี้คือข้อความเห็น ๖ ประการ ที่เราสรุปร่วมกันหลังจากคุยแลกเปลี่ยนกันหลังคลาส  แต่ละข้อนิสิตจะรู้ความหมายนั้น ๆ ดี โดยไม่ต้องอธิบายอันใดอีก



  • ครูวิทยาศาสตร์ คือ ครูผู้ปลูกฝังจิตวิทยาศาสตร์ และฝึกฝนทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้กับศิษย์  (ให้อ่านที่บันทึกนี้)
    • ข้อนี้บอกว่า ต่อไป หากจะสอนอะไร บทเรียนใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ การฝึกให้นักเรียนคิดและทำตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  มีการตั้งปัญหา ตั้งสมมติฐาน พิสูจน์หรือทดลอง และอภิปรายสรุปผล 
    • และบอกว่า ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทุกครั้ง สิ่งที่ต้องพิจาณาคือ นักเรียนจะได้ฝึกทักษะบวนการทางวิทยาศาสตร์อันไหน 
    • ส่วนเรื่องวัดและประเมินอย่างไร ต้องใช้กระบวนการวิจัยในชั้นเรียน  (Action Research) ประกอบ 
  • ใส่ใจในรายละเอียดการสร้างสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่เอื้อต่อกิจกรรมการเรียนรู้ที่ออกแบบ  การออกแบบกิจกรรมต้องพิจารณารอบด้านรวมถึงกายภาพด้วย เช่น หากจะจัดการเรียนการสอนเป็นกลุ่ม ต้องจัดให้นักเรียนนั่งเป็นกลุ่มจริง ๆ หันหน้าเข้าหากัน 
  • สร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ อันสามารถนำไปสู่กติกา หรือวัฒนธรรมการเรียนรู้ของครูและของชั้นเรียน 
  • ใช้กระบวนการกลุ่ม ฝึกฝนการทำงานเป็นทีมไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดการเรียนรู้เป็นกลุ่ม 
  • การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ต้องไปให้ถึง Expected Learning Outcome  คือผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง 
  • ใช้จิตวิทยาเชิงบวก "ไม่ใช่ห้องเรียนแห่งการควบคุม"  ไปให้ถึงความดีระดับ ๖ 


ข้อตกลงร่วมกัน

ข้อตกลง (แกมบังคับ) ให้นิสิตที่อยู่ในสายนิเทศในปีการศึกษานี้ มี ๒ ประการ ได้แก่

  • เราจะทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ หรือ Action Research กันทุกคน ... ไม่ใช่ทำเชิง R&D หรือ Research and Development 
  • เราจะทำวิจัยเกี่ยวกับ การปลูกฝังจิตวิทยาศาสตร์และพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน....... 
  • ให้นิสิตเขียนบันทึกสะท้อนการเรียนรู้ในการฝึกประสบการณ์สอนของตนเอง สัปดาห์ละ ๑ บันทึก ในเว็บไซต์ Gotoknow.org 
เขียนกำหนดไว้ชัดเจนยิ่งครับ ... เหลือแต่เพียงลงมือทำ ... ลุย